บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๖) 

การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๖) 

————————————

มองพระศาสนาให้ตรง ลงมือทำให้ถูก

——————-

-๑-

——————-

พระพุทธศาสนาเป็นองค์กรชนิดหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นมาในสังคมโลก ถ้าใครคิดจะเอาพระพุทธศาสนาไปบริหารจัดการ จะต้องมองพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องตรงตามที่เป็นจริง มิเช่นนั้นจะเกิดการบิดเบือนเบี่ยงเบนไปเป็นอย่างอื่น 

เทียบง่ายๆ กับเรื่องอื่นๆ เช่น –

Thomas Alva Edison ประดิษฐ์คิดค้นเรื่องต่างๆ เช่นไฟฟ้า

ใครคิดจะเข้าไปบริหารจัดการผลงานของ Edison ก็ต้องมองให้ถูกว่าจะเข้าไปทำให้คนสามารถใช้สิ่งประดิษฐ์ เช่นไฟฟ้าเป็นต้นได้อย่างคุ้มค้าและแพร่หลาย 

Henry Ford คิดเรื่องรถยนต์ 

ใครคิดจะเข้าไปบริหารจัดการผลงานของ Ford ก็ต้องมองให้ถูกว่าจะเข้าไปทำให้คนสามารถใช้รถยนต์เพื่อการเดินทางกันได้อย่างสะดวกสบาย 

Karl Heinrich Marx คิดเรื่องลัทธิคอมมิวนิสม์

ใครคิดจะเข้าไปบริหารจัดการผลงานของ Marx ก็ต้องมองให้ถูกว่าจะเอาแนวคิดคอมมิวนิสม์ไปใช้ปกครองประชาชน 

มาถึงพระพุทธศาสนา 

พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นมาทำไม ต้องมองตรงนี้ให้ถูกก่อน

พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นมาก็เพื่อเสนอทางพ้นจากการเวียนเกิดเวียนตาย หรือที่เรียกกันว่าทางพ้นทุกข์ และเสนอวิธีที่จะดำเนินทางนั้นจนสามารถพ้นจากการเวียนเกิดเวียนตายได้จริง 

พูดคำสมัยใหม่ก็ว่า-พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาก็เพื่อตอบโจทย์ข้อนี้ 

เพราะฉะนั้น ใครที่คิดจะเอาพระพุทธศาสนามาบริหารจัดการ ก็ต้องทำเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ๒ อย่างนี้ คือ 

๑ เสนอทางพ้นจากการเวียนเกิดเวียนตายตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

๒ เสนอวิธีที่จะดำเนินตามทางนั้น

เช่น-เมื่อยังครองเรือน ควรดำเนินชีวิตอย่างไร 

เมื่อสละบ้านเรือน ต้องปฏิบัติอย่างไร

ความมุ่งหมายนี้อาจมีองค์ประกอบย่อยๆ อีกมากมาย เช่น ต้องสร้างวัด ต้องสร้างโรงเรียน ต้องสร้างอุปกรณ์ สร้างคน คิดค้นเทคนิคการเรียนรู้ เทคนิคการปฏิบัติ จัดวางกฎระเบียบต่างๆ ฯลฯ

แต่ไม่ว่าจะมีองค์ประกอบแยกย่อยไปอีกสักกี่ส่วน ทุกส่วนจะต้องมุ่งไปที่การสนับสนุนส่งเสริมเป้าหมาย ๒ อย่างนั้นเท่านั้น ไม่ใช่เบี่ยงเบนไปเป็นอย่างอื่น หรือวนเวียนอยู่ในองค์ประกอบของตัวเอง

เบี่ยงเบนไปเป็นอย่างอื่น-ก็อย่างเช่น เอาพระพุทธศาสนาไปบริหารจัดการเพื่อความมั่งคั่งของผู้บริหารเอง อย่างที่เรียกกันว่า พุทธพาณิชย์

บริหารไปบริหารมา เจ้าของกิจการรวยไม่รู้เรื่อง 

แต่คนที่เข้าไปมีศรัทธาสนับสนุน เขาดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ได้จริงหรือเปล่า อย่าถาม เพราะไม่รู้เรื่องอีกเหมือนกัน

วนเวียนอยู่ในองค์ประกอบของตัวเอง-ก็อย่างเช่น 

(๑) เก่งแต่เรื่องแปลภาษา จัดการเรียนการสอนการสอบได้ผลดีมาก แต่ไม่ก้าวไปถึงการปฏิบัติ หรือแม้แต่การค้นคว้าเผยแผ่ 

(๒) เก่งในทางนวกรรม ถนัดการก่อสร้างโบสถ์วิหารการเปรียญ เชี่ยวชาญศิลปกรรมสถาปัตยกรรมจิตรกรรม ชอบอนุรักษ์ส่งเสริมศึกษา มองรู้ ดูออก บอกถูก อธิบายได้เป็นช่องเป็นฉาก ตลอดชีวิตวนเวียนอยู่แต่เรื่องเหล่านี้ ไม่เอาเรื่องหลักธรรมหลักปฏิบัติ

(๓) เชี่ยวชาญอยู่แต่ในเรื่องพิธีการพิธีกรรม วนอยู่กับการทำพิธีโอ่อ่าอลังการ ชื่นชมอยู่กับจำนวนคนที่เข้าวัดเพื่อทำพิธี แต่ไม่แสดงทางพ้นทุกข์ และไม่ปฏิบัติดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์

ฯลฯ

ภาษา สถานที่ พิธีการ ฯลฯ แต่ละอย่างย่อมมีความสำคัญในฐานะเป็นองค์ประกอบขององค์กรคือตัวพระพุทธศาสนา แต่องค์ประกอบเหล่านี้ต้องมีไว้เพื่อส่งผลต่อไปให้ถึงเป้าหมายของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่มีไว้เพื่อความเป็นเลิศอยู่ในตัวเอง

เวลานี้เราเอาองค์ประกอบเหล่านี้มาขยายผลจนเกิดเป็นหน่วยงาน เป็นองค์กรย่อยต่อไปอีกมากหลาย และแข่งขันความเป็นเลิศในตัวเองโดยไม่ได้มุ่งที่จะสนับสนุนส่งเสริมเป้าหมาย 

ซึ่งนั่นก็คือ-ยิ่งห่างไกลออกไปจากเป้าหมายที่ถูกต้องแท้จริงของพระพุทธศาสนา 

จนมีทีท่าว่าองค์ประกอบที่มีไว้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายกำลังจะยิ่งใหญ่กว่าตัวเป้าหมายเอง และในที่สุดก็จะบดบังเป้าหมายให้เลือนหายไป 

——————-

-๒-

——————-

เมื่อได้แนวคิดหรือจับทิศทางได้ดังนี้แล้ว ต่อไปก็มาถึงประเด็นสำคัญอันเป็นเนื้อเป็นตัวของการนำแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านการศึกษาไปปฏิบัติ หรือจะขอเรียกว่า จะจัดการศึกษาอย่างไรจึงจะเกิดผลดีที่สุดแก่พระพุทธศาสนา 

ประเด็นสำคัญคือ –

๑ จะจัดการศึกษาเพื่ออะไร

๒ จะจัดการศึกษาให้ใคร

๓ จะจัดการศึกษาอย่างไร

………………..

๑ จะจัดการศึกษาเพื่ออะไร

คำตอบต้องชัดเจน กล่าวคือ –

เพื่อให้รู้เข้าใจคำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้า 

แล้ว-เพื่อนำคำสอนนั้นมาประพฤติปฏิบัติสำหรับตัวเอง

แล้ว-เพื่อเผยแผ่คำสอนที่ถูกต้องนั้นให้มีผู้รู้และประพฤติปฏิบัติตามแพร่หลายกว้างขวางออกไป

การจัดการศึกษาเพื่ออย่างอื่นจากที่กล่าวนี้ เช่น-เพื่อให้ได้ประกาศนียบัตรปริญญาบัตร หรือแม้เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ เพื่อยกสถานภาพทางสังคม หรือเพื่อการเลี้ยงชีพเป็นต้น-ถือว่าเป็นการเบี่ยงเบน 

เวลานี้เรื่องทำท่าจะเป็นว่า-ก็รู้ว่าเบี่ยงเบน แต่ทุกวันนี้โลกเขานิยมอย่างนี้ เรายังอยู่กับโลกก็จำต้องทำอย่างนี้เป็นอย่างนี้ มิเช่นนั้นก็อยู่กับโลกไม่ได้

ต้องตกลงกันตรงนี้ให้ดีด้วย มิเช่นนั้นเราจะไปผิดทางตั้งแต่เริ่มต้น

………….

จัดการศึกษาเพื่ออะไร-อีกเป้าหมายหนึ่งที่ดูเหมือนว่าเราไม่เคยคิดกันมาก่อน นั่นก็คือ-เพื่อเตรียมคนไว้เป็นทายาทรับช่วงสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป 

เราไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้ อาจเป็นเพราะพระพุทธศาสนาในบ้านเรามั่นคงเสียจนเรามองไม่เห็น นึกไม่ออก ว่าจะต้องเตรียมคนไปเพื่ออะไรกันในเมื่อบ้านเมืองของเราเต็มไปด้วยชาวพุทธอยู่แล้ว 

อุปมาเหมือน-ทุกหนทุกแห่งมีอาหารการกินบริบูรณ์ตลอดเวลา มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเตรียมเก็บสะสมอาหารหรือเตรียมผลิตอาหารเอาไว้กิน-ฉันใดก็ฉันนั้น 

แต่ ณ เวลานี้มันไม่ใช่เช่นนั้นอีกแล้ว

บ้านเมืองของเราที่ว่าเต็มไปด้วยชาวพุทธอยู่แล้วนั้นเป็นชาวพุทธแต่เปลือกเสียเป็นส่วนมาก อย่างที่เราเรียกกันว่า-พุทธตามสำมโนครัว 

แต่ดูที่เนื้อในแล้ว ขาดความรู้ความเข้าใจในหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง มีแต่ศรัทธาที่ขาดปัญญากำกับ ทำ พูด คิด ในเงาของพระพุทธศาสนา แต่เนื้อหาสาระไม่ใช่พระพุทธศาสนา-หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนาอันเป็นคำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้า 

และที่น่าห่วงที่สุดก็คือ มองไม่เห็นภัยที่กำลังเกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนา ขาดความสำนึกที่จะศึกษาและรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคงยั่งยืนอยู่กับแผ่นดินไทยตลอดไปชั่วกาลนาน

พูดสั้นๆ เรามีแต่ปริมาณ แต่ขาดคุณภาพแทบจะโดยสิ้นเชิง 

ดูกันง่ายๆ พระกอดแม่ ชาวพุทธสมัยใหม่พากันชื่นชมยินดีกระหึ่มไปหมด 

นี่มันวิปริตถึงขนาดนี้แล้ว 

ถ้าไม่เตรียมสร้างคนไว้ทำหน้าที่บริหารสืบทอดพระพุทธศาสนา (ขอย้ำด้วยว่า-พระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง) พระพุทธศาสนาจะตกอยู่ในมือของคนที่ไม่มีความรู้ หรือรู้ผิดปฏิบัติผิด ความวิปริตก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 

เพราะฉะนั้น ต้องคิดจัดการศึกษาเพื่อสร้างทายาทด้วย-สร้างอย่างมีแผน มีขั้นตอน มีเป้าหมาย 

ไม่ใช่รอให้ทายาทเกิดเอง มาเอง ตามศรัทธา เหมือนที่เป็นมาในอดีต

………….

เมื่อพูดว่า “ทายาทเกิดเอง มาเอง ตามศรัทธา” ควรจะต้องนึกถึงปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ นั่นคือ จำนวนพระภิกษุสามเณรที่ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ วัดที่เคยมีพระเณรเป็นร้อย ลดลงเหลือแทบไม่ถึงร้อย ที่เคยมีหลายสิบ ลดลงเหลือสิบกว่าๆ มีทีท่าว่าจะไม่ถึงสิบ 

ชายไทยที่ “บวชเอาพรรษา” เหมือนสมัยก่อนแทบจะหาไม่ได้แล้ว 

ถ้าเรายังใช้วิธีเดิมๆ คือรอให้ทายาทเกิดเอง มาเอง ตามศรัทธา พระพุทธศาสนาวิกฤตแน่ 

และถ้าไม่รีบวางแผนแก้ปัญหา วัดในพระพุทธศาสนาร้างหมดแน่ๆ 

ที่ซ้ำร้ายก็คือ คุณภาพของพระภิกษุสามเณรที่อ่อนด้อยลงไปทุกที-โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดความรู้ความเข้าใจแม่นยำช่ำชองในหลักพระธรรมวินัย และขาดความตั้งใจที่จะดำรงวิถีชีวิตของสมณเพศให้เคร่งครัดเข้มข้น 

ในทางตรงกันข้าม พฤติกรรมอย่างที่ชาวบ้านในสมัยพุทธกาลตำหนิติเตียนว่า “พระทำอย่างนี้ก็เหมือนชาวบ้าน” (ยเถว  มยํ … เอวเมวิเม) ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งและเปิดเผยแพร่หลายมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ 

ถ้าชาววัดซึ่งมีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบการพระศาสนาตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ พระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์สะอาดจะดำรงอยู่และดำเนินต่อไปได้อย่างไร

ปัญหานี้ เชื่อว่าผู้บริหารการพระศาสนาในปัจจุบันท่านก็มองเห็นอยู่ แต่ไม่มีใครคิดที่จะวางแผนแก้ไข ได้แต่นั่งดูอยู่เฉยๆ 

เหตุผลข้อสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความประมาทเฉยเมยนี้ก็คือความคิดความรู้สึกที่ว่า “เราประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมนำหมู่คณะไปได้แค่นี้ก็พอแล้ว พระศาสนาไม่ใช่ของเราคนเดียว เราอยู่อีกไม่นานก็ตายแล้ว ใครอยู่ข้างหลังก็รับผิดชอบกันไปเถิด” 

ผู้บริหารการพระศาสนาของเราส่วนมากคิดแบบนี้ เป็นการคิดแบบเอาตัวรอด ไม่ได้คิดแบบมหาบุรุษที่อุทิศชีวิตเพื่อพิทักษ์รักษาสร้างมรดกส่งมอบให้ลูกหลาน

………….

ควรสังเกตไว้ด้วยว่า ชาวพุทธมีอยู่ทั่วไป แต่ชาวพุทธที่เป็นมหาบุรุษสามารถจะเชิดชูและปกป้องพระพุทธศาสนา ไม่ได้มีอยู่ทั่วไป 

ถ้าลองประมวลดูแล้ว มหาบุรุษย่อมจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ – 

๑ มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงเด็ดเดี่ยว

๒ เป็นสัมมาทิฐิ นับถือหลักคำสอนที่ถูกต้อง 

๓ มีบารมี มีอำนาจ 

๔ มีความกล้าหาญ โดยเฉพาะกล้าที่จะใช้อำนาจ (มีอำนาจ แต่ไม่กล้าใช้อำนาจก็เหมือนไม่มี)

มหาบุรุษที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ จะรอให้เกิดเอง หรือสร้างขึ้นก็ได้ ลองพิจารณาดูเถิด

………….

ในเมื่อเราไม่รู้ว่ามหาบุรุษอยู่ที่ไหน หรือเมื่อไรจึงจะมาเกิด ถ้ามัวแต่รอมหาบุรุษ พระพุทธศาสนาก็อาจจะไม่เหลือ ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องตั้งเป้าหมายที่จะสร้างทายาทพระศาสนาที่มีคุณภาพขึ้นไว้ให้ได้และให้มากพอที่จะทำหน้าที่แบกรับภาระนำพาพระศาสนาที่บริสุทธิ์ถูกต้องให้ดำรงอยู่และดำเนินวัฒนาถาวรต่อไป 

ควรจะต้องถือว่า เป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายที่จำเป็นเร่งด่วนและสำคัญที่สุด ต้องคิด ต้องทำ และต้องทำให้สำเร็จด้วย

——————-

-๓-

——————-

๒ จะจัดการศึกษาให้ใคร

กลุ่มเป้าหมายมีอยู่ ๒ กลุ่ม คือ – 

๑ ชาววัด คือพระภิกษุสามเณรและคนวัด 

๒ ชาวบ้าน 

จัดการศึกษาให้ชาววัด ก็คือทำให้พระภิกษุสามเณรในแต่ละวัดมีความรู้ในพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง เริ่มจากพระธรรมวินัยเพื่อการรักษาตนให้ครองสมณเพศได้อย่างบริสุทธิ์สะอาดเป็นต้นไป 

ตั้งเกณฑ์ไว้เลยว่า พระเณรในวัดนี้ต้องเรียนพระธรรมวินัย ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ 

เรียนให้รู้ทั่วถึง เรียนตลอดเวลา เป็นการศึกษาตลอดชีวิต ไม่ใช่เรียนเอาใบรับรอง ได้ใบรับรองแล้วเลิก อย่างที่เป็นอยู่ 

ตั้งมาตรฐานไว้เลยว่า พระเณรในวัดนี้-รูปไหนก็ได้ เรียกมาถามเรื่องพระธรรมวินัย จะสามารถตอบได้หมด-ตามภูมิที่เรียนมาแล้วและที่กำลังเรียนอยู่ 

ประเภทที่ถามว่า “ลดไหล่คืออะไร” ตอบไม่ได้ เพราะไม่เคยมีใครสอน-แบบนี้ต้องไม่มี

ส่วนกลุ่มชาวบ้าน เป้าหมายหลักควรเป็นชาวบ้านรอบๆ วัดนั่นเอง 

ณ เวลานี้ชาวบ้านที่อยู่รอบๆ วัดเป็นกลุ่มที่ถูกมองข้าม คือเราออกไปจัดการศึกษาในที่ไกลวัด ให้การศึกษาแก่คนไกล พูดอีกอย่างหนึ่งว่าเราไปตั้งวงศึกษาไว้ในที่หนึ่ง ไปจัดการศึกษากันที่นั่น แต่เราไม่ได้มองคนรอบๆ วัดว่าเขาได้รับการศึกษาบ้างหรือเปล่า

ชาวบ้านรอบวัดใส่บาตรทุกวัน เขาควรต้องรู้เหตุผลที่ถูกต้องของการใส่บาตร

ชาวบ้านรอบวัดมาถืออุโบสถทุกวันพระ เขาควรต้องรู้เหตุผลที่ถูกต้องของการถืออุโบสถ

ชาวบ้านรอบวัดมาทำบุญที่วัดทุกวันพระ เขาควรต้องมีความรู้ในเรื่องบุญที่เขากำลังทำอยู่นั่นเอง

ชาวบ้านรอบๆ วัดควรรู้อะไรอีก ควรรู้อะไรบ้าง 

เราแทบจะไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้กันเลย

ต่อไปนี้ต้องปฏิรูปกันใหม่ คือย้ายสนามปฏิบัติการทางการศึกษามาไว้ในวัด ปฏิบัติการกับคนในวัดเป็นอันดับแรก และกับคนที่อยู่รอบๆ วัดเป็นอันดับต่อไป ในฐานะเป็นภารกิจสำคัญที่สุด 

ข้าศึกสำคัญ-คือความไม่รู้เรื่องพระธรรมวินัย-อยู่ในวัดและรอบๆ วัดนี่เอง แต่เรากลับออกจากวัดไปจัดการศึกษากันที่ไหนก็ไม่รู้ 

เพราะฉะนั้น จึงต้องย้ายสนามรบของเรามาไว้ในวัดและรอบๆ วัด แล้วค่อยๆ ขยายขอบเขตปฏิบัติการให้กว้างออกไปจนเชื่อมกันหมดทั้งประเทศ

——————-

-๔-

——————-

๓ จะจัดการศึกษาอย่างไร

นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เป็นเนื้อเป็นตัวของการบริหารจัดการเลยทีเดียว แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากที่สุดด้วย

ว่ากันตามหลัก วิธีจัดการศึกษาทำได้ ๒ ระดับ คือ

ระดับมหภาค เป็นการจัดการศึกษาอย่างเป็นทางการ หมายความว่าเป็นนโยบายที่คณะสงฆ์กำหนดให้ทุกวัดต้องทำ-ทำอย่างเป็นภารกิจประจำวัด-ประจำวัน ประจำชีวิต

ไม่ใช่ทำแบบจัดกิจกรรม ๓ วัน ๗ วัน จบโครงการ แบบที่นิยมทำกัน

ไม่ใช่แบบนั้น แบบนั้นไม่ใช่การศึกษาในความหมายของพระพุทธศาสนา-ที่กำลังพูดถึง

ต้องทำให้เป็นกิจวัตร ทำตลอดชีวิต แล้วพัฒนาเป็นวิถีชีวิต

กำหนดขอบเขตเนื้อหาที่เหมาะสม —

พระเณรในวัดต้องรู้อะไรบ้าง

ชาวบ้านรอบๆ วัดต้องรู้อะไรบ้าง

และควรปฏิรูปวิธีการศึกษากันใหม่ 

เรียนได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกสถานการณ์

ไม่จำเป็นต้องเกณฑ์ให้มาเข้าห้องเรียน

ไม่ใช่ศึกษาเฉพาะในห้องเรียน 

ไม่ใช่ศึกษาเฉพาะในเวลาเรียนที่กำหนด 

แต่ใช้วิธีให้ความรู้กันทุกโอกาส 

แนะนำ สั่งสอน บอกกล่าว ถ่ายทอดในชีวิตประจำวันตามธรรมชาติ

เอาการศึกษาอบรมเรียนรู้มาใส่ไว้ในชีวิตจริง-ชีวิตประจำวันจริงๆ 

ไม่ใช่แยกออกจากชีวิตจริง 

ไม่ใช่แบ่งเวลาออกไปจากชีวิตจริง

ไม่ใช่ถือว่าการเรียนเป็นกิจกรรมพิเศษ 

แต่ต้องถือว่าการเรียนเป็นกิจวัตรในชีวิตประจำวัน 

ไม่ต้องแบ่งเวลา เรียนเมื่อถึงชั่วโมงเรียน เรียนเฉพาะเวลาอยู่ในห้องเรียน-อย่างที่ทำกันอยู่

ข้อสำคัญต้องมีระบบกำกับดูแลติดตามผลอย่างใกล้ชิด 

ไม่ใช่สั่งแล้วปล่อย ให้ไปงมทำกันเอง 

และไม่ใช่สักแต่ว่าทำตามระบบราชการ เอาแต่ตัวเลข เอาแต่แบบฟอร์มสวยหรู แต่ต้องวัดผลกันจากของจริง ดูกันจากชีวิตจริงตามธรรมชาติจริงของแต่ละคนจริงๆ 

เรียบร้อยต่อหน้า ดีเลิศเฉพาะเวลาวัดผล แต่พอลับหลัง พออยู่คนเดียวหรืออยู่กับพวกคอเดียวกัน สันดานเดิมออก แบบนี้คือการศึกษาล้มเหลว ซึ่งก็คือ-ยังไม่ได้รับการศึกษานั่นเอง

ผลการศึกษาต้องวัดกันที่นิสัยสันดานจริงที่แสดงออกมาในชีวิตจริง

ไม่ใช่วัดกันด้วยตัวเลข 

ไม่ใช่วัดด้วยกระดาษคำตอบ 

ไม่ใช่ด้วยลายเซ็นบนแผ่นกระดาษ

ข้อสำคัญ อย่าอ้างว่าคณะสงฆ์จัดการศึกษาอยู่แล้ว มีเรียนนักธรรม เรียนบาลี เรียนธรรมศึกษา เรียนบาลีศึกษา มีการเรียนการสอนตลอดปี มีผู้สอบได้ปีละมากๆ 

อย่ายกเอาภาพแบบนี้ขึ้นมาหลอกตัวเองและหลอกกันและกัน 

ขอย้ำให้เข้าใจว่า การศึกษาตามที่ยกมาอ้างนั้นเป็นการศึกษาตามรูปแบบ เป็นการศึกษาเพื่อสอบได้ เป็นการศึกษาเพื่อเอาสถิติ เอาตัวเลข 

แต่ไม่ใช่การศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้จริงๆ เพื่อให้มีความรู้จริงๆ

การศึกษาเพื่อความรู้ที่แท้จริงเคยกระทำกันมาแต่โบราณกาล แต่ถูกกระทำให้เบี่ยงเบนอยู่ในปัจจุบัน 

การศึกษาที่เบี่ยงเบนนี้ ใครรู้จำ ทำได้ตามแบบ ก็ถูกหลอกว่าสำเร็จการศึกษาแล้ว ทั้งๆ ที่รู้ไปเพียงแค่นิดเดียว จนพูดได้ว่ายังไม่ทันรู้อะไรเลย ก็บอกว่าจบการศึกษาแล้ว ออกใบรับรองให้ แล้วก็หยุดการศึกษาไว้แค่นั้น

ปฏิรูปการศึกษาตามความหมายที่กำลังพูดนี้คือดึงเอาการศึกษาเพื่อความรู้จริงๆ กลับคืนมา

ปฏิรูปการศึกษาตามความหมายนี้ต้องทำให้คนรู้สึกกันได้ทั่วไปว่า เรียนเอาความรู้สำคัญกว่า จำเป็นกว่า และถูกต้องกว่าการเรียนเพื่อให้ได้ใบรับรอง

ถ้าคณะสงฆ์ออกคำสั่งให้ทุกวัดดำเนินการศึกษาตามที่บรรยายมานี้ นั่นคือปฏิรูปการศึกษาระดับมหภาค 

——————-

-๕-

——————-

ระดับจุลภาค เป็นการปฏิบัติเป็นส่วนตัวในกรณีที่คณะสงฆ์ไม่คิด ไม่สั่ง ไม่สนใจที่จะทำ (ซึ่งคาดหมายได้เลยว่าคงเป็นเช่นนั้น) 

คุณสมบัติที่จำเป็นข้อแรกของการทำงานในระดับจุลภาคก็คือ ต้องเป็นคนมีอุดมคติ 

ไม่มีใครสั่ง และไม่รอให้ใครสั่ง แต่ใจรักที่จะทำ 

ถ้าเป็นเจ้าอาวาสก็คล่องตัวหน่อย และทำได้เต็มที่ แต่ถ้าไม่ใช่เจ้าอาวาส และถ้าเจ้าอาวาสไม่เล่นด้วย ก็ทำได้ยาก ถ้าไม่มีอุดมคติจริงคงเลิกล้มความคิดที่จะทำ 

และเท่าที่สังเกต เจ้าอาวาสส่วนมาก (วัดประมาณสามหมื่น-สี่หมื่นวัด) ไม่มีอุดมคติที่จะทำงานแบบนี้ 

รวมทั้งพระภิกษุสามเณรที่มีอยู่ในวัดต่างๆ ส่วนมากไม่มีความคิดที่จะศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยให้แตกฉาน แล้วนำไปเผยแผ่ให้ชาววัดด้วยกันตลอดจนชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจด้วย 

ส่วนมากไม่เคยคิดว่า-นี่คืองานที่จะต้องทำสำหรับผู้ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา

นี่คือจุดอ่อนในวงการพระพุทธศาสนาบ้านเรา 

ทั้งๆ ที่เรารู้กันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลว่า ผู้ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนามีงานที่จะต้องทำ ๒ อย่างเท่านั้น คือ – 

๑ ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย แล้วสั่งสอนบอกกล่าวเผยแผ่ 

๒ ปฏิบัติธรรมคือเจริญพระกรรมฐานเพื่อบรรลุมรรคผลตามวิสัยสามารถ

ปัจจุบันปรากฏว่าผู้ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาแทบจะไม่ได้ทำงาน ๒ อย่างนี้ แต่ใช้เวลาหมดไปกับเรื่องอื่น 

เมื่อใช้เวลาหมดไปกับเรื่องอื่นนานเข้า ก็เกิดเป็นความเข้าใจไขว้เขวว่า บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้วไม่ต้องศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ก็ไม่มีใครว่าอะไร ไม่ต้องปฏิบัติธรรม ก็ไม่มีใครว่าอะไร 

ในที่สุดก็เข้าใจไปว่า การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรมไม่ใช่หน้าที่ของผู้ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา 

ใครไปบอกให้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรม ก็จะถูกมองหน้าแล้วถามกลับเอาว่า ทำไมฉันจะต้องทำอย่างนั้นด้วย ใครเป็นคนกำหนดว่านั่นเป็นหน้าที่ของฉัน ฉันมีสิทธิ์ที่จะบวช ฉันมีสิทธิ์ที่จะอยู่เฉยๆ สบายๆ แต่ไม่ใช่หน้าที่ที่ฉันจะต้องทำอะไรตามที่คุณบอก คุณไปทำหน้าที่ของคุณให้ดีก่อนเถิดจึงค่อยมาบอกให้คนอื่นทำนั่นทำนี่ 

โปรดทราบเถิดว่า เวลานี้เรากำลังมาอยู่ ณ จุดนี้กันแล้ว 

——————-

-๖-

——————-

เท่าที่กล่าวมา ฟังดูเหมือนกับว่าเวลานี้ผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและไม่ได้ปฏิบัติธรรมกันเลย 

โปรดทราบว่า ผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรมก็มี ไม่ใช่ไม่มี 

หากแต่ว่ามีตามศรัทธา มีตามอัธยาศัย ตามใจรักใจสมัคร

ไม่ใช่เกิดจากสำนึกที่ถูกต้องว่าเป็นหน้าที่-ที่จะต้องทำ 

ไม่ทำไม่ได้ ไม่ทำถือว่า-ผิด

ความสำนึกอย่างนี้ ไม่มี 

การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรมที่พอมีอยู่บ้างจึงเป็นเพียงจุดเล็กๆ ไม่เข้มข้น ไม่มีใครมองเห็นความสำคัญ ไม่มีใครตระหนัก เหมือนเป็นกิจที่แฝงอยู่ ไม่เป็นวิถีชีวิต ใครจะทำหรือไม่ทำก็ไม่มีใครว่าอะไรกัน

จึงต้องฟื้นฟูความสำนึกในเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่

ถ้าฟื้นฟูความสำนึกขึ้นมาไม่ได้

การปฏิรูปการศึกษาก็เป็นไปได้ยาก

การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรมก็จะเป็นเพียงกิจกรรมส่วนตัว ทำกันเป็นบางแห่งบางคนที่นั่นบ้างที่โน่นบ้างประปราย การส่งเสริมเผยแผ่ก็ทำกันอย่างเป็นงานส่วนตัว ทำไปตามกำลัง แล้วก็จะค่อยๆ จืดจางห่างหายไปทีละเล็กละน้อยจนสูญไปในที่สุด

เพราะฉะนั้น ถ้าจะปฏิรูปการศึกษาพระศาสนา ก็ต้องถอยหลังไปปฏิรูปความคิดที่ไขว้เขวดังที่กล่าวมานี้กันก่อนด้วย 

ก็ต้องถามคำถามเดิม นั่นคือ ใครจะทำ? ใครจะเป็นคนถอยหลังไปปฏิรูปความคิดที่ไขว้เขวนั้น? 

ในที่สุดเราก็มาถึงทางตัน 

คือมีแต่คนคิดว่าควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ 

แต่ไม่มีคนทำ 

ไม่มีคนที่ลงมือทำจริงๆ

ไม่มีคนที่ลงมือทำจนสำเร็จได้จริง

ก็ต้องถามเป็นคำถามสุดท้ายว่า การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ต้องมีคนลงมือทำ 

ถามว่า ใครจะเป็นลงมือทำ?

——————-

-๗-

——————-

ยังมีการศึกษาอีกส่วนหนึ่งที่น่าจะจัดอยู่ในส่วนที่เป็นมหภาค แต่เพราะเป็นส่วนพิเศษ จึงขอแยกมากล่าวเป็นต่างหาก นั่นก็คือมหาวิทยาลัยสงฆ์

มหาวิทยาลัยสงฆ์นั้นเกิดขึ้นตามเจตนาที่ว่า-จะให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาวิทยาการบางอย่างอันจะใช้เป็นอุปกรณ์หรือเป็นเครื่องมือในการประกาศเผยแผ่พระศาสนาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

ยกตัวอย่างที่อาจช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็อย่างเช่น ถ้าภิกษุสามารถแสดงธรรมเป็นภาษาอังกฤษได้ คนทั้งหลายก็จะรู้สึกตื่นเต้นและชื่นชมยินดีว่า พระนี่เก่งแฮะ แล้วมีใจน้อมมาในทางที่จะยอมรับฟังคำสอนง่ายขึ้น 

ถ้าพระรู้วิทยาการอื่นๆ อีก เท่ากับที่ผู้คนในสังคมเขารู้กัน จนเกิดความรู้สึกยอมรับ หรือ “ทึ่ง” ว่าพระนี่เก่งนะ รู้วิชาต่างๆ เหมือนกับที่เรารู้ ก็จะเป็นการเปิดทางให้ผู้คนในสังคมยอมรับฟังคำสอนได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น ถ้าพระเรียนภาษาอังกฤษ เรียนปรัชญา เรียนนิติศาสตร์ เรียนรัฐศาสตร์ เรียนสังคมวิทยา เรียนวิทยาศาสตร์ ฯลฯ พระก็จะมีศักยภาพในการทำงานเผยแผ่พระธรรมวินัยได้อย่างดียิ่ง

จึงมีผู้อุปมาให้เห็นภาพว่า พระธรรมวินัยเปรียบเหมือนตัวรถ วิทยาการบางอย่างเปรียบเหมือนรางรถที่จะช่วยทำให้รถแล่นไปสู่ปวงประชาได้สะดวกขึ้นง่ายขึ้น

หลักของมหาวิทยาลัยสงฆ์จึงคือ-ศึกษาพระธรรมวินัยเป็นหลัก ศึกษา “วิทยาการบางอย่าง” เป็นส่วนประกอบเพื่อนำไปสนับสนุนการเผยแผ่พระธรรมวินัย

แต่ทุกวันนี้เป้าหมายที่ว่านี้เบี่ยงเบนไปมากจนน่าวิตก คือกำลังจะกลายเป็นว่า ศึกษา “วิทยาการบางอย่าง” เป็นหลัก พระภิกษุสามเณรที่จบการศึกษาแล้วจะได้รับวุฒิการศึกษาเหมือนกับชาวบ้าน และหากลาสิกขาออกไปก็สามารถใช้เป็นช่องทางประกอบอาชีพได้เหมือนชาวบ้านทั่วไป 

ตรงนี้เองที่เป็นโอกาสหรือช่องทางให้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่พร้อมหรือไม่สามารถจะศึกษาในเพศฆราวาสได้-อาศัยเป็นช่องทางศึกษาโดยเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วศึกษาตามเส้นทางนี้ 

และตรงนี้เองที่เป็นเหตุให้ถูกมองในเชิงตำหนิว่า บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ อาศัยผ้าเหลืองเป็นทางเล่าเรียนแล้วสึกออกไปแย่งงานชาวบ้านทำ เป็นการเอาเปรียบสังคม 

ประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจกันให้ดี หรือต้องพยายามมองให้ถูกมุม มิเช่นนั้นจะพูดกันไม่รู้เรื่อง แล้วก็จะเป็นเหตุให้โกรธเกลียดกัน 

ประเด็นนี้ถือว่าเป็นเรื่องแทรก จึงควรยกไปอภิปรายกันในโอกาสอื่น ในที่นี้ขอเจาะเฉพาะกระบวนการศึกษาก่อน

เมื่อทำท่าจะศึกษา “วิทยาการบางอย่าง” เป็นหลัก การศึกษาพระธรรมวินัยก็กลายเป็นเรื่องที่รองลงไป รวมทั้งวิธีการหรือรูปแบบของการศึกษาก็กำลังจะมีลักษณะเป็นการทำกิจกรรมตามชั่วโมงการเรียน เน้นการเขียนคำตอบ ทำรายงาน แม้จะมีการอ่านการค้นคว้า แต่ก็เพียงเพื่อนำไปเป็นส่วนประกอบตามกระบวนการศึกษา และวัดผลกันที่การเขียนการทำเอกสาร รวมความว่าเป็นกระบวนการศึกษาตามแบบที่ทางโลกๆ เขาทำกัน 

งานทั้งหมดที่กล่าวนี้เป็นเพียงกิจกรรมที่ทำในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อผลคือสำเร็จการศึกษาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด 

ไม่ใช่ชีวิตจริง 

ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว กิจกรรมเหล่านั้นก็เลิกหมด หรือแม้ยังไม่ทันสำเร็จการศึกษาด้วยซ้ำไป ถ้าเมื่อสอบผ่านรายวิชานั้นๆ ไปแล้วก็ไม่ได้ทำกิจกรรมเช่นนั้นอีก หรือถ้าจะมีใครยังทำอยู่ ก็เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ “การศึกษา” ที่มหาวิทยาลัยจัดให้ จะเรียกได้อย่างใกล้ความจริงที่สุดก็เพียง “ผลพลอยได้” ที่ตกค้างมาจากกระบวนการศึกษา แต่ไม่ใช่เป้าหมายตรงๆ ที่มหาวิทยาลัยตั้งไว้ 

——————-

-๘-

——————-

ตรงนี้มีประเด็นสำคัญที่ใคร่ขอชวนเชิญให้พิจารณา นั่นคือ อย่างไรที่เรียกว่า “การศึกษา” 

ตามที่เข้าใจกันและกำลังนิยมทำกันทั่วไป กระบวนการศึกษาในปัจจุบันก็คือ – 

๑ ต้องมีสถานที่ เช่นห้องเรียน 

๒ ต้องมีกำหนดเวลาเรียน และ 

๓ ต้องมีกิจกรรมที่ทำในสถานที่และ/หรือในเวลาตามที่กำหนด 

ใครมาเข้าห้องเรียนตามเวลาที่กำหนด และทำกิจกรรมตามที่กำหนด (เช่น ฟัง พูด เขียน ทำ ตามกรอบขอบเขตเนื้อหาของวิชาที่กำหนด) ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็ถือว่าได้รับการศึกษาและได้ใบรับรองว่าจบการศึกษา 

ขอให้สังเกตว่า ทุกวันนี้เรายึดถือกรอบการศึกษาแบบนี้กันทั่วไป 

ครูอาจารย์บอก/บรรยายเนื้อหาวิชาการตามที่รับผิดชอบเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น 

นักเรียนนักศึกษาก้าวออกจากห้องเรียนแล้วก็เป็นอันหมดหน้าที่ หมดความรับผิดชอบ หมดความเกี่ยวข้องกัน ใครจะไปทำอะไรอย่างไรถือว่าเป็น “เรื่องส่วนตัว” อยู่นอกกรอบขอบเขตของการศึกษา 

และแม้แต่ให้ห้องเรียนนั่นเอง นักเรียนนักศึกษาก็มีอิสระเสรีที่จะทำอะไรก็ได้ตราบเท่าที่ยังไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้หลวมๆ (เช่นต้องแต่งกายอย่างไรเป็นต้น)

จะเห็นได้ว่า “การศึกษา” ตามความหมายที่เข้าใจและปฏิบัติกันในทุกวันนี้แยกออกมาจากชีวิตจริง 

ชีวิตจริง คือ“เรื่องส่วนตัว” เราบอกกันว่าเป็นของใครของมัน เราต้องเคารพเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น อย่าไปก้าวก่าย 

และที่สำคัญ เรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับการศึกษา 

การศึกษาอยู่ในห้องเรียน ตามเวลาที่กำหนด ตามกิจกรรมที่กำหนดเท่านั้น 

ครูบาอาจารย์มีสิทธิ์เกี่ยวข้องได้เฉพาะตามกรอบนั้นเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์มายุ่งเรื่องส่วนตัว

ถ้าสมมุติว่า ๒๔ ชั่วโมงในแต่ละวันคือเวลาเต็มของชีวิตจริง 

เราจัดการศึกษาให้กันวันละ ๘ ชั่วโมง 

นั่นคือเวลาที่ชีวิตจริงได้รับการศึกษาตามกระบวนการที่จัดขึ้น-ซึ่งมีเป้าหมายเพียงเพื่อให้รู้เข้าใจ “วิทยาการบางอย่าง” เท่านั้น 

อีก ๑๖ ชั่วโมงเป็นชีวิตจริงที่ไม่ได้รับการศึกษาใดๆ 

ใครจะทำดีทำชั่ว พูดดีพูดชั่ว คิดดีคิดชั่ว ซึ่งเป็นของจริงในชีวิตจริง เราบอกกันว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ต้องปล่อยให้เขาทำพูดคิดไปให้เต็มที่ คนอื่นไม่มีสิทธิ์ไปยุ่งด้วย

ได้ทราบว่า แนวคิดและท่าทีแบบนี้กำลังคืบคลานเข้าไปในวัดแล้ว 

นั่นคือ ภายในวัด พระภิกษุสามเณรแต่ละรูปจะทำอะไร กำลังนิยมอ้างว่าเป็น “เรื่องส่วนตัว” เจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะผู้ปกครองไม่มีสิทธิ์เข้าไปยุ่งอะไรด้วย

นี่คือระบบการศึกษาที่เรากำลังจัดให้กัน-และมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็กำลังจัดการศึกษาด้วยวิธีการแบบเดียวกันนี้

อาจจะมีข้อแตกต่างจากสถาบันการศึกษาทั่วไปอยู่บ้างตรงที่-หลายๆ หลักสูตรมีชั่วโมงปฏิบัติธรรมที่กำหนดไว้ว่านักศึกษาต้องผ่านกิจกรรมนี้จึงจะถือว่าผ่านการศึกษา 

แต่ข้อเท็จจริงที่ต้องไม่ลืมก็คือ นั่นเป็นเพียง “กิจกรรมตามหลักสูตร” เท่านั้น

ถ้าตั้งเกณฑ์ว่า-จัดเป็นกิจกรรม>ทำเป็นกิจวัตร>พัฒนาเป็นวิถีชีวิต เป็นเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาในพระพุทธศาสนา 

การปฏิบัติธรรมตามหลักสูตรก็อยู่ในขั้น “กิจกรรม” เท่านั้น 

ยังไม่ถึงขั้นเป็น “กิจวัตร” ด้วยซ้ำ ไม่ต้องกล่าวว่าจะไปถึงขั้น “วิถีชีวิต” ได้หรือไม่ 

และแทบทั้งหมด เมื่อจบหลักสูตรแล้วหรือจบการศึกษาแล้วก็จบการปฏิบัติธรรมไปด้วย 

หรือหากจะมีใครสมัครใจทำสืบต่อมา นั่นก็เป็น “ผลพลอยได้” หาใช่เป้าหมายที่มหาวิทยาลัยตั้งไว้ไม่-ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น 

โปรดเข้าใจให้ถูกต้องว่า การศึกษาแบบที่ว่ามานี้ ไม่ใช่ “การศึกษา” ตามความหมายของพระพุทธศาสนา 

การศึกษาตามความหมายของพระพุทธศาสนามุ่งจัดการที่ “เรื่องส่วนตัว” หรือชีวิตจริงของแต่ละคนนั่นเลยทีเดียว 

การศึกษาตามความหมายของพระพุทธศาสนาไม่ปล่อยให้ใครอ้างได้เลยว่า เรื่องส่วนตัวของข้าใครอย่าแตะ ตรงกันข้าม ผู้ที่จะได้รับการศึกษาตามแบบของพระพุทธศาสนาจะต้องถูก “แตะ” เรื่องส่วนตัวเป็นเป้าหมายใหญ่และเป้าหมายแรกเลยทีเดียว 

การทำ พูด คิด ทุกเวลาทุกขณะจิตจะต้องถูกตรวจสอบ ถูกฝึก ถูกขัดเกลา ถูกอบรมบ่มเพาะให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องอย่างมั่นคงและยั่งยืน จนไม่เหลือ “ตัว” หรือ “เรื่องส่วนตัว” อะไรที่จะยกขึ้นมาอ้างได้อีกต่อไป และนั่นคือผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว-ตามมาตรฐานของพระพุทธศาสนา

ลองพิจารณาดูเถิดว่า ที่เราจัดการศึกษากันอยู่ในทุกวันนี้-โดยเฉพาะที่จัดกันอยู่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์- ถูกต้องแล้วหรือไม่

——————-

-๙-

——————-

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยก็คือ มหาวิทยาลัยสงฆ์ (รวมทั้งระบบการศึกษาของคณะสงฆ์) ผลิตคนเอาไว้ทำอะไร 

ถ้ามองว่า การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์เป็นโรงงานผลิตสินค้า คำถามคือ จะเอาผลผลิตไปขายที่ไหน ขายให้ใคร หรือเอาไปใช้ทำอะไร 

เป็นคำถามที่ไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจนแน่นอน 

เคยมีคำที่กล่าวกันไว้-ซึ่งอาจหยิบฉวยมาเป็นคำตอบได้ส่วนหนึ่ง คือ “อยู่ก็เป็นศรีแก่พระศาสนา ลาสิกขาก็เป็นศรีแก่สังคม” 

หมายความว่า พระภิกษุสามเณรที่จบการศึกษาได้รับปริญญาแล้ว หากบวชอยู่ต่อไปก็เป็นศักดิ์ศรีของพระศาสนา หากลาสิกขาออกไปเป็นชาวบ้านก็เป็นสมาชิกที่ดีมีคุณภาพของสังคม 

คำตอบนี้ก็ยังไม่ชัดเจนอยู่นั่นเอง-หากจะถามต่อไปว่า ตกลงว่าเราจะผลิตพระภิกษุสามเณรที่มีคุณภาพให้พระศาสนา หรือว่าจะผลิตสมาชิกที่มีคุณภาพให้แก่สังคมกันแน่ หรือว่าจะกั๊กไว้ทั้งสองทาง 

ถ้าดูตามเจตนารมณ์เดิมของการตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็ชัดเจนว่า ต้องการผลิตพระภิกษุสามเณรที่มีคุณภาพให้พระศาสนาเพื่อให้พระภิกษุสามเณรที่มีคุณภาพเหล่านี้ใช้ “คุณภาพ” ที่ได้รับมาทำงานเผยแผ่พระธรรมวินัยต่อไป – นี่คือเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่เดิม

แต่เชื่อได้เลยว่า จนถึงบัดนี้เราไม่เคยตรวจสอบหรือทบทวนกันเลยว่าเราได้ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้นี้หรือเปล่า 

แม้แต่-ถ้าจะตั้งคำถามว่า คณะสงฆ์ของเรามีแผนการที่จะเผยแผ่พระธรรมวินัยไปในหมู่ประชาชนอย่างเป็นการเป็นงาน อย่างจริงจัง และอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้คนไทยมีความรู้หลักคำสอนที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนาอย่างทั่วถึง-บ้างหรือไม่ และถ้ามี ได้นำเอาผู้สำเร็จการศึกษาแล้วมาใช้งานมากน้อยแค่ไหนบ้างหรือไม่ 

ก็เชื่อได้เลยว่า ไม่มีคำตอบ 

การที่คณะสงฆ์หรือผู้รับผิดชอบการพระศาสนาของเราไม่มีแผนการที่จะใช้คนที่ระบบการศึกษาผลิตออกมาได้ไปทำงานพระศาสนา หรือพูดตรงๆ ว่า ไม่ได้เตรียมงานให้คนทำ หรือไม่ใช้คนไปทำงาน-นี้ เป็นปัญหาที่แทบจะไม่เคยมีใครคิดหรือสนใจมาก่อน 

ถามกันตรงๆ ว่า จบนักธรรมชั้นเอกจะให้ไปทำงานอะไร จบประโยค ๙ จะใช้ให้ทำงานอะไร จบปริญญาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์มีแผนจะให้ไปทำงานอะไร 

เราไม่เคยมีคำตอบ 

เหมือนกับผลิตสินค้าออกมา แล้วก็เก็บไว้เฉยๆ ไม่มีตลาดรองรับ

แต่เป็นสินค้าที่เดินได้ สินค้าจะเดินไปไหนๆ ตามที่จะไปได้ หรือจะอยู่นิ่งๆ เราก็ไม่ว่าอะไร ได้แต่นั่งมองดูเฉยๆ ไม่ทำอะไร 

นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว และกำลังเป็นไปอยู่ในปัจจุบัน

——————-

-๑๐-

——————-

โดยสรุปแล้ว ในการจัดการศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา ข้อเสนอของผมมีดังนี้ 

แนวคิด 

———

๑ คำว่า “การศึกษา” ในพระพุทธศาสนามุ่งหมายถึงการทำให้มีขึ้นในชีวิตจริงๆ ไม่ใช่แค่เรียนรู้ ดูออก บอกถูก เขียนได้ 

เช่น ศึกษาเรื่องศีล ไม่ใช่แค่รู้ว่าศีล ๕ คืออะไร ศีล ๘ คืออะไร ว่าคำสมาทานศีลได้ อธิบายได้ว่าศีลแต่ละข้อมีองค์ประกอบอะไรบ้าง 

ไม่ใช่แค่นี้ 

แต่ต้องไปถึงขั้นมีศีล ถือศีล รักษาศีล สมาทานศีลในชีวิตจริง 

ศึกษาเรื่องสมาธิ ไม่ใช่แค่รู้หลักการของสมาธิ รู้วิธีเจริญสมาธิ อธิบายเรื่องสมาธิได้ 

แต่ต้องไปถึงขั้นเจริญสมาธิจนมีสมาธิจริงๆ ในชีวิต 

ศึกษาเรื่องปัญญา ก็ต้องไปถึงขั้นมีปัญญาเข้าใจสภาวธรรมตามความเป็นจริงได้จริง จนสามารถขจัดความหลงงมงายได้จริง

การศึกษาในพระพุทธศาสนาวัดผลสำเร็จกันที่ประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัยในชีวิตจริง แม้อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ อธิบายไม่เป็น แต่ถ้าชีวิตจริงมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา นั่นคือเป็นผู้มีการศึกษา

เวลานี้คณะสงฆ์และมหาวิทยาลัยสงฆ์จัดการศึกษาในแบบที่ทำให้คนเรียนรู้ ดูออก บอกถูก เขียนได้ อธิบายเป็น แต่ไม่ได้เน้นการอบรมปลูกฝังเพื่อทำให้มีให้เป็นขึ้นในชีวิตจริง 

เราวัดผลกันที่ใครสามารถเรียนรู้ ดูออก บอกถูก เขียนได้ อธิบายเป็น แต่เราแทบจะไม่ได้สนใจว่าเขาสามารถทำให้มีให้เป็นขึ้นในชีวิตจริงได้หรือเปล่า 

เป็นการจัดการศึกษาแบบครึ่งเดียว ซ้ำเป็นครึ่งที่เป็นเปลือกเสียอีก ไม่ใช่ครึ่งที่เป็นแก่นแท้ – นี่คือจุดที่ต้องปฏิรูป

๒ สังคมไม่ได้ชื่นชมจริงจังกับการที่พระภิกษุสามเณรหรือชาววัดรู้อะไรเหมือนเขา ทำอะไรได้เหมือนเขา 

แบบนั้นอย่างดีก็แค่ทำให้เขา “ยอมรับ” เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น (บางอย่างเขาอาจรู้สึกสังเวชใจด้วยซ้ำที่เราไปเอาอย่างเขา!) 

สังคมจะ “นับถือ” เราก็ตรงที่เรามีสิ่งที่เขาไม่มี เราทำได้ในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ (ตามแบบแผนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่มีได้ทำได้ในเรื่องที่นอกคำสอนของพระพุทธเจ้า) 

ขอให้สังเกตหลวงพ่อหลวงปู่ที่เป็นพระประพฤติดีปฏิบัติชอบจริงๆ ดูเถิด ท่านเหล่านั้นเทศน์เป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ พูดอังกฤษไม่เป็น แต่คนที่พูดได้หลายๆ ภาษาพากันไปกราบท่าน ไปฟังคำสอนของท่าน 

ท่านเหล่านั้นไม่มีปริญญาสักใบ แต่คนที่จบปริญญาหลายๆ ใบพากันไปกราบท่าน ไปฟังคำสอนของท่าน 

นี่เพราะอะไร 

นี่เป็นการพิสูจน์ยืนยันว่า การเรียนรู้แล้วประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัยที่ถูกต้องในชีวิตจริงนั่นแหละเป็นการศึกษาที่ถูกต้องที่สุด และเป็นการเผยแผ่พระศาสนาที่ประเสริฐที่สุดไปพร้อมๆ กัน

แนวปฏิบัติ

————

๑ จัดการศึกษาให้แก่ชาววัด ทำให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้ในพระธรรมวินัยอย่างทั่วถึง เป็นการศึกษาที่ไม่ติดอยู่กับห้องเรียน ไม่ติดอยู่กับเวลาเรียน เป็นการศึกษาในชีวิตจริง ศึกษาตลอดเวลา ทุกสถานที่ ทุกโอกาส และเป็นการศึกษาตลอดชีวิต 

๒ ให้การศึกษาแก่ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านรู้เข้าใจหลักพระธรรมวินัยที่สมภูมิของชาวพุทธ เริ่มจากผู้คนรอบๆ วัดไปก่อน แล้วค่อยๆ ขยายวงออกไปจนครอบคลุมทุกพื้นที่ เป็นการศึกษาที่ไม่ติดอยู่กับห้องเรียนเช่นเดียวกับที่จัดให้แก่ชาววัด เป็นการศึกษาตามธรรมชาติในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน 

โปรดระลึกว่า ชาวบ้านไม่มีเวลาที่จะมาเข้าห้องเรียน เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรเขาจึงจะมีความรู้หลักคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ จะใช้เทคนิคหรือวิธีการอย่างไร ต้องคิดแล้ว

ข้อสำคัญอย่าทำแบบไฟไหม้ฟาง แต่ต้องทำแบบยั่งยืน ทำตลอดชีวิต

๓ เตรียมงานไว้รองรับคน จบนักธรรมชั้นเอก ประโยค ๙ ปริญญาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ จะให้ไปทำอะไรเพื่อการศึกษาและเผยแผ่พระธรรมวินัย ต้องมีคำตอบเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ผลิตออกมาแล้วปล่อยทิ้งแบบไม่มีเป้าหมาย-อย่างที่กำลังเป็นอยู่

๔ งานทั้งหมด ตั้งเป้าหมายไว้ที่การเตรียมทายาทที่มีคุณภาพเพื่อรักษาและสืบทอดพระพุทธศาสนา ไม่รอให้มาเองหรือเกิดเองตามศรัทธา แต่ต้องออกไปควานหามาหรือสร้างขึ้นมา โดยถือว่าเป็นงานจำเป็นเร่งด่วน 

ถ้าไม่รีบเตรียมทายาท พุทธศาสน์สูญแน่นอน

๕ ต้องย้ำไว้ว่า งานทั้งหมดไม่ใช่กิจกรรม ๗ วันจบ ไม่ใช่งานชั่วคราว แต่เป็นงานที่ต้องทำตลอดชีวิต เป็นงานของชีวิต เป็นหน้าที่ประจำชีวิต ไม่ใช่งานที่เอาไว้ทำยามว่าง 

เมื่อทำงานชนิดนี้ ชีวิตจะไม่มีวันว่างงาน

ในการทำงานเหล่านี้ ไม่ว่าจะใช้เทคนิคหรือวิธีการอย่างไรๆ ก็ตาม สิ่งที่ต้องไม่ลืมและไม่ละเลยก็คือ —

๑ หากเริ่มด้วย-จัดกิจกรรม 

๒ ก็จะต้อง-ทำให้เป็นกิจวัตร

๓ จนกระทั่ง-พัฒนาเป็นวิถีชีวิต

ไม่ใช่จบแค่จัดกิจกรรม

แต่ต้องทำจนเป็นวิถีชีวิตจริง 

ตราบใดที่ยังพัฒนาให้เป็นวิถีชีวิตไม่ได้ 

ตราบนั้นก็ยังถือไม่ได้ว่าการจัดการศึกษาประสบความสำเร็จ 

……………..

แต่งานที่ทุกคนสามารถทำได้เดี๋ยวนี้ 

ไม่ต้องรอให้คณะสงฆ์สั่ง 

ไม่ต้องรอให้ผู้อำนาจหน้าที่สั่ง

ไม่ต้องฝากความหวังไว้กับคนนั้นคนนี้ 

ก็คือ –

๑ ศึกษาหาความรู้ในพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง ทำทุกวันไป

๒ เอาพระธรรมวินัยที่ถูกต้องมาปฏิบัติให้เป็นกิจวัตร และเป็นวิถีชีวิต

๓ บอกกล่าวเผยแพร่ไปยังคนรอบข้างให้สุดความสามรถที่จะทำได้ 

อย่าคิดเป็นอันขาดว่า ไม่ใช่หน้าที่ ไม่มีเวลา ศาสนาไม่ใช่ของข้าคนเดียว

ทำได้ดังนี้ หากพระพุทธศาสนาจะสูญสิ้นไปจากแผ่นดินไทย เราก็จะไม่ต้องเสียใจว่า ได้แต่นั่งมอง หรือได้แต่คิด แต่ไม่ทำอะไรเลย 

แต่สำหรับท่านที่มีตำแหน่งมีหน้าที่อยู่ในคณะผู้บริหารการพระศาสนา ท่านควรทำได้มากกว่าที่กล่าวมานี้-เว้นไว้แต่ท่านจะเอาดีแต่ในทางเอาตัวรอดไปคนเดียว

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒

๑๕: ๐๐

ย้อนกลับ บทความเรื่อง การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *