บาลีวันละคำ

นรีชรา (บาลีวันละคำ 4,646)

นรีชรา

แน่ใจหรือว่าจะอยู่ไปจนได้เป็น

อ่านว่า นะ-รี-ชะ-รา

ประกอบด้วยคำว่า นรี + ชรา

(๑) “นรี

อ่านว่า นะ-รี รูปคำเดิมมาจาก นร + อี ปัจจัย 

(ก) “นร” บาลีอ่านว่า นะ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) นี (ธาตุ = นำไป) + อร ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบ อี ที่ นี (นี > )

: นี > + อร = นร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้นำไป” (2) “ผู้นำไปสู่ความเป็นใหญ่” 

(2) นรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป; นำไป) + (อะ) ปัจจัย

: นรฺ + = นร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ดำเนินไปสู่ภพน้อยภพใหญ่” (2) “ผู้อันกรรมของตนนำไป” (3) “ผู้ถูกนำไปตามกรรมของตน” 

นร” (ปุงลิงค์) ความหมายที่เข้าใจกันคือ “คน” (man) (ปกติไม่จำกัดว่าหญิงหรือชาย)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความไว้ว่า in poetry esp. a brave, strong, heroic man (โดยเฉพาะในบทร้อยกรอง หมายถึงคนผู้กล้าหาญ, แข็งแกร่ง, วีรบุรุษ)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

นร– : (คำนาม) คน, ชาย, เพศหญิงใช้ว่า นรี หรือ นารี, นิยมใช้เป็นคำหน้าสมาส เช่น นรเทพ นรสิงห์. (ป., ส.).”

(ข) นร + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: นรฺ + อี = นรี แปลว่า “นระเพศหญิง” หมายถึง ผู้หญิง (woman)

(๒) “ชรา

อ่านว่า ชะ-รา รากศัพท์มาจาก ชรฺ (ธาตุ = เสื่อมวัย, แก่) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ชรฺ + = ชร + อา = ชรา แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เสื่อม” “ภาวะเป็นเหตุให้เสื่อมเป็นคนแก่” หมายถึง ความเสื่อมถอย, ความชรา, ทุพพลภาพ (decay, decrepitude, old age)

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชรา : (คำวิเศษณ์) แก่ด้วยอายุ, ชำรุดทรุดโทรม. (ป., ส.).” 

นรี + ชรา = นรีชรา แปลโดยประสงค์ว่า “หญิงชรา” หรือ “หญิงแก่

อภิปรายขยายความ :

นรีชรา” เป็นรูปคำบาลี แต่เป็นคำประสมแบบไทย คือยืมคำบาลีมาใช้ และใช้ตามความหมายแบบไทย

นรีชรา” ถ้าเกณฑ์ให้เป็นภาษาบาลี ก็ต้องแปลว่า “ความแก่ของหญิง” ไม่ได้หมายถึง “หญิงแก่” แต่หมายถึง “ความแก่

ถ้าเอาคำว่า “หญิงแก่” ไปออกข้อสอบบาลี ให้นักเรียนแปลเป็นภาษาบาลี ถ้านักเรียนแปลเป็นบาลีว่า “นรีชรา” แบบนี้คือสอบตก

ชรา” ในภาษาบาลีเป็นคำนาม แปลว่า “ความแก่” ไม่ได้หมายถึง “คนแก่” แต่ในภาษาไทย เราเอามาใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง คนหรือสิ่งใด ๆ ก็ตามที่ “แก่ด้วยอายุ, ชำรุดทรุดโทรม” ดังที่พจนานุกรมฯ บอกไว้

คำบาลี ถ้าหมายถึงคนแก่หรือสิ่งที่ชำรุดทรุดโทรม ต้องเป็น “ชิณฺณ” (ชิน-นะ) หรือ “ชริต” (ชะ-ริ-ตะ) แปลว่า เสื่อมโทรม, ชรา, แก่เฒ่า, หมดกำลัง, อ่อนแอ (decayed, broken up, frail, decrepit, old)

โปรดเปรียบคำแปลภาษาอังกฤษ:

ชรา = decay, decrepitude, old age

ชิณฺณ = decayed, broken up, frail, decrepit, old

หญิงแก่” ถ้าจะใช้รากศัพท์ว่า ชรฺ เหมือนคำว่า “ชรา” ภาษาบาลีต้องเป็น “ชิณฺณา นรี” หรือ “ชริตา นรี” (ชิณฺณนรี หรือ ชริตนรี) ไม่ใช่ “นรีชรา” อย่างที่ใช้ในภาษาไทย

คนเรียนบาลีจะได้เปรียบตรงนี้ คือ เห็นคำไทยว่า “นรีชรา” ก็เข้าใจดีว่าใช้ได้ ไม่ด่วนตัดสินว่าผิด เพราะนี่คือใช้อย่างไทย แต่พร้อมกันนั้นก็รู้ว่าถ้าใช้อย่างบาลีต้องเป็นอย่างไร

ใช้อย่างบาลีต้องเป็นอย่างไร-ตรงนี้แหละที่คนไม่เรียนบาลีจะไม่รู้ นี่คือประโยชน์อย่างหนึ่งของการเรียนบาลี

…………..

แถม :

ชราชชฺชริตา โหนฺติ

หตฺถปาทา อนสฺสวา

ยสฺส โส วิหตตฺถาโม

กถํ ธมฺมํ จริสฺสติ.

สังขารที่แก่หง่อม

มือเท้าไม่ยอมเชื่อฟัง

เรี่ยวแรงลดหมดกำลัง

จะเอาอะไรไปปฏิบัติธรรม?

ที่มา: จักขุบาลเถรวัตถุ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่แน่ใจว่าจะได้อยู่ไปจนหลังโกงเป็นกุ้ง

: อย่ารอไปจนถึงวันพรุ่งจึงจะทำบุญ

#บาลีวันละคำ (4,646)

2-3-68 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *