โพธิพฤกษ์ (บาลีวันละคำ 3,917)
โพธิพฤกษ์
โพธิพฤกษ์
ต้นโพหรือต้นโพธิ์
อ่านว่า โพ-ทิ-พฺรึก
ประกอบด้วยคำว่า โพธิ + พฤกษ์
(๑) “โพธิ”
บาลีอ่านว่า โพ-ทิ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ พุ-(ธฺ) เป็น โอ (พุธฺ > โพธ)
: พุธฺ + อิ = พุธิ > โพธิ แปลตามศัพทว่า (1) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้” (2) “สิ่งเป็นเหตุรู้” (3) “ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้”
ความหมายของ “โพธิ” ในบาลี –
(1) ความรู้อันยอดเยี่ยม, การตรัสรู้, ความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงมี (supreme knowledge, enlightenment, the knowledge possessed by a Buddha)
(2) ต้นไม้ตรัสรู้, ต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์, ต้นไม้จำพวกไทร (อสฺสตฺถ, ต้นอสัตถพฤกษ์) ซึ่งพระโคดมพุทธเจ้าบรรลุพระโพธิญาณ (the tree of wisdom, the sacred Bo tree, the fig tree (Assattha, Ficus religiosa) under which Gotama Buddha arrived at perfect knowledge)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“โพธิ-, โพธิ์ : (คำนาม) ความตรัสรู้; ชื่อต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, บัดนี้หมายถึงต้นไม้จําพวกโพ. (ป., ส.).”
(๒) “พฤกษ์”
บาลีเป็น “รุกฺข” อ่านว่า รุก-ขะ รากศัพท์มาจาก –
(1) รุกฺขฺ (ธาตุ = ป้องกัน, ปิดกั้น) + อ (อะ) ปัจจัย
: รุกฺข + อ = รุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ป้องกัน” (คือป้องกันแดดได้)
(2) รุหฺ (ธาตุ = เกิด, งอกขึ้น) + ข ปัจจัย, แปลง ห เป็น กฺ (รุหฺ > รุกฺ)
: รุหฺ + ข = รุหฺข > รุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดขึ้นบนแผ่นดิน”
“รุกฺข” สันสกฤตเป็น “วฺฤกฺษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วฺฤกฺษ : (คำนาม) ‘พฤกษ,’ ต้นไม้ทั่วไป; a tree in general.”
ในภาษาไทยใช้คงรูปบาลีว่า “รุกข-” ก็มี ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “พฤกษ” ก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) รุกข-, รุกข์ : (คำนาม) ต้นไม้. (ป.; ส. วฺฤกฺษ).
(2) พฤกษ-, พฤกษ์ ๑ : (คำนาม) ต้นไม้. (ส. วฺฤกฺษ; ป. รุกฺข).
ในที่นี้ ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “พฤกษ์”
โพธิ + รุกฺข > โพธิรุกฺข (โพ-ทิ-รุก-ขะ) > โพธิพฤกษ์ แปลว่า “ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้”
ขยายความ :
รูปคำบาลี “โพธิรุกฺข” แปลว่า ต้นไม้ที่พระมหาบุรุษประทับนั่งภายใต้แล้วได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกกันสั้นๆ ว่า “ต้นไม้ตรัสรู้” ในภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตว่า “โพธิพฤกษ์” อ่านว่า โพ-ทิ-พฺรึก
ปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจ :
1 พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสรู้เมื่อประทับนั่งใต้ต้นไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้นไม้นั้นก็ได้นามเรียกว่า “โพธิรุกฺข–โพธิพฤกษ์” เช่น ประทับนั่งใต้ต้นกากะทิงแล้วตรัสรู้ ต้นกากะทิงก็ได้นามว่า “โพธิพฤกษ์”
2 “โพธิพฤกษ์” ของพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ ในบาลีเรียกว่าต้น “อัสสัตถะ” เราจึงเรียกต้นอัสสัตถะว่า “โพธิพฤกษ์–ต้นโพ”
ปัญหาเกี่ยวกับการเขียนและอ่าน :
1 เมื่อเรียกสั้นๆ ว่า “ต้นโพ” พจนานุกรมฯ กำหนดให้เขียนว่า “-โพ” ไม่ใช่ “ต้นโพธิ์” (ไม่มี ธิ) พจนานุกรมฯ บอกว่า “โพศรีมหาโพธิ ก็เรียก”
2 ถ้า “-โพธิ” อยู่ท้ายคำ เช่นเรียกว่า “โพศรีมหาโพธิ” อ่านตามหลักนิยมว่า -สี-มะ-หา-โพด (ธิ เป็นตัวสะกด ไม่มีการันต์)
3 ถ้าใส่การันต์ที่ ธิ เช่น “ศรีมหาโพธิ์” อ่านว่า -สี-มะ-หา-โพ (ธิ์ ไม่ออกเสียง)
…………..
ดูก่อนภราดา!
โพธิแบบโลก : รู้เพื่อรู้
โพธิแบบธรรม : รู้เพื่อหลุด
#บาลีวันละคำ (3,917)
4-3-66
…………………………….
…………………………….