บาลีวันละคำ

ภุชงค์ (บาลีวันละคำ 3,803)

ภุชงค์

ผู้ไม่ไปตรงๆ แต่ไปด้วยขนด

อ่านว่า พุ-ชง

“ภุชงค์” เขียนแบบบาลีเป็น “ภุชงฺค” อ่านว่า พุ-ชัง-คะ รากศัพท์มาจาก ภุช (ขนด) + คมฺ (ธาตุ = ไป) + กฺวิ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ศัพท์หน้าแล้วแปลงเป็น งฺ (ภุช > ภุชํ > ภุชงฺ) หรืออีกนัยหนึ่ง ซ้อนพยัญชนะที่สุดวรรคของพยัญชนะต้นธาตุ (พยัญชนะต้นธาตุคือ ค พยัญชนะที่สุดวรรคของ ค คือ ง : ก ข ค ฆ ง = ภุช + งฺ + คมฺ), ลบที่สุดธาตุและ กฺวิ

: ภุช + คมฺ = ภุชคมฺ + กฺวิ = ภุชคมกฺวิ > ภุชํคมกฺวิ > ภุชงฺคมกฺวิ > (ภุช + งฺ + คมฺ = ) ภุชงฺคม > ภุชงฺค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปด้วยขนด” (คือเลื้อยไป) หรือ “ผู้เลื้อยคดไปคดมา” หมายถึง งู (snake)

พึงทราบว่า นอกจากได้รูปเป็น “ภุชงฺค” แล้ว ศัพท์นี้ยังได้รูปเป็น “ภุชค” และ “ภุชงฺคม” อีกด้วย

เป็น “ภุชค” (พุ-ชะ-คะ) เพราะลบที่สุดธาตุและ กฺวิ

: ภุช + คมฺ = ภุชคมฺ + กฺวิ = ภุชคมกฺวิ > ภุชคม > ภุชค

เป็น “ภุชงฺคม” (พุ-ชัง-คะ-มะ) เพราะลบ กฺวิ แต่ไม่ลบที่สุดธาตุ

: ภุช + คมฺ = ภุชคมฺ + กฺวิ = ภุชคมกฺวิ > ภุชํคมกฺวิ > ภุชงฺคมกฺวิ > ภุชงฺคม

“ภุชค” “ภุชงฺค” และ “ภุชงฺคม” แปลเหมือนกันและหมายถึง งู เหมือนกัน

ในสันสกฤต มีศัพท์ตรงกับบาลีทั้ง 3 ศัพท์

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(1) ภุชค : (คำนาม) งู; a snake.

(2) ภุชงุค : (คำนาม) ภุชงค์, งู; a snake.

(3) ภุชงฺคม : (คำนาม) งู; a snake.

ในภาษาไทย ใช้เป็น “ภุชคะ” “ภุชงค์” และ “ภุชงคมะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ภุชคะ, ภุชงค์, ภุชงคมะ : (คำนาม) งู, นาค. (ป., ส.).”

เป็นอันว่า ในภาษาไทย ทั้ง 3 คำนี้ นอกจากหมายถึง งู แล้ว ยังหมายถึง นาค ด้วย

ขยายความ :

ในคัมภีร์มีกล่าวถึง งู และใช้ศัพท์ว่า “ภุชค” “ภุชงฺค” และ “ภุชงฺคม” ไว้หลายแห่ง ขอยกมาแสดงเพื่อเจริญปัญญาแห่งหนึ่ง ดังนี้ –

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า –

…………..

ขตฺติโย โข มหาราช

ทหโรติ น อุญฺญาตพฺโพ

ทหโรติ น ปริโภตพฺโพ

อุรโค โข มหาราช …

อคฺคิ โข มหาราช …

ภิกฺขุ โข มหาราช …

ดูก่อนมหาบพิตร

กษัตริย์ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังทรงพระเยาว์

งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าตัวเล็ก

ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย

ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังหนุ่ม

…………..

แล้วตรัสสืบไปถึงเดชของกษัตริย์ งู ไฟ และภิกษุ ขอยกมาเฉพาะที่ตรัสถึงเดชของงู ดังนี้ –

…………..

คาเม วา ยทิ วารญฺเญ

ยตฺถ ปสฺเส ภุชงฺคมํ

ทหโรติ นาวชาเนยฺย

น นํ ปริภเว นโร.

จะเป็นที่บ้านหรือที่ป่าก็ตาม

นรชนเห็นงูเข้าไม่ว่าที่ไหน

ไม่พึงดูหมิ่นว่าตัวเล็ก

ไม่พึงดูถูกว่าตัวน้อย

อุจฺจาวเจหิ วณฺเณหิ

อุรโค จรติ เตชสี

โส อาสชฺช ฑํเส พาลํ

นรํ นาริญฺจ เอกทา.

ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ไรๆ

งูเป็นสัตว์มีเดช (คือมีพิษ)

ชายหญิงพลาดเผลอเข้าเมื่อไร

จะถูกงูนั้นฉกกัดเอาได้

ตสฺมา ตํ ปริวชฺเชยฺย

รกฺขํ ชีวิตมตฺตโน.

เพราะฉะนั้น ผู้รักตัวกลัวตาย

พึงหลบหลีกงูเสียให้พ้น

ที่มา: ทหรสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 325-326

…………..

ใน “พุทธชยมังคลอัฏฐกคาถา” หรือคาถาพาหุงบทที่ 7 มีคำว่า “ภุชค” ใช้หมายถึง นาค ดังข้อความเต็มทั้งบทว่าดังนี้ –

นนฺโทปนนฺทภุชคํ วิพุธํ มหิทฺธึ

ปุตฺเตน เถรภุชเคน ทมาปยนฺโต

อิทฺธูปเทสวิธินา ชิตวา มุนินฺโท

ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ.

พญานาคชื่อนันโทนันทะ ผู้มีความรู้ผิด มีฤทธิ์มาก

พระจอมมุนีทรงมีพุทธบัญชาให้พระโมคคัลานะพุทธโอรส

ไปปราบด้วยวิธีแสดงฤทธิ์ที่เหนือกว่า

ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

(สำนวนแปลของอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก จากหนังสือ คาถาพาหุง)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนฉลาด ทำพิษงูให้กลายเป็นเงิน

: คนเขลา ทำเงินให้กลายเป็นงูพิษ

—————————–

ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (3,803)

10-11-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *