บาลีวันละคำ

เท่-เท่ห์ (บาลีวันละคำ 604)

เท่-เท่ห์

คำไหนถูก ?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายของคำทั้งสองไว้ดังนี้ –

1. เท่ (คำวิเศษณ์) : เอียงน้อย ๆ (มักใช้แก่การสวมหมวก); โก้เก๋ เช่น แต่งตัวเท่

2. เท่ห์ (คำนาม) : ตัว. (ป., ส. เทห ว่า ร่างกาย)

เท่” พจน.42ไม่ได้บอกว่าเป็นภาษาอะไร สันนิษฐานว่าเป็นคำเดียวกับ “เท” ที่หมายถึง เอียงหรือตะแคงไปข้างหนึ่ง เช่น เรือเท พื้นเท ถ้าเป็นคำกริยาก็หมายถึงตะแคงหรือเอียงภาชนะเพื่อให้สิ่งที่อยู่ในนั้นไหลลงไปหรือออกไป

ส่วน “เท่ห์” พจน.42 (มีรูปคำ “เทห-” และ “เทห์” ด้วย) บอกว่าเป็นบาลี (ป.) และสันสกฤต (ส.)

เท่ห์” บาลีเป็น “เทห” อ่านว่า เท-หะ แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่ก่อกุศลและอกุศล” หมายถึง อัตภาพ, ร่างกาย, ตัว, องค์, ร่าง, กาย (the body)

เป็นอันว่า ถ้าจะให้หมายถึง โก้เก๋ = หรูหรางามเข้าที (มักใช้แก่กิริยาแต่งตัวหรือการแสดงกิริยาอื่น ๆ) ต้องใช้คำว่า “เท่” ไม่ใช่ “เท่ห์” (ไม่ต้องมี ห์) เพราะ “เท่ห์” คือ body แต่ “เท่” คือ lovely, handsome, charming หรือ smart

เท่ > โก้เก๋ > หรูหรางามเข้าที บาลีว่าอย่างไร ?

คำบาลีต่อไปนี้มีความหมายตรงกับ “เท่

(แปลแบบลำลองพอให้มองเห็นภาพ)

1. อภิรูป (อะ-พิ-รู-ปะ) – โฉมสะคราญ

2. ทสฺสนีย (ทัด-สะ-นี-ยะ) – ดึงดูดดวงตา

3. มนาป (มะ-นา-ปะ) – เอิบอิ่มใจ

4. ปาสาทิก (ปา-สา-ทิ-กะ) – ชวนชื่น

5. ปโลภก (ปะ-โล-พะ-กะ) – ชวนหลงใหล

6. จารุ (จา-รุ) – เฉิดฉาย

7. รมฺม (รำ-มะ) – มีชีวิตชีวา

8. หทยงฺคม (หะ-ทะ-ยัง-คะ-มะ) – ดึงดูดดวงใจ

9. มนุญฺญ (มะ-นุน-ยะ) – ชื่นใจ

: ต่อให้เท่ก็ขาดทุน ถ้าไม่เอาบุญเป็นกำไร

——————–

(แอบหยิบมาขยาย จาก – “เท่” ดีไหม…หรือจะ “เท่ห์” ดี – คำนำเสนอของ Sirirat Mongkolsang)

10-1-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย