จันทรคราส (บาลีวันละคำ 2,061)
จันทรคราส
บทพิสูจน์ความฉลาดหรือความเขลา
อ่านว่า จัน-ทฺระ-คฺราด
ประกอบด้วย จันทร + คราส
(๑) “จันทร”
บาลีเป็น “จนฺท” (จัน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) จทิ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ, รุ่งเรือง) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุแล้วแปลงนิคหิตเป็น นฺ (จทิ > จํทิ > จนฺทิ), ลบสระที่สุดธาตุ คือ อิ ที่ (จ)-ทิ (จทิ > จท)
: จทิ > จํทิ > จนฺทิ > จนฺท + อ = จนฺท แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ยังสัตว์โลกให้พอใจ” (คือเมื่อเห็นแล้วผู้คนก็ชื่นใจ พอใจ) (2) “ผู้รุ่งเรืองด้วยสิริ” (คือมีแสงสว่างผ่องใส)
(2) ฉนฺท (ความพอใจ) + ก ปัจจัย, ลบ ก, แปลง ฉ เป็น จ
: ฉนฺท + ก = ฉนฺทก > ฉนฺท > จนฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังความพอใจให้เกิด”
“จนฺท” (ปุงลิงค์) หมายถึง ดวงจันทร์ (the moon) คำไทยเรียก “เดือน”
บาลี “จนฺท” สันสกฤตเป็น “จนฺทฺร” (จัน-ทฺระ) ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤต
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จันทร-, จันทร์ : (คำนาม) ดวงเดือน, เรียกเทวดาองค์หนึ่งในนิยายว่า พระจันทร์, ในตำราโหราศาสตร์เป็นชื่อดาวพระเคราะห์ที่ ๒; ชื่อวันที่ ๒ ของสัปดาห์. (ส.).”
(๒) “คราส”
บาลีเป็น “ฆาส” (คา-สะ) รากศัพท์มาจาก ฆสฺ (ธาตุ = กิน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ฆ-(สฺ) เป็น อา (ฆสฺ > ฆาส)
: ฆสฺ + ณ = ฆสณ > ฆส > ฆาส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากิน” หมายถึง การกิน; หญ้าสำหรับเป็นอาหารสัตว์, อาหาร (eating; grass for fodder, pasturing, food)
บาลี “ฆาส” สันสกฤตเป็น “คราส”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“คฺราส : (คำนาม) คำ (ดุจอาหารคำหนึ่ง); ปั้น (ดุจข้าวปั้นหนึ่ง)’ การจับหรือการทับแสง (ดุจสูรย์, จันทร์); a mouthful; a lump (as lump of rice); an eclipse of the sun or moon by Rāhu.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“คราส : (คำกริยา) กิน เช่น จันทรคราส สุริยคราส (โบราณ เขียนเป็น จันทรคาธ สุริยคาธ โดยถือว่ามาจากบาลีว่า จนฺทคฺคาห สุริยคฺคาห); จับ, ถือ, เช่น สิบนิ้วคราสคนธกำจร เทียนธูปบวร. (สมุทรโฆษ). (ส.).”
จันทร + คราส = จันทรคราส แปลตามศัพท์ว่า “การกินดวงจันทร์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จันทรคราส : (ภาษาปาก) (คำนาม) ‘การกลืนดวงจันทร์’ ตามความเข้าใจของคนโบราณที่เชื่อว่าพระราหูอมดวงจันทร์, จันทรุปราคา ก็เรียก. (ส.).”
ดูเพิ่มเติม: “จันทรุปราคา” บาลีวันละคำ (1,051) 4-4-58
อภิปราย :
“จันทรคราส” หรือ “จันทรุปราคา” คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน ทําให้เงาของโลกตกลงบนดวงจันทร์บางส่วนหรือทั้งหมด
เรามักพูดกันว่า คนโบราณเชื่อว่า-หรือเข้าใจว่า-พระราหูอมดวงจันทร์
ความจริงคนโบราณที่ฉลาดรู้ความจริงก็ต้องมีอยู่บ้าง แต่เห็นว่าคนส่วนมากยังไม่รู้ไม่เข้าใจ บอกความจริงไปก็ป่วยการเปล่า จึงพูดพอให้เข้าใจเป็นภาพอุปมาว่า-เหมือนพระราหูอมดวงจันทร์นั่นแหละ
สมัยนี้เราอวดกันว่ามนุษย์มีความเจริญมากแล้ว รู้ความจริงกันหมดแล้วว่า “จันทรคราส” หรือ “จันทรุปราคา” คือปรากฏการณ์ตามปกติธรรมดาของธรรมชาติเท่านั้นเอง
แต่น่าประหลาดอย่างยิ่งที่มนุษย์ที่มีความเจริญมากแล้วยังเชื่อว่าปรากฏการณ์ตามปกติธรรมดาของธรรมชาตินี้เป็นสิ่งบอกเหตุว่าจะมีเหตุการณ์อย่างนั้นอย่างนี้เกิดขึ้น แล้วก็นั่งนอนรอดูให้เหตุการณ์เช่นว่านั้นเกิดขึ้น แทนที่จะช่วยกันคิดอ่านป้องกันภัย พร้อมไปกับเร่งทำความเจริญดีงามให้เกิดขึ้นแก่ตัวเองและแก่กันและกันให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
จันทร์เศร้าหมองเป็นครั้งคราวเอามากล่าวขวัญ
ใจเศร้าหมองทุกวี่วันไม่คิดแก้ไข
จันทร์สีเหลืองหรือสีเลือดเดือดร้อนอะไร
ใจถูกไฟกิเลสเผาเจ้าไม่ร้อนฤๅ
#บาลีวันละคำ (2,061)
2-2-61