กรรมาธิการ (บาลีวันละคำ 1,229)
กรรมาธิการ
อ่านว่า กำ-มา-ทิ-กาน (ไม่ใช่ กัน-มา–)
ประกอบด้วย กรรม + อธิการ
(๑) “กรรม”
บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work)
“กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กรรม” ในภาษาไทยไว้ว่า –
(๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.
(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.
(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.
(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.
ในที่นี้ “กรรม” ใช้ตามความหมายในข้อ (๑)
(๒) “อธิการ”
บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-กา-ระ ประกอบด้วย อธิ (ยิ่ง) + การ (การกระทำ) = อธิการ แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำอันยิ่ง” หมายถึง การเอาใจใส่หรือติดตาม, การให้บริการ, การบริหาร, การดูแลควบคุม, การจัดการ, การช่วยเหลือ (attendance, service, administration, supervision, management, help) (ดูเพิ่มเติมที่ “อธิการ” บาลีวันละคำ (1,211) 22-9-58)
กรรม + อธิการ = กรรมาธิการ
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “กรรมาธิการ” เป็นอังกฤษว่า member of a commission; a commissioner.
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล commissioner เป็นบาลีว่า –
(1) adhikārī อธิการี (อะ-ทิ-กา-รี) = ผู้ทำกิจที่สำคัญ
(2) niyojita นิโยชิต (นิ-โย-ชิ-ตะ) = ผู้ประกอบกิจ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรรมาธิการ : (คำนาม) บุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเลือกและตั้งเป็นคณะกรรมาธิการ เพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของแต่ละสภา แล้วรายงานต่อสภา คณะกรรมาธิการมี ๒ ประเภท คือ คณะกรรมาธิการสามัญ และคณะกรรมาธิการวิสามัญ คณะกรรมาธิการสามัญประกอบด้วยบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกของสภาล้วน ๆ คณะกรรมาธิการวิสามัญประกอบด้วยบุคคลผู้เป็นสมาชิกและบุคคลที่มิได้เป็นสมาชิกของสภารวมกัน หรือบุคคลที่มิได้เป็นสมาชิกของสภาทั้งหมดที่สภาเลือกและตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ.”
ความดี : ไม่ต้องรอให้มีหน้าที่ก็ทำได้
10-10-58