บาลีวันละคำ

กตัญญูกตเวที (บาลีวันละคำ 1,186)

กตัญญูกตเวที

หญ้าปากคอก

กตัญญูกตเวที” เป็นคำ 2 คำ คือ “กตัญญู” คำหนึ่ง “กตเวที” คำหนึ่ง

(๑) “กตัญญู” (กะ-ตัน-ยู)

บาลีเขียน “กตญฺญู” รากศัพท์มาจาก กต (คุณที่ผู้อื่นทำแก่ตน) + ญา (ธาตุ = รู้) + รู ปัจจัย, ซ้อน ญฺ, ลบสระที่สุดธาตุ (ญา > ) และลบ ที่ รู (รู > อู)

: กต + ญฺ + ญา = กตญฺญา > กตญฺญ + รู > อู : กตญฺญ + อู = กตญฺญู แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รู้อุปการะที่คนอื่นทำแล้วแก่ตนโดยปกติ” (2) “ผู้มีอันรู้อุปการะที่คนอื่นทำแล้วเป็นปกติ

เงื่อนไขทางปฏิบัติ :

๑ อุปการะ คือประโยชน์หรือผลดีที่ได้รับจากคนอื่นหรือแม้จากสิ่งอื่น หมายความว่าประโยชน์หรือผลดีนั้นไม่จำเพาะที่มาจากคนเสมอไป แม้ที่มาจากสิ่งที่ไม่ใช่คนก็ต้องรู้ด้วย

๒ อาการที่รู้นั้นต้องรู้อยู่เป็นปกติ คือรู้อยู่เป็นนิสัย ไม่ใช่รู้เป็นบางครั้งบางคราว หรือยามปกติไม่รู้ แต่พอไม่ปกติ เช่นมีทุกข์มีปัญหาจึงนึกขึ้นมาได้

(๒) “กตเวที” (กะ-ตะ-เว-ที)

รากศัพท์มาจาก กต (คุณที่ผู้อื่นทำแก่ตน) + วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณี ปัจจัย, ลบ ที่ ณี (ณี > อี), แผลง อิ ที่ วิทฺ เป็น เอ (วิทฺ > เวทฺ)

: กต + วิทฺ = กตวิท > กตเวท + ณี > อี : กตเวท + อี = กตเวที แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วทำให้ปรากฏ” (2) “ผู้ประกาศอุปการคุณที่ท่านทำแล้ว

เงื่อนไขทางปฏิบัติ :

๑ กตเวที เป็นขั้นตอนต่อจากกตัญญู คือ กตัญญูเป็นขั้นรู้ แต่กตเวทีเป็นขั้นประกาศหรือแสดงออกให้ปรากฏ ไม่ใช่เพียงแค่รู้อยู่ในใจตน

๒ การ “ประกาศ” หรือ “ทำให้ปรากฏ” อาจทำได้หลายวิธี เช่นเที่ยวบอกกล่าวแก่คนทั้งหลาย หรือเขียนหนังสือสรรเสริญคุณเป็นต้น แต่วิธีที่ชัดเจนและตรงตัวที่สุดคือลงมือกระทำการที่เป็นประโยชน์หรือเป็นผลดีแก่ผู้ที่ (หรือสิ่งที่-) เรารู้อยู่ว่ามีคุณ การลงมือทำนั้นแม้ไม่ต้องพูดอะไรเลยก็เป็นการประกาศที่ชัดแจ้งที่สุดอยู่ในตัวเอง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กตญฺญูกตเวที”  ไว้ดังนี้ –

(1) กตญฺญู :  acknowledging what has been done (to one), grateful (รับรู้สิ่งที่คนอื่นทำ (แก่ตน), รู้สึกขอบคุณ)

(2) กตเวที : mindful, grateful (รู้คุณ, ขอบคุณ, สนองคุณ)

(3) กตญฺญูกตเวที : grateful and mindful of benefits (รู้จักบุญคุณและสนองคุณที่ผู้อื่นทำไว้)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปลไว้ดังนี้ –

(1) กตัญญู (Kataññū) grateful; obliging; knowing the done favour.

(2) กตเวที (Katavedī) one who reciprocates the done favour.

(3) กตัญญูกตเวที (Kataññūkatavedī) one who is thankful for benefits received and reciprocates them.

คำว่า “กตเวที” นี้ ก็คือที่เราถอดความเอามาพูดกันว่า “ตอบแทนคุณ

กตัญญูกตเวที” เป็นคำที่คนไทยรู้จักมักคุ้นกันดี แต่บางทีอาจจะไม่เคยได้นึกถึงความหมายที่ซ่อนแฝงอยู่ในภาษา

: รู้คุณ เป็นคนครึ่งคน

: รู้คุณแล้วประกาศคุณ เป็นคนเต็มคน

28-8-58

ต้นฉบับ