รัฐมณโฑ (บาลีวันละคำ 602)
รัฐมณโฑ
คำล้อที่ก่อความรู้
มีผู้ถามโดยซื่อว่า คำว่า “รัฐมณโฑ” แปลว่าอะไร
ได้ตอบไปโดยซื่อเช่นกันว่า –
“รัฐ” บาลีเป็น “รฏฺฐ” อ่านว่า รัด-ถะ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง” หรือ “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง) ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง
ในภาษาไทย ท่านให้ตัด ฏ ปฏัก ออก “รฏฺฐ” จึงเขียนเป็น“รัฐ” ถ้าอยู่ท้ายคำ อ่านว่า รัด (เคยมีนิยมพูดกันเป็น รัด-ถะ อยู่บ้าง) ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า รัด-ถะ- เช่นคำว่า “รัฐบาล”
“มณโฑ” บาลีเขียน “มณฺโฑ” อ่านตามสำเนียงบาลีว่า มัน-โด แปลตามศัพท์ว่า –
1. “ส่วนที่เป็นเครื่องประดับ” หมายถึง ส่วนยอด, สาระสำคัญ, หัวกะทิ, ส่วนบนของนมหรือเนย
2. “ผู้กำจัดความมืด” หมายถึง แสงแดด, ความผ่องใส, ความสว่าง
รัฐ + มณโฑ = รัฐมณโฑ หมายถึง คนที่คัดเลือกมาแล้วอย่างดีที่สุดของบ้านเมือง, คนระดับหัวกะทิของแผ่นดิน, คนดีๆ ที่มาช่วยกันทำงานเพื่อบ้านเมือง
ตอบไปแล้ว จึงถามว่า ไปได้ศัพท์นี้มาจากไหน
ผู้ถามก็ตอบโดยซื่อว่า ได้ยินมาจากคนคุยกันพูดว่า “รัฐมนตรี รัฐมณโฑ”
จึงได้รู้ว่า คำนี้ผู้พูดพูดล้อมาจากคำว่า “รัฐมนตรี” คือจับเอาคำว่า “-ตรี” มาคิดเป็น ตรี โท เอก (เช่น ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก) แล้วตัดคำว่า “รัฐมน-” มาต่อกับ “โท” เป็น “รัฐมนโท” (และคงจะมี “รัฐมนเอก” ต่อไป)
ฝ่ายผู้ฟังได้ยินเสียง “มน-โท” ก็นึกไปถึงคำที่คุ้นตา คือ “นางมณโฑ” (เช่นในคำว่า ฑ มณโฑ หน้าขาว) จึงเขียนตามที่คุ้นตา เป็น “รัฐมณโฑ”
ผู้ตอบจึงต้องอธิบายแถมเป็นการแก้เขินว่า –
“รัฐมนตรี” ประกอบด้วย รัฐ + มนตรี
“มนตรี” บาลีเป็น “มนฺตี” (มัน-ตี) แปลตามศัพท์ว่า “คนมีความคิด” ใช้ในความหมายว่า ที่ปรึกษา, อำมาตย์, เสนาบดี (ฝรั่งแปลคำนี้ว่า counselor, minister)
“รัฐมนตรี” แปลตามศัพท์ว่า “คนมีความคิดในบ้านเมือง”
“มนฺตี” ฝรั่งแปลว่า minister
พจนานกรม สอ เสถบุตร บอกไว้ว่า minister แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รับใช้รัฐ” ซึ่งตรงกับคำว่า “รัฐมนตรี”
จะว่าไปแล้ว “รัฐมนตรี” ต้องแปลว่า “ผู้รับใช้รัฐ” จึงจะถูก
พจน.42 บอกไว้ว่า
“รัฐมนตรี : ผู้เป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐบาล รับผิดชอบร่วมกับคณะรัฐมนตรีในนโยบายทั่วไปของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน, ถ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือทบวง ก็เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในกระทรวงหรือทบวงที่ตนว่าการ และรับผิดชอบในการบริหารราชการกระทรวงหรือทบวงนั้นด้วยอีกฐานะหนึ่ง; (คำโบราณ) ที่ปรึกษาราชการบ้านเมืองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์”
“รัฐมณโฑ” ไม่เกี่ยวกับ “รัฐมนตรี” แต่ประการใดทั้งสิ้น
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า :
1- ตกบันไดพลอยโจน อย่าลืมโหนให้ได้สาระ
2- แปลภาษาให้จะจะ อย่าลืมสอบถามที่มาให้ชัดเจน
8-1-57