ขอแรง

ขอแรง
——
ใครมีหนังสือ ประชุมพระราชนิพนธ์ภาษาบาลีในรัชกาลที่ ๔ บ้างครับ
เป็นหนังสือรวมพระราชนิพนธ์ภาษาบาลีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ (ชื่อหนังสืออาจเรียกเป็นอย่างอื่น แต่หมายถึงเล่มนี้แหละ)
มีญาติมิตรทางเฟซบุ๊กถามว่า คาถาที่ขึ้นต้นว่า อริโย อุตฺตโม มคฺโค นี้ คือคาถาอะไร และคาถาเต็มบทว่าอย่างไร
ข้อมูลเบื้องต้น เห็นว่าน่าจะเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผมมีหนังสือประชุมพระราชนิพนธ์ภาษาบาลีในรัชกาลที่ ๔ อยู่เล่มหนึ่ง ไม่แน่ใจว่าได้รับอภินันทนาการมาแต่ท่านผู้ใด ในจำนวน ๓ ท่าน คือ –
๑ พระเดชพระคุณเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (จุนท์) วัดบวรนิเวศวิหาร หรือ
๒ ท่านศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ หรือ
๓ ท่านอาจารย์ ดร.ชัชพล ไชยพร แห่งคณะนิติศาสตร จุฬาฯ
ท่านแรกเป็นพระมหาเถระที่เผอิญสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้รุ่นเดียวกันในสมัยที่ท่านเจ้าประคุณยังเป็นพระมหาจุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ท่านเจ้าประคุณเรียกใช้ผมในกิจของคณะสงฆ์เป็นครั้งคราว (ใช้เพื่อนร่วมรุ่น ไม่ต้องวุ่นเรื่องความเกรงใจ) ผมก็เลยได้หนังสือดีๆ มาหลายเล่ม อาจจะรวมทั้งเล่มนี้ด้วย
ส่วนอีกสองท่านนั้นมีเมตตาธรรมน้ำใจส่งหนังสือดีๆ ให้ผมอยู่เนืองๆ ซึ่งก็อาจจะรวมทั้งเล่มนี้ด้วยก็ได้
ปกติผมจะเก็บหนังสือไว้ในที่ซึ่งผมจะรู้ว่าอยู่ตรงไหน แต่เมื่อปีที่แล้วบรรดาลูกเขาเห็นสมควรปรับปรุงบ้านให้พ่อแม่อยู่สบายขึ้น ก็พากันมาโยกย้ายนั่นโน่นนี่ภายในบ้านเป็นการใหญ่ รวมทั้งบรรดาหนังสือทั้งปวงด้วย
กิจอันใดที่ลูกทำได้ดีแล้ว ผมถือคติว่าปล่อยให้เขาจัดการเองเต็มที่ ไม่เข้าไปเกะกะ
ดังนั้น พอปรับปรุงบ้านเสร็จ (รวมทั้งจัดที่นั่งทำงานให้ใหม่ด้วย) หนังสือต่างๆ ก็เลยถูกย้ายสังกัดไปด้วย
ที่เรียกกลับสังกัดเดิมได้ก็มี ที่ยังหาตัวไม่พบก็มาก
รวมทั้งประชุมพระราชนิพนธ์ภาษาบาลีในรัชกาลที่ ๔ เล่มนี้ด้วย
———–
เมื่อได้รับคำถามข้างต้น ผมก็บอกท่านผู้ถามไปว่า ขอเวลาสักอึดใจพระพุทธ แล้วผมก็ลงมือพลิกกองและกล่องหนังสืออยู่หลายพักจนเหงื่อตก
เมื่อมีผู้ไต่ถามเกี่ยวกับภาษาบาลี ผมจะเกิดความรู้สึก ๒ อย่าง คือ
๑ รู้สึกเป็นเกียรติ
๒ รู้สึกเป็นหน้าที่
เรื่องไหนบอกได้ตอบได้ด้วยความรู้ที่มีอยู่ ก็ตอบไปทันที
เรื่องไหนที่พอรู้แหล่งสืบค้น เช่นเรื่องในคัมภีร์ทั้งหลาย ก็จะรีบตรวจสอบหาคำตอบให้
เรื่องไหนที่ยังไม่รู้ (ส่วนมากที่ถามกันมาเป็นเรื่องที่ผมยังไม่รู้ครับ) ผมก็จะได้อาศัยคำถามนั้นเป็นทางศึกษาหาความรู้ไปด้วย
ผมจึงมีความสุขมากๆ ในกระบวนการหาคำตอบ ไม่เคยรู้สึกว่าเป็นภาระ เป็นการรบกวนแต่ประการใด เพราะผมถือว่านี่เป็น “ทาง” ของผม
เหมือนคนเรียนมาทางแพทย์ การได้รักษาคนเจ็บป่วยย่อมเป็น “ทาง” ของหมอนั่นแล
ผมอยากให้ท่านที่เรียนมาทางบาลีคิดเหมือนผม คือขอให้รู้สึกเป็นเกียรติและรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องหาความรู้และให้ความรู้เท่าที่มีแก่ผู้ที่บ่ายหน้ามาหาเราโดยไม่บ่ายเบี่ยงเกี่ยงงอน อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยกัน ใครขัดข้องอะไรก็บอกกันและช่วยกันให้เต็มที่
และ-อย่างที่ผมเคยขอร้องอยู่เนืองๆ-สอบได้ประโยคสูงสุดแล้วก็อย่าเสวยวิมุตติสุขแต่เพียงลำพัง ช่วยกันใช้ความรู้อำนวยประโยชน์ให้แก่สังคมตาม “ทาง” ของเราด้วย
———–
ผมยังหาหนังสือประชุมพระราชนิพนธ์ภาษาบาลีในรัชกาลที่ ๔ ไม่พบ
ใครมีหนังสือเล่มนี้อยู่ใกล้มือบ้างครับ
ถ้ามี ขอแรงช่วยเอามาเปิดค้นหาคาถา อริโย อุตฺตโม มคฺโค ให้ที
ถ้าพบ ก็จะได้คำตอบไปให้ท่านผู้ถาม
ถ้าไม่พบ ก็จะได้ความรู้ว่าคาถานี้ไม่ใช่พระราชนิพนธ์
หรือถ้าแน่ใจว่าใช่ ก็ยังได้ความรู้อยู่นั่นเองว่า หนังสือประชุมพระราชนิพนธ์ภาษาบาลีในรัชกาลที่ ๔ ยังอัญเชิญพระราชนิพนธ์ภาษาบาลีมาประชุมไม่ครบหมด
ผมหวังว่าในบรรดา “เพื่อน” ทางเฟซบุ๊ก รวมทั้งท่านที่ได้อ่านโพสต์นี้ จะต้องมีสักท่านหนึ่งที่มีหนังสือเล่มนี้อยู่ใกล้มือ
ขอแรงหน่อยนะครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๗ ตุลาคม ๒๕๕๘