บาลีวันละคำ

กิโลมกํ (บาลีวันละคำ 2,026)

กิโลมกํ = พังผืด

ลำดับ 13 ในอาการสามสิบสอง

อ่านว่า กิ-โล-มะ-กัง

กิโลมกํ” รูปคำเดิมเป็น “กิโลมก” (กิ-โล-มะ-กะ) รากศัพท์มาจาก กิโลม + สกรรถ (กะ สะ-กัด)

กิโลม” รากศัพท์มาอย่างไร ยังไม่พบคำอธิบายในตำรา แต่ในคัมภีร์ชาดกและอรรถกถา (มังสชาดก จตุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 558 และชาตกัฏฐกถา ภาค 4 หน้า 350) มีศัพท์ว่า “กิโลม” และมีคำอธิบายลักษณะของอวัยวะที่เรียกว่า “กิโลม” ไว้ว่า –

นิรสํ นิมํสโลหิตํ = ไม่มีน้ำเลี้ยง ไม่มีเลือดเนื้อ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อ้างอรรถกถาชาดกแห่งเดียวกันนี้ ขยายความศัพท์ว่า “กิโลม” ว่า ถือว่าเป็นไวพจน์ของ “โลม” = ขน และใช้ในความหมายของ “ผรุส” = รุงรัง, หยาบ (taken as syn. of loma, hair and used in sense of pharusa, shaggy, rough)

ถ้าคล้อยตามนี้ “กิโลม” ก็อาจแยกศัพท์เป็น กิ + โลม = กิโลม พอจะแปลได้ว่า “ขนอะไร” หมายถึง นี่ขนชนิดไรจึงหยาบถึงเพียงนี้ ตีความว่า หมายถึงอะไรก็ตามที่เลวที่สุดในบรรดาหมู่พวกของตน

: กิโลม + = กิโลมก (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่หยาบ” หมายถึง พังผืด, เยื่อหุ้มปอด (the pleura)

กิโลมก” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “กิโลมกํ

กิโลมกํ” ในภาษาไทยใช้เป็น “กิโลมกะ” (กิ-โล-มะ-กะ)  

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้สั้นๆ ดังนี้ –

กิโลมกะ : (คำนาม) พังผืด. (ป.).”

…………..

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายลักษณะของ “กิโลมกํ” ไว้ดังนี้ –

กิโลมกนฺติ  ปฏิจฺฉนฺนาปฏิฉนฺนเภทโต  ทุวิธํ  ปริโยนหนมํสํ.

คำว่า กิโลมกํ ได้แก่เนื้อเยื่อสำหรับหุ้ม (ปริโยนหนมํส) มี 2 ประเภท คือเป็นพังผืดปกปิด (เจือแทรกอยู่กับอวัยวะอื่นๆ) และพังผืดเปิดเผย (เกาะตัวกันมองเห็นเป็นชิ้นชัดเจน)

ตํ  ทุวิธมฺปิ  วณฺณโต  เสตํ  ทุกฺกูลปิโลติกวณฺณํ.

พังผืดทั้ง 2 อย่างนั้นสีขาวซีดคล้ายผ้าเก่า

สณฺฐานโต  อตฺตโน  โอกาสสณฺฐานํ.

พังผืดไม่มีรูปร่างเฉพาะตัว แต่เป็นไปตามสภาพของบริเวณที่พังผืดไปเกิดมีอยู่

โอกาสโต  ปฏิจฺฉนฺนกิโลมกํ  หทยญฺจ  วกฺกญฺจ  ปฏิจฺฉาเทตฺวา 

พังผืดประเภทปกปิดกระจายตัวหุ้มหัวใจและไตอยู่

อปฺปฏิจฺฉนฺนกิโลมกํ  สกลสรีเร  จมฺมสฺส  เหฏฺฐิมโต  มํสํ  ปริโยนทฺธิตฺวา  ฐิตํ.

พังผืดประเภทเปิดเผยทำหน้าที่ยึดเนื้อใต้หนังอยู่ทั่วร่างกาย

(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 39)

…………..

ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “กิโลมกํ” ไว้ดังนี้ –

๏ กิโลมะกังพังผืด….เนื้อเยื่อเหนียวยืด….แผ่พืดพาดผ่าน

ยึดกล้ามเนื้อไว้……..ก็ไม่ยืนนาน………..เมื่อสิ้นลมปราณ

เน่าเปื่อยผุพัง๚ะ๛

…………..

อภิปรายเพิ่มเติม :

ตามคำอธิบายในคัมภีร์ พังผืด (กิโลมกํ) กับ เอ็น (นหารู) น่าจะทำหน้าที่ในลักษณะคล้ายกัน (ทำงานประเภทเดียวกัน) กล่าวคือ –

เอ็น ทำหน้าที่ยึดโยงชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งส่วนใหญ่และส่วนย่อยของร่างกายให้คุมเข้าเป็นโครงรูป

ส่วนพังผืด ทำหน้าที่เชื่อมและเคลือบชิ้นส่วนทั้งหลายให้เป็นเนื้อเดียวกัน

ถ้ามองให้เป็นปริศนาธรรม “กิโลมกํพังผืด” อาจเปรียบเหมือนความสมัครสมานสามัคคีเชื่อมไมตรีกันไว้ของผู้คนในกายนครอันมีอาณาเขตยาววา หนาคืบ กว้างศอกนี้

แต่ในขณะเดียวกัน การยึดโยงเชื่อมกันไว้นั้นอาจกลายเป็นการยึดมั่นถือมั่นชนิดหนึ่ง ถ้าปล่อยไม่ได้ วางไม่เป็น ตัดไม่ขาด ก็จะก่อให้เกิดความทุกข์ไปตลอดกาลยาวนาน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชนกันด้วยความจริงใจ

: ดีกว่าเชื่อมกันไว้ด้วยเล่ห์กล

—————-

(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)

ภาพประกอบ: จาก google

ข้อมูลของศัพท์ส่วนหนึ่งได้จากคำชี้แนะของ Sompob Sanguanpanich

ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:

#บาลีวันละคำ (2,026)

29-12-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย