บาลีวันละคำ

สืบสันตติวงศ์ (บาลีวันละคำ 4,645)

สืบสันตติวงศ์ 

หลายคนยังงงไม่เลิก

เมื่อใดก็ตามที่กล่าวถึงการสืบราชสมบัติ คำศัพท์ที่ใช้ว่า “สืบสัน-วงศ์” ตรงที่เว้น-ไว้นั้น คนทั้งหลายมักจะใช้ว่า “สืบสันติวงศ์”

โปรดทราบว่า “สืบสันติวงศ์” เป็นคำผิด

คำที่ถูกต้องคือ “สืบสันตติวงศ์

สันตติวงศ์” 

ไม่ใช่ “สันติวงศ์”

สันตติ” กับ “สันติ” เป็นคนละคำกัน

(๑) “สันตติ” 

บาลีเขียน “สนฺตติ” (-ตติ ต เต่า 2 ตัว) อ่านว่า สัน-ตะ-ติ รากศัพท์มาจาก –

(1) สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, กับ, ดี) + ตา (ธาตุ = สืบต่อ) + ติ ปัจจัย,แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สนฺ), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ตา (ตา > )

: สํ > สนฺ + ตา = สนฺตา + ติ = สนฺตาติ > สนฺตติ แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่สืบต่อด้วยดี

(2) สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, กับ, ดี) + ตนฺ (ธาตุ = แผ่, ขยาย) + ติ ปัจจัย,แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สนฺ), ลบที่สุดธาตุ (ตนฺ > )

: สํ > สนฺ + ตนฺ = สนฺตนฺ + ติ = สนฺตนฺติ > สนฺตติ แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่ขยายออกไปโดยชอบ

สนฺตติ” (อิตถีลิงค์) หมายถึง – 

(1) ความสืบต่อ, การต่อเนื่อง, ระยะยาว, การยังมีชีวิตอยู่ (continuity, duration, subsistence)

(2) เชื้อสาย (lineage)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สันตติ : (คำนาม) ความสืบต่อ เช่น สืบสันตติวงศ์. (ป.; ส. สํตติ ว่า ลูกหลาน).”

ความหมายในทางสังคม คือ การสืบทอดตำแหน่งโดยผู้ที่เป็นเชื้อสาย คือจากพ่อสู่ลูก สู่หลาน อันเป็นคำที่นำไปใช้เป็นคำศัพท์ว่า “สืบสันตติวงศ์

(๒) “สันติ” 

บาลีเขียน “สนฺติ” (-ติ ต เต่า ตัวเดียว) อ่านว่า สัน-ติ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ติ ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ (สมฺ > สนฺ

: สมฺ + ติ = สมฺติ > สนฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่กิเลสสงบ” หมายถึง ความราบรื่น, ความสงบ (tranquillity, peace)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สันติ : (คำนาม) ความสงบ เช่น อยู่ร่วมกันโดยสันติ. (ป.; ส. ศานฺติ).”

บาลี “สนฺติ” สันสกฤตเป็น “ศานฺติ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศานฺติ : (คำนาม) ความสงบ; บรมสุข; tranquillity; felicity.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศานฺติ : (คำนาม) ความสงบ, ความระงับ. (ส.; ป. สนฺติ).”

ขยายความ :

คำว่า “สันตติ” ความหมายในทางธรรม คือ การเกิดดับต่อเนื่องกันไปโดยอาการที่เป็นปัจจัยส่งผลแก่กัน เช่น ร่างกายตอนเป็นเด็กดับไปแล้ว แต่ส่งผลสืบเนื่องมาเป็นร่างกายในปัจจุบัน กล่าวเป็นหลักว่า “สันตติปิดบังอนิจจัง” = เพราะมีการสืบต่อจึงหลงผิดว่าเที่ยง

คำว่า “สันติ” ความหมายในทางธรรมขั้นสูงสุด หมายถึง นิพพาน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “สันติ” ไว้ว่า –

…………..

สันติ : ความสงบ, ความระงับดับหายหมดไปแห่งความพลุ่งพล่านเร่าร้อนกระวนกระวาย, ภาวะเรียบรื่นไร้ความสับสนวุ่นวาย, ความระงับดับไปแห่งกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดความเร่าร้อนว้าวุ่นขุ่นมัว, เป็นไวพจน์หนึ่งของ นิพพาน.

…………..

สันตติ” กับ “สันติ” เขียนคล้ายกัน เสียงคล้ายกัน แต่เป็นคนละคำกัน ความหมายต่างกัน

สันตติ” = สืบทอด, เชื้อสาย 

สันติ” = ความสงบ, ความราบรื่น 

สืบสันตติวงศ์” กับ “สืบสันติวงศ์” คนละเรื่องกัน 

สืบสันตติวงศ์” มี 

“สืบสันติวงศ์” ไม่มี 

แม้จะลากเข้าความไปว่า “สืบทอดตำแหน่งโดยสงบราบรื่น” ก็ยังเป็นคนละเรื่องกันอยู่นั่นเอง 

ความแตกต่างระหว่าง “สันตติ” กับ “สันติ” นั้น ความรู้ความเข้าใจระดับธรรมดา ๆ ก็สามารถแยกแยะได้ไม่ยาก 

เมื่อต้องใช้ว่า “สืบสันตติวงศ์” แต่คนทั้งหลายมักจะใช้ว่า “สืบสันติวงศ์” จึงไม่ใช่เพราะไม่รู้ หากแต่เพราะไม่ใส่ใจที่จะรู้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สอนคนให้รู้จักหาสตางค์ ดีมาก

: สอนคนให้รู้จักหาสติ ดีที่สุด

#บาลีวันละคำ (4,645)

1-3-68 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *