บาลีวันละคำ

รัฏฐาธิปัตย์ (บาลีวันละคำ 603)

รัฏฐาธิปัตย์

อ่านว่า รัด-ถา-ทิ-ปัด

ประกอบด้วย รัฏฐ + อธิปัตย์

รฏฺฐ” อ่านว่า รัด-ถะ ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง

อธิปัตย์” บาลีเป็น “อาธิปจฺจ” (อะ-ทิ-ปัด-จะ) ประกอบขึ้นจากคำว่า อธิ (ยิ่งใหญ่) + ปติ (เจ้าของ, เจ้านาย) + ณฺย (ปัจจัย แปลว่า การ-, ความ-)

: อธิ + ปติ = อธิปติ (อะ-ทิ-ปะ-ติ)

: อธิปติ + ณฺย = อาธิปจฺจ (ศัพท์นี้เป็น “อธิปเตยฺย” และ“อาธิปเตยฺย” ก็มี) แปลว่า ความเป็นใหญ่, ความเป็นอธิบดี, อำนาจอธิปไตย, ความเป็นเอกราช, อำนาจ (supreme rule, lordship, sovereignty, power)

อาธิปจฺจ” เขียนอิงสันสกฤตเป็น “อาธิปตฺย” เขียนแบบไทยเป็น “อธิปัตย์

คำเทียบ “-จฺจ” บาลี เป็น “-ตฺย” สันสกฤต :

อาทิจฺจ > อาทิตฺย > อาทิตย์

นิจฺจ > นิตฺย > นิตย์

ปณฺฑิจฺจ > ปาณฺฑิตฺย > บัณฑิตย์ (เช่นในคำ-ราชบัณฑิตยสถาน)

สจฺจ > สตฺย > สัตย์

อาธิปจฺจ > อาธิปตฺย > อธิปัตย์

รูปคำ “อธิปัตย์” ใน พจน.42 ยังไม่มีเก็บไว้

รัฏฐ + อธิปัตย์ = รัฏฐาธิปัตย์

ปกติในภาษาไทย คำว่า “รัฏฐ” จะตัด ปฏักออก เป็น “รัฐ” แต่ในกรณีที่มีคำขึ้นด้วยสระมาสมาสต่อท้าย จะคง ปฏัก เป็นตัวสะกด เพื่อให้ สนธิกับสระที่มาต่อท้าย

เทียบคำว่า “รัฏฐาภิปาลโนบาย” (รัด-ถา-พิ-ปา-ละ-โน-บาย) = รัฏฐ + อภิปาลน + อุบาย (แปลว่า วิธีการปกครองบ้านเมือง) ไม่ได้สะกดเป็น “รัฐาภิปาลโนบาย

รัฏฐาธิปัตย์” แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นใหญ่ยิ่งในบ้านเมือง” หมายถึงองค์กรหรือบุคคลที่ทรงอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ

หลักการ :

1. ธรรมชาติของมนุษย์อยู่รวมกันเป็นหมู่ ธรรมชาติของหมู่จะต้องมีผู้นำ และธรรมชาติของผู้นำต้องมีอำนาจจึงจะนำหมู่ได้ อำนาจของผู้นำนั่นเองที่เรียกว่า “รัฏฐาธิปัตย์

2. “รัฏฐาธิปัตย์” อาจเป็นเพียงองค์กรหรือบุคคลที่ได้อำนาจในการปกครองประเทศตามรูปแบบ แต่มีองค์กรหรือบุคคลที่ทรงอำนาจที่แท้จริงอยู่เบื้องหลังก็ได้

3. แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เกณฑ์ตัดสิน “รัฏฐาธิปัตย์” ที่ชอบธรรม ก็คือ ผู้ครองอำนาจต้องใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของประชาชน ถ้าใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ย่อมผิดหลักการและขาดความชอบธรรม แต่จะเข้าข่ายการอยู่อย่างฝูงสัตว์ ซึ่งจ่าฝูงย่อมใช้อำนาจสนองความต้องการส่วนตัวล้วนๆ ตามวิสัยเดรัจฉาน

—————–

(ขอบพระคุณคำถามของท่านอาจารย์ Napalai Suwannathada)

9-1-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย