บัณรสี (บาลีวันละคำ 3,801)
บัณรสี
วันเดือนเพ็ญหรือวันเดือนดับ
“บัณรสี” บาลีเป็น “ปณฺณรสี” อ่านว่า ปัน-นะ-ระ-สี รากศัพท์มาจาก ปณฺณรส + อี ปัจจัย
(๑) “ปณฺณรส”
อ่านว่า ปัน-นะ-ระ-สะ รูปคำเดิมมาจาก ปญฺจ + ทส
“ปญฺจ” อ่านว่า ปัน-จะ เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “สังขยา” คือคำเรียกจำนวนนับ แปลว่า ห้า (จำนวน 5)
“ทส” อ่านว่า ทะ-สะ เป็นศัพท์สังขยาเช่นเดียวกัน แปลว่า สิบ (จำนวน 10)
ปญฺจ + ทส = ปญฺจทส (ปัน-จะ-ทะ-สะ) แปลว่า สิบห้า (จำนวน 15)
“ปญฺจทส” แปลงรูปเป็น “ปณฺณรส” อ่านว่า ปัน-นะ-ระ-สะ เพื่อความสละสลวยหรือความคล่องปากในเวลาเปล่งเสียง อาจกล่าวได้ว่า “ปญฺจทส” นั่นเองเมื่อพูดคล่องปากเข้า เสียงเพี้ยนไปเป็น ปัน-นะ-ระ-สะ แล้วเลยสะกดเป็น “ปณฺณรส”
เพราะฉะนั้น จำนวน 15 ในภาษาบาลี พูดว่า “ปญฺจทส” ก็มี “ปณฺณรส” ก็มี ใช้ได้ทั้ง 2 คำ ในที่นี้ใช้เป็น “ปณฺณรส”
(๒) ปณฺณรส + อี ปัจจัยในปูรณตัทธิต
“ตัทธิต” อ่านว่า ตัด-ทิด เป็นวิธีสร้างคำชนิดหนึ่งในภาษาบาลี ด้วยการลงปัจจัยที่มีความหมายแทนศัพท์
“ปูรณตัทธิต” เป็นตัทธิตประเภทหนึ่ง ลงปัจจัยมีความหมายแทนศัพท์ว่า “ปูรณ” (ปู-ระ-นะ) ซึ่งแปลว่า “เต็ม”
ปณฺณรส (สิบห้า) + อี (ปูรณ = เต็ม) = ปณฺณรสี (ปัน-นะ-ระ-สี) แปลว่า “สิบห้าเต็ม” หรือ “เต็มสิบห้า” หมายถึง “ลำดับที่สิบห้า”
“ปณฺณรสี” เป็นคำขยายคำว่า “ติถี” ซึ่งหมายถึง วันตามจันทรคติ (a lunar day) คือขึ้น-แรม
ดังนั้น “ปณฺณรสี” จึงแปลว่า “วันที่สิบห้า” พูดตามจันทรคิว่า “สิบห้าค่ำ” ซึ่งอาจเป็น ขึ้น 15 ค่ำ หรือ แรม 15 ค่ำ ก็ได้
ถ้าต้องการระบุว่า “ขึ้น 15 ค่ำ” ก็ใช้คำขยายว่า “สุกฺกปกฺข” (สุก-กะ-ปัก-ขะ) แปลว่า “ฝ่ายขาว” หรือ “ฝ่ายสว่าง” หมายถึง “ข้างขึ้น” ใช้ในภาษาไทยว่า “ศุกลปักษ์” (สุก-กะ-ละ-ปัก)
“สุกฺกปกฺเข ปณฺณรสี” = “วันที่สิบห้าข้างขึ้น” > ขึ้น 15 ค่ำ
ถ้าต้องการระบุว่า “แรม 15 ค่ำ” ก็ใช้คำขยายว่า “กาฬปกฺข” (กา-ละ-ปัก-ขะ) แปลว่า “ฝ่ายดำ” หรือ “ฝ่ายมืด” หมายถึง “ข้างแรม” ใช้ในภาษาไทยว่า “กาฬปักษ์” (กา-ละ-ปัก)
“กาฬปกฺเข ปณฺณรสี” = “วันที่สิบห้าข้างแรม” > แรม 15 ค่ำ
บาลี “ปณฺณรสี” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บัณรสี” อ่านว่า บัน-นะ-ระ-สี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บัณรสี : (คำวิเศษณ์) ที่ ๑๕, ใช้กับคําว่า ดิถี เช่น บัณรสีดิถี = วัน ๑๕ คํ่า. (ป. ปณฺณรสี).”
ขยายความ :
มีบทอาราธนาธรรมวันอุโบสถบทหนึ่งว่า –
…………..
จาตุทฺทสี ปณฺณรสี
ยา จ ปกฺขสฺส อฏฺฐมี
กาลา พุทฺเธน ปญฺญตฺตา
สทฺธมฺมสฺสวนสฺสิเม.
แปลว่า –
วันเหล่านี้คือ สิบสี่ค่ำ สิบห้าค่ำ
และแปดค่ำแห่งปักษ์
เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้
เพื่อการฟังพระสัทธรรม
…………..
วันที่ระบุในบทอาราธนาธรรมนี้มีเดือนละ 4 วัน คือ (1-2) วันขึ้นและแรม 8 ค่ำ (3) วันเดือนเพ็ญ คือขึ้น 15 ค่ำ และ (4) วันเดือนดับ คือแรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ
วันเหล่านี้ก็คือที่เราเรียกรู้กันเป็นสามัญว่า “วันพระ”
วันที่เขียนบาลีวันละคำวันนี้ คือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นวัน “บัณรสี” เดือนเพ็ญ
กลางเดือน 12 คนไทยจำกันได้ขึ้นใจว่าเป็น “วันลอยกระทง”
แต่จะมีสักกี่คนที่นึกได้ว่า วันนี้เป็น “วันพระ”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าทำความดีให้เหมือนกับเล่นสนุก
: เราก็จะมีความสุขในการทำดี
#บาลีวันละคำ (3,801)
08-11-65
…………………………….
……………………………