อธิกวาร (บาลีวันละคำ 2,930)
อธิกวาร
ปีที่มีแรม 15 ค่ำ เดือน 7
อ่านว่า อะ-ทิ-กะ-วาน
ประกอบด้วยคำว่า อธิก + วาร
(๑) “อธิก”
บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-กะ มาจาก อธิ + ก
“อธิ” เป็นคำอุปสรรค นักเรียนบาลีท่องจำกันมาว่า “อธิ = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ”
“ก” (กะ) เป็นคำลงท้ายศัพท์ (ด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเพื่อความสละสลวยในเวลาเปล่งเสียง) เรียกว่า “ก สกรรถ” (อ่านว่า กะ-สะ-กัด) เมื่อลงแล้วคำนั้นยังคงมีความหมายเท่าเดิม
“ก” ตัวนี้บางทีอาจเรียกว่า ก-ปัจจัย
: อธิ + ก = อธิก แปลตามศัพท์ว่า “เป็นไปยิ่ง” หมายถึง ยิ่ง, พิเศษ, ทับ, เหนือกว่า (exceeding, extra-ordinary, superior)
“อธิก” ถ้าใช้นำหน้าคำที่นับเป็นจำนวนได้ มีความหมายว่า เพิ่มขึ้นอีก, รวมด้วย, บวก (in addition, with an additional, plus)
“คำที่นับเป็นจำนวนได้” หมายถึงคำที่เป็น “สังขยา” (คำนับจำนวน) เช่น “สต” (100) “สหสฺส” (1,000)
ตัวอย่าง: ทส (10) + อธิก + สต (100) = ทสาธิกสต แปลว่า “ร้อยเพิ่มขึ้นอีกสิบ” = 110
ในที่นี้ “อธิก” นำหน้าคำนามธรรมดา คือ “วาร” (ไม่ใช่ “คำที่นับเป็นจำนวนได้”)
(๒) “วาร”
บาลีอ่านว่า วา-ระ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาตุ = ผูก, พัน, มัด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ ว-(รฺ) เป็น อา (วรฺ > วาร)
: วรฺ + ณ = วรณ > วร > วาร แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่ผูกไว้” หมายถึงเวลาที่กำหนดไว้ตามเหตุการณ์นั้นๆ หมายถึง วาระ, โอกาส, เวลา, คราว (turn, occasion, time, opportunity)
อธิก + วาร = อธิกวาร แปลว่า “วันอันยิ่ง” หมายถึง วันที่มากขึ้นจากวันตามปกติ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อธิกวาร : (คำนาม) วันที่เพิ่มขึ้นในปีจันทรคติ คือ ในปีนั้นเดือน ๗ เป็นเดือนเต็ม มี ๓๐ วัน. (ป.).”
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “อธิกวาร” เป็นอังกฤษว่า the leap day added in certain lunar years
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “อธิกวาร” (Adhikavāra) เป็นอังกฤษว่า intercalary lunar day; (a year with) an extra day (15th of the seventh waning moon).
ทำความเข้าใจอย่างง่ายๆ :
คำที่มี “อธิก” นำหน้า เกี่ยวกับวันเดือนปี มี 3 คำ คือ –
(๑) อธิกมาส : “เดือนเกิน” = ปีที่มีเดือน 8 เพิ่มขึ้นอีกเดือนหนึ่ง
หมายความว่า ปีนั้นเดือนทางจันทรคติ คือเดือนอ้าย เดือนยี่ เดือน 3 เดือน 4 … หรือ “เดือนไทย” จะมี 13 เดือน แทนที่จะเป็น 12 เดือนตามปกติ โดยท่านตกลงกันว่าให้เพิ่มเดือน 8 เป็น 2 เดือน เรียกว่าแปดต้น-แปดหลัง (เดือนแปดหลัง ในปฏิทินจะเขียนเลข 8 ซ้อนกัน 2 ตัว)
“อธิกมาส” นี้คนรุ่นใหม่เริ่มจะไม่คุ้นหรือกำลังจะไม่รู้จัก เพราะในชีวิตประจำวันเราใช้เดือนทางสุริยคติ คือเดือนมกรา กุมภา … ไม่ได้ใช้เดือนทางจันทรคติ หรือเดือนไทย คือเดือนอ้าย เดือนยี่ … เหมือนกับคนไทยในอดีต
(๒) อธิกสุรทิน : “วันที่-เกิน” = ปีที่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์
หมายความว่า ปกติเดือนกุมภาพันธ์จะหมดแค่วันที่ 28 ไม่มีวันที่ 29 30 31 เหมือนเดือนอื่น แต่ปี “อธิกสุรทิน” เดือนกุมภาพันธ์จะมีวันที่ 29 เพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง
“อธิกสุรทิน” นี่คนรุ่นใหม่ค่อนข้างคุ้น เพราะเกี่ยวกับ “วันที่” ซึ่งใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน
(๓) อธิกวาร : “วันเกิน” = ปีที่เดือน 7 มีแรม 15 ค่ำ
หมายความว่า ปกติเดือนไทยที่เป็นเดือนเลขคู่ คือ เดือนยี่ (เดือน 2) เดือน 4 เดือน 6 เดือน 8 เดือน 10 เดือน 12 วันสิ้นเดือนจะมีถึงแรม 15 ค่ำ คือมีเดือนละ 30 วัน
ส่วนเดือนไทยที่เป็นเดือนเลขคี่ คือ เดือนอ้าย (เดือน 1) เดือน 3 เดือน 5 เดือน 7 เดือน 9 เดือน 11 วันสิ้นเดือนจะมีแค่แรม 14 ค่ำ คือมีเดือนละ 29 วัน
แต่ถ้าปีไหนมี “อธิกวาร” ปีนั้นเดือนไทยที่เป็นเดือนเลขคี่เดือนใดเดือนหนึ่งจะเพิ่มวันสิ้นเดือนให้มีถึงแรม 15 ค่ำ คือเป็นเดือนที่มี 30 วันเหมือนเดือนเลขคู่ขึ้นอีกเดือนหนึ่ง และท่านตกลงกันว่าให้เพิ่มในเดือน 7 (ทำนองเดียวกับ “อธิกมาส” ที่ให้เพิ่มเดือนขึ้นอีกเดือนหนึ่ง ท่านก็ตกลงกันว่าให้เพิ่มเดือน 8)
เพราะฉะนั้น ปีที่มี “อธิกวาร” เดือน 7 ซึ่งปกติจะสิ้นเดือนเพียงแค่แรม 14 ค่ำ ก็จะเพิ่มแรม 15 ค่ำขึ้นอีกวันหนึ่ง เรียกว่า “อธิกวาร” = วันยิ่ง วันเพิ่ม หรือวันเกิน
“อธิกวาร” นี้ กล่าวได้ว่าคนไทยรุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้ว เพราะในชีวิตประจำวันเราใช้วันที่ทางสุริยคติ ไม่ได้ใช้ขึ้น-แรมทางจันทรคติ เหมือนกับคนไทยในอดีต
“อธิกมาส” “อธิกสุรทิน” “อธิกวาร” จะมีในปีไหน เป็นไปตามการคำนวณทางโหราศาสตร์แล้วประกาศออกมาเป็นทางการเป็นปีๆ ไป
…………..
ปีพุทธศักราช 2563 ปฏิทินของทางราชการประกาศว่าเป็นปี “อธิกวาร” ดังนั้น เดือน 7 ทางจันทรคติซึ่งตามปกติจะสิ้นเดือนในวันแรม 14 ค่ำ ก็จะเพิ่มวันสิ้นเดือนเป็นวันแรม 15 ค่ำ
ปีพุทธศักราช 2563 แรม 15 ค่ำ เดือน 7 ตรงกับวันที่ 20 มิถุนายน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่ว่าวันจะเพิ่มหรือไม่เพิ่ม
: อย่าลืมเติมความดีให้เต็ม
#บาลีวันละคำ (2,930)
20-6-63