พุทธพาณิชย์ (บาลีวันละคำ 926)
พุทธพาณิชย์
(บาลีไทย)
อ่านว่า พุด-ทะ-พา-นิด
ประกอบด้วย พุทธ + พาณิชย์
(๑) “พุทธ”
บาลีเขียน “พุทฺธ” อ่านว่า พุด-ทะ
โปรดสังเกตจุดใต้ ทฺ ซึ่งทำให้ ทฺ เป็นตัวสะกด
ในบาลีถ้าไม่มีจุดใต้ ท จะต้องอ่านว่า พุ-ทะ-ทะ ซึ่งไม่มีศัพท์เช่นนี้
ในภาษาไทย ถ้าอยู่ท้ายศัพท์ อ่านว่า –พุด เช่น “พระพุทธ” อ่านว่า พฺระ-พุด
ถ้ามีคำมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า –พุด-ทะ- เช่น “พุทธพาณิชย์” อ่านว่า พุด-ทะ-พา-นิด ไม่ใช่ พุด-พา-นิด
“พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –
(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่
ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า” และบางกรณีหมายรวมไปถึง “พระพุทธศาสนา” หรือ “เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา” ด้วย
(๒) พาณิชย์
รากศัพท์มาจาก –
(1) วาณ (= เสียง, การส่งเสียง) + อชฺ (ธาตุ = ไป) + อ ปัจจัย, แปลง อ ต้นธาตุเป็น อิ
: วาณ + อชฺ = วาณช + อ = วาณช > วาณิช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปทางโน้นทางนี้ด้วยการส่งเสียง” หมายถึง พ่อค้า, คนค้าขาย (a merchant, trader)
ความหมายนี้คงเนื่องมาจากพ่อค้าสมัยโบราณจะไปซื้อขายที่ไหนก็ส่งเสียงร้องบอกชาวบ้านไปด้วย
การโฆษณาสินค้าในสมัยนี้ก็คือรูปแบบของ “การส่งเสียง” ที่พัฒนาขึ้นมานั่นเอง
(2) วาณิช (จากข้อ 1) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ชย (ช ที่ วาณิช + ย ปัจจัยที่เหลือจากลบ ณฺ) เป็น ชฺช
: วาณิช + ณฺย > ย : วาณิช + ย = วาณิชย > วาณิชฺช แปลตามศัพท์ว่า “กิจการของผู้ค้าขาย” หมายถึง การค้าขาย, การซื้อขาย (trade, trading, commerce, business)
“วาณิชฺช” (วา-นิด-ชะ, ช 2 ตัว) สันสกฤตเป็น “วาณิชฺย” ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “พาณิชย์” (แปลง ว เป็น พ, ย์ การันต์) หรืออีกนัยหนึ่งเขียนตามรูปเดิมของบาลีก่อนที่จะแปลง ชย เป็น ชฺช นั่นเอง
ข้อควรจำ :
– วาณิช > พาณิช = พ่อค้า, ผู้ค้า (ตัวบุคคล)
– วาณิชฺช > วาณิชฺย > พาณิชย์ = การค้า (กิจการ)
พุทธ + พาณิชย์ = พุทธพาณิชย์ แปลเท่าศัพท์ว่า “การค้าขายพระพุทธเจ้า” แปลขยายความว่า การค้าขายสิ่งที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
“พุทธพาณิชย์” เป็นคำที่มีผู้ใช้เรียกกิจการค้าที่จำหน่ายพระพุทธรูป และหมายรวมไปถึงจำหน่ายเครื่องประกอบพระพุทธรูปและเครื่องใช้ในศาสนพิธี เช่น โต๊ะหมู่บูชา ธรรมาสน์ ผ้าไตรจีวร เครื่องบวช และของถวายพระเป็นต้น ที่นิยมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าร้าน “สังฆภัณฑ์” (สังฆ = พระสงฆ์, พิธีสงฆ์; ภัณฑ์ = สิ่งของ, เครื่องใช้)
ต่อมาคำว่า “พุทธพาณิชย์” ยังขยายความหมายไปถึงกิจการเกี่ยวกับการสร้างและจำหน่ายพระเครื่องและวัตถุมงคลต่างๆ อีกด้วย
ปัจจุบันมีผู้ใช้คำว่า “พุทธพาณิชย์” เรียกกรณีที่มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับวัดวาอาราม เช่นสร้างโบสถ์ วิหาร เสนาสนะ พระพุทธรูป รูปเกจิอาจารย์เป็นต้น แล้วมีการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากกิจการนั้นๆ คำว่า “พุทธพาณิชย์” จึงมีความหมายในทางตำหนิติเตียนดังจะว่าเอาพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือในการทำมาหากินกระนั้น
คำว่า “พุทธพาณิชย์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
: ถ้าเข้าถึงพระพุทธศาสนา
: จะเข้าใจได้ว่าชีวิตที่มีค่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงิน
—————-
(ตามคำขอของพระคุณท่าน Sornchai Phosriwong)
#บาลีวันละคำ (926)
30-11-57