บาลีวันละคำ

คาถาพัน (บาลีวันละคำ 3,916)

คาถาพัน

แค่นับให้ครบก็ยังยาก

อ่านว่า คา-ถา-พัน

ประกอบด้วยคำว่า คาถา + พัน

(๑) “คาถา”

อ่านว่า คา-ถา รากศัพท์มาจาก คา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ถ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คา + ถ = คาถ + อา = คาถา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” หมายถึง คำกลอน, โศลก, คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง (a verse, stanza, line of poetry)

ในภาษาบาลี คำว่า “คาถา” หมายถึงคําประพันธ์ประเภท “ร้อยกรอง” อย่างที่ภาษาไทยเรียกว่า กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์

คาถาบทหนึ่งจะมี 4 บาท หรือ 4 วรรค จำนวนคำแต่ละวรรคและตำแหน่งคำภายในวรรคที่จะต้องใช้เสียงสั้น-ยาว หนัก-เบา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของคาถาแต่ละชนิด ทำนองเดียวกับกาพย์กลอนของไทยที่กำหนดว่าคำไหนต้องสัมผัสกับคำไหน

“คาถา” ในความหมายว่า “ร้อยกรอง” นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฉันท์”

ตัวอย่างคาถาหรือฉันท์ 1 บท ในภาษาบาลี เช่นปัฐยาวัตฉันท์ มีบาทละ 8 พยางค์ –

อาโรคฺยปรมา ลาภา

สนฺตุฏฺฐีปรมํ ธนํ

วิสฺสาสปรมา ญาติ

นิพฺพานปรมํ สุขํ.

“คาถา” แปลว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” ความประสงค์ของการแต่งถ้อยคำให้เป็นคาถา ก็เพื่อจะได้ขับขานเป็นท่วงทำนองให้ชวนฟังกว่าการพูดธรรมดานั่นเอง

ในภาษาไทย คำว่า “คาถา” มักเข้าใจกันว่า เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เสกเป่าหรือร่ายมนต์ขลังให้เกิดเป็นอิทธิฤทธิ์บันดาลผลที่ต้องการ

เพื่อเสริมความเข้าใจที่ถูกต้อง โปรดดูความหมายของ “คาถา” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“คาถา : (คำนาม) ‘คาถา,’ กวิตา, คำประพันธ์; โศลก; ฉันทัส, คำฉันท์, พฤตต์; ดาล; เพลง, คำว่า ‘คีต, คีติ, รพ, ราพ, รวะ, ราวะ, เคยะ, คานะ’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; ประกฤตหรือภาษาใดภาษาหนึ่งซึ่งมิใช่สํสกฤต; ชื่อของอารยาฉันท์ (คำประพันธ์ซึ่งมีหกสิบอักษรมาตรา, จัดไว้ต่างๆ กัน); a verse; a stanza, metre; rhythm; a song, a chant; Prākrit or any language not Sanskrit; the name of the Āryā metre (a verse which contains sixty syllabic instants, variously arranged).”

จะเห็นว่า “คาถา” ในสันสกฤตก็ไม่มีความหมายไปในทางคำเสกเป่าเพื่อเกิดความขลังศักดิ์สิทธิ์แต่ประการใด

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) คาถา ๑ : (คำนาม) คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองในภาษาบาลี, อัตราของฉันท์ คือ ๔ บาท เรียกว่า คาถาหนึ่ง; ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา เป็น ๑ ใน ๙ ส่วนของคัมภีร์นวังคสัตถุศาสน์. (ป.).

(2) คาถา ๒, คาถาอาคม : (คำนาม) คําเสกที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์.

เหตุที่ “คาถา” ในภาษาไทยความหมายเคลื่อนที่ไปจากเดิมน่าจะเป็นเพราะคนไทยนับถือภาษาบาลีว่าเป็นคำพระ เมื่อเห็นคำสอนที่แต่งเป็น “คาถา” มีความหมายในทางดี จึงน้อมมาเป็นกำลังใจ เดิมก็คงเอามาท่องบ่นด้วยความพอใจในความหมายด้วยความรู้ความเข้าใจ แต่เมื่อนานเข้าก็ทิ้งความเข้าใจในหลักคำสอนที่มีอยู่ในถ้อยคำอันเป็น “คาถา” นั้นๆ คงยึดถือแต่เพียงถ้อยคำหรือเสียงโดยเชื่อว่าเมื่อท่องบ่นแล้วจะเกิดผลดลบันดาลให้สำเร็จในทางนั้นๆ คำว่า “คาถา” จึงกลายความหมายเป็นคำขลังศักดิ์สิทธิ์ไปในที่สุด

(๒) “พัน”

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“พัน ๑ : (คำวิเศษณ์) เรียกจํานวน ๑๐ ร้อย. (คำนาม) ตําแหน่งหัวหน้าทหารสมัยโบราณสูงกว่าหัวปาก, บรรดาศักดิ์ชั้นประทวนตํ่ากว่าหมื่น, ชื่อตําแหน่งหัวหน้านายเวรในกระทรวงมหาดไทยและกลาโหม, ยศทหารชั้นสัญญาบัตรรองจากนายพล.”

ในที่นี้ “พัน” หมายถึง “จํานวน ๑๐ ร้อย”

คาถา + พัน = คาถาพัน แปลว่า “คาถาจำนวนหนึ่งพันบท”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“คาถาพัน : (คำนาม) บทประพันธ์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกที่แต่งเป็นคาถาภาษาบาลีล้วน ๆ พันบท, เรียกการเทศน์มหาเวสสันดรชาดกที่เป็นคาถาล้วน ๆ อย่างนี้ว่า เทศน์คาถาพัน.”

คัมภีร์ชาตกัฏฐกถา ภาค 10 ตอนอธิบายมหาเวสสันดรชาดกตอนจบระบุว่า “สตฺถา อิมํ คาถาสหสฺสปฏิมณฺฑิตํ มหาเวสฺสนฺตรธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา …”

แปลว่า “พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนาเรื่องมหาเวสสันดรอันประดับด้วยคาถาพันบทมาแสดง …”

คำว่า “คาถาพัน” ออกมาจากคำบาลีว่า “คาถาสหสฺส” แปลว่า “พันแห่งคาถา” คือคาถาหนึ่งพันบท

ใครเคยฟังเทศน์มหาเวสสันดรชาดกทำนองร่ายยาว เมื่อจบความแต่ละกัณฑ์จะมีคำลงท้ายออกชื่อกัณฑ์นั้นๆ ต่อด้วยคำว่า “… ประดับประดาไปด้วยพระคาถา …”

เช่น กัณฑ์ทศพร ก็จะลงท้ายว่า “… ทสวรคาถา นิฏฐิตา กัณฑ์ทศพรประดับประดาไปด้วยพระคาถา 19 พระคาถา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้”

คำว่า “… ประดับประดาไปด้วย …” แปลออกมาจากคำบาลีว่า “ปฏิมณฺฑิต” ซึ่งแปลว่า “ประดับแล้ว” อันปรากฏในคัมภีร์ชาตกัฏฐกถานี่เอง

ขยายความ :

“คาถาพัน” ในมหาเวสสันดรชาดกจำแนกเป็นรายกัณฑ์ 13 กัณฑ์ แต่ละกัณฑ์ระบุจำนวนคาถาไว้ดังนี้ –

กัณฑ์ที่ 1 ทศพร 19 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 2 หิมพานฺต์ 134 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์ 209 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 4 ประเวศน์ 57 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 5 ชูชก 79 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 6 จุลพน 35 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 7 มหาพน 80 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 8 กุมาร 101 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 9 มัทรี 90 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 10 สักฺรบรรพ 43 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 11 มหาราช 69 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 12 ฉกฺษัตริย์ 36 พระคาถา

กัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์ 48 พระคาถา

รวม 13 กัณฑ์ได้ 1,000 คาถาบริบูรณ์

แถม :

มีคำบอกกล่าวสืบกันมาว่า ผู้ใดมีศรัทธาอุตาหะสดับมหาเวสสันดรชาดกทั้งพันพระคาถาให้จบครบถ้วนภายในวันเดียว ผู้นั้นจะได้เกิดทันศาสนาพระศรีอริยเมตไตรยในอนาคตกาลโน้น ดังนี้แล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ศาสนาพระโคดมยังปรากฏอยู่ทุกประการ

: จะต้องรอศาสนาพระศรีอารย์ทำไม?

#บาลีวันละคำ (3,916)

03-03-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *