บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

หัดแผ่อุเบกขากันให้มากๆ 

หัดแผ่อุเบกขากันให้มากๆ 

—————————–

เมื่อเช้าวันก่อน ผมเดินออกกำลังไปทางริมน้ำ

คำว่า “ริมน้ำ” คนในเขตเทศบาลเมืองราชบุรีย่อมรู้จักและเข้าใจตรงกันว่าคือบริเวณตั้งแต่หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรีซึ่งเคยเป็นศาลากลางจังหวัด ไปจนถึงสะพานรถไฟ

เวลานี้เทศบาลท่านปรับปรุงเขื่อนริมน้ำเสร็จเรียบร้อยตลอดแนวแล้ว เป็นเขื่อน ๒ ชั้น ชั้นบนเสมอกับถนน ใช้เป็นทางเดิน เป็นที่จอดรถ และเป็นที่ขายของ 

ชั้นล่างมีชั้นบนเป็นหลังคาอย่างดี ใช้เป็นทางเดินอย่างเดียว บางช่วงเป็นที่ว่างยื่นออกไปขนานกับริมน้ำ เหมาะแก่การเดินออกกำลังตอนเช้าๆ 

ชั้นล่างนี้เหมาะสำหรับนักเรียนหลบมาสูบยาหรือนั่งจีบกันด้วย (ผมเคยเล่าให้ฟังแล้ว)

ที่ชั้นล่างนี่เอง มีอยู่ตอนหนึ่งเป็นที่พักกึ่งถาวรของบุรุษผู้แสวงหาสัจธรรมของชีวิต เขากางกระโจมอยู่คนเดียว มีหม้อข้าวเตาไฟพร้อม 

ผมเคยเดินผ่านหลายเช้า บางเช้าเห็นเขาออกมานั่งหน้ากระโจม บางเช้าเห็นแต่ขาโผล่ออกมานอกกระโจม

เช้านี้ไม่เห็นตัวและไม่เห็นขา เขาคงนอนมิดชิดอยู่ข้างใน แต่ด้านหน้ากระโจมมีปลาดุกตัวเขื่องนอนนิ่งอยู่ ดูลักษณาการแล้วเหมือนกับจะแถกดิ้นหลุดออกมาจากถังหรือภาชนะที่ขังมันไว้ตอนกลางคืน แล้วแถกไปแถกมาอยู่แถวนั้นจนหมดแรงสิ้นลมในขณะที่ผู้จับมันมาขังกำลังหลับสนิท

มันคงเพิ่งตาย ผมเห็นแล้วนึกสงสารแกมสังเวชใจ

สงสารปลา 

สังเวชคน

ถ้าผมมาเจอเร็วกว่านี้ มันอาจจะยังไม่ตาย และผมคงจับมันปล่อยลงไปในแม่น้ำได้ทันโดยที่เจ้าของปลายังคงหลับอยู่

——————-

ที่เล่ามานี้คือสาเหตุที่ทำให้ผมนึกถึง “อุเบกขาธรรม” อันเป็นข้อหนึ่งในพรหมวิหารภาวนา

“พรหมวิหารภาวนา” แปลว่า “การเจริญพรหมวิหาร”

ตามที่เรารู้กัน พรหมวิหารมี ๔ ข้อ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

“เมตตา” เป็นข้อที่เรารู้กันแพร่หลายที่สุด โดยเฉพาะในคำว่า “แผ่เมตตา”

แต่อีก ๓ ข้อ มักจะไม่มีใครนึกถึง 

โดยเฉพาะข้อ “อุเบกขา” เป็นข้อที่อาภัพที่สุด คือไม่นึกถึงก็ยังพอว่า แต่คนมักจะนึกถึงด้วยความเข้าใจผิดอย่างลึกซึ้ง

คนส่วนมากเข้าใจว่า อุเบกขาแปลว่าความวางเฉย คือไม่ต้องไปสนใจกับเรื่องนั้นๆ กับสิ่งนั้นๆ กับคนนั้นๆ มันจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามเรื่องของมัน

นี่คือความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง

ศึกษารากศัพท์กันก่อน :

อุเบกขา” คำบาลีว่า “อุเปกฺขา” (อุ-เปก-ขา) มีรากศัพท์ดังนี้ –

(1) อุป (เข้าไป, ใกล้) + อิกฺขา (การเสวยอารมณ์) แผลง อิ เป็น เอ

: อุป + อิกฺขา = อุปิกฺขา > อุเปกฺขา แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่เสวยอารมณ์ที่เป็นไปใกล้เวทนาสองอย่างคือสุขและทุกข์” (2) “กิริยาที่เสวยอารมณ์ที่เข้าไปใกล้สุขและทุกข์” (หมายถึงอยู่ตรงกลางระหว่างสุขและทุกข์ = ไม่สุขไม่ทุกข์)

(2) อุป (เข้าไป, ใกล้) + อิกฺข (ธาตุ = ดู, เห็น, กิน, เสวย) + ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อุป + อิกฺข = อุปิกฺข > อุเปกฺข + อา = อุเปกฺขา แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่เพ่งโดยเป็นกลาง” (2) “กิริยาที่เสวยอารมณ์โดยสมควร” (3) “กิริยาที่ดูโดยอุบัติ คือเห็นเสมอภาคกันไม่ตกเป็นฝ่ายไหน

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปลคำว่า “อุเบกขา” เป็นภาษาอังกฤษว่า –

1. equanimity; evenmindedness; neutrality; poise. 

2. indifference; neutral feeling; neither pleasurable nor painful feeling.

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุเปกฺขา” ว่า –

“looking on”, hedonic neutrality or indifference, zero point between joy & sorrow; disinterestedness, neutral feeling, equanimity; feeling which is neither pain nor pleasure 

(“มองเฉย”, ความไม่ยินดียินร้าย หรือการวางอารมณ์เป็นกลาง, จุดศูนย์ระหว่างความสุขกับความทุกข์; การวางเฉย, ความรู้สึกเป็นกลาง, ความสงบ; ความรู้สึกมิใช่ทุกข์มิใช่สุข)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อุเบกขา” ไว้ดังนี้ –

(1) ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น, ความรู้จักวางใจเฉยดู เมื่อเห็นเขารับผิดชอบตนเองได้ หรือในเมื่อเขาควรต้องได้รับผลอันสมควรแก่ความรับผิดชอบของเขาเอง, ความวางทีเฉยคอยดูอยู่ในเมื่อคนนั้นๆ สิ่งนั้นๆ ดำรงอยู่หรือดำเนินไปตามควรของเขาตามควรของมัน ไม่เข้าข้างไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่สอดแส่ ไม่จู้จี้สาระแน ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง (ข้อ 4 ในพรหมวิหาร 4) 

(2) ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกเต็มว่า อุเบกขาเวทนา ( = อทุกขมสุข); (ข้อ 3 ในเวทนา 3)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุเบกขา : (คำนาม) ความเที่ยงธรรม, ความวางตัวเป็นกลาง, ความวางใจเฉยอยู่, เป็นข้อ ๑ ในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา. (ป. อุเปกฺขา).”

ปรับความเข้าใจให้ถูกต้อง :

(๑) คำว่า “อุเบกขา” มักแปลกันว่า “ความวางเฉย” แต่อุเบกขาไม่ได้หมายความว่าวางเฉยแบบไม่ดูดำดูดี หรือแบบไม่รับผิดชอบ อย่างที่มักเข้าใจกัน

(๒) อุเบกขา หมายถึง :

(1) ไม่ตกอยู่ในอำนาจของสุขหรือทุกข์ ชอบหรือชัง 

สุขมาถึง ก็ไม่มัวเมา ฟุ้งเฟ้อ ไขว่คว้า ยึดมั่น หลงติด 

ทุกข์มากระทบ ก็ไม่โวยวาย ดิ้นพล่าน เดือดร้อน หรือทอดถอนนอนสยบ

แต่มีสติ มองเห็นเหตุที่มาของสุขหรือทุกข์นั้น แล้วกำหนดท่าทีของตนว่าควรทำอะไร ทำอย่างไรจึงจะเกิดผลดี

ชอบหรือชังมากระทบ ก็ทำนองเดียวกัน

(2) ไม่ตกอยู่ในอำนาจของความลำเอียงเพราะรัก ชัง เขลา ขลาด อันเป็นเหตุให้กระทำการต่อเรื่องนั้นหรือบุคคลนั้นคลาดเคลื่อนไปจากที่ควรทำควรเป็น หรือผิดธรรมผิดทาง 

เช่นผู้มีอำนาจ รักบุคคลนี้ก็อุ้มชูสนับสนุนทั้งที่เขาอ่อนด้อยบกพร่อง ชังบุคคลนั้นก็กดข่มปิดกั้นทั้งที่เขามีคุณสมบัติดีงาม 

การกระทำที่คลาดเคลื่อนเช่นนี้แหละที่เกิดขึ้นเพราะขาดอุเบกขา

(3) ความมีปัญญาเข้าใจเข้าถึงสภาวะต่างๆ ตามความเป็นจริงและวางทีท่าอารมณ์ต่อเรื่องนั้นๆ ได้ถูกต้อง 

เช่น ความแก่เป็นสัจธรรมความจริง เมื่ออาการของความแก่ปรากฏ ถ้าขาดอุเบกขา ก็จะเดือดร้อน หาทางถ่วงรั้งยุดยื้อ ถูกใครเรียกว่าลุงว่าป้าว่ายาย ก็จะรู้สึกขุ่นข้องขัดเคืองเป็นต้น 

แต่ถ้ามีอุเบกขากำกับใจ เมื่อความแก่ ความเจ็บ หรือแม้ความตายมากระทบตนหรือคนรอบข้าง ก็จะดำรงตนอยู่ได้ตามปกติ พร้อมทั้งเห็นทางเห็นวิธีที่จะปฏิบัติต่อความเป็นจริงนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง

(๓) อุเบกขา เป็นงานทางใจล้วนๆ (แต่ส่งผลออกมาเป็นท่าทีการกระทำ) แม้จะอ่าน หรือท่อง หรือจำความหมายของคำว่า “อุเบกขา” ได้แม่นยำ ก็ยังไม่ใช่เครื่องรับรองว่ามีอุเบกขา ต่อเมื่อใดจิตใจเข้าถึงความหมายดังกล่าวมา เมื่อนั้น แม้จะไม่รู้ถ้อยคำภาษา ก็นับได้ว่ามีอุเบกขาเกิดขึ้นแล้ว

อุเบกขา กับ สันโดษ เป็นหลักธรรมที่มีชะตากรรมคล้ายคลึงกันในสังคมไทย คือคนส่วนมากเข้าใจผิด 

แต่ที่เป็นสุดยอดของความอาภัพก็คือ ทั้งที่เข้าใจผิดนั่นเองก็ไม่มีใครคิดที่จะศึกษาหาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง 

คงความเข้าใจผิดไว้อย่างนั้น 

แล้วก็คิดว่าเข้าใจถูกแล้วอยู่อย่างนั้น

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว รัฐบาลไทยถึงกับขอร้องคณะสงฆ์ว่าอย่าให้พระเทศน์เรื่องสันโดษ 

อ้างว่า-เพราะเป็นการส่งเสริมให้คนขี้เกียจ

นโยบายของรัฐบาลที่กำหนดขึ้นด้วยความเข้าใจผิดในหลักธรรมทำนองนี้น่าจะยังมีอีกหลายเรื่อง

———————–

ขอเชิญชวนให้ศึกษาเรื่องพรหมวิหารภาวนาหรือการเจริญพรหมวิหารพอให้เข้าใจเป็นพื้นฐานไว้บ้าง

ในที่นี้พิจารณาในแง่ถ้อยคำที่ใช้ในการภาวนาเท่านั้น

พรหมวิหารข้อที่ ๑ 

คำแผ่เมตตา

……………….

สัพเพ  สัตตา 

สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น 

อะเวรา  โหนตุ 

จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย 

อัพยาปัชฌา  โหนตุ 

อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย 

อะนีฆา  โหนตุ 

อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย 

สุขี  อัตตานัง  ปะริหะรันตุ 

จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นเถิด

……………….

ใช้ในกรณีที่เรารู้เห็นว่าคนทั้งหลายดำรงชีพดำเนินชีวิตของตนไปได้เป็นปกติสุข คือไม่มีเวรภัยกับใคร ไม่ไปเบียดเบียนใครและไม่มีใครมาเบียดเบียน และไม่มีปัญหาข้ออึดอัดขัดข้องใดๆ กับใคร

แบบนี้เราก็ตั้งความปรารถนาให้เขารักษาตนให้อยู่เป็นปกติสุขเช่นนั้นสืบไป

นี่คือการเจริญพรหมวิหารข้อเมตตา

————————

พรหมวิหารข้อที่ ๒ 

คำแผ่กรุณา

……………….

สัพเพ  สัตตา 

สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น 

สัพพะทุกขา  ปะมุจจันตุ 

จงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเถิด

……………….

ใช้ในกรณีที่เรารู้เห็นว่ามีใครกำลังตกทุกข์ได้ยาก ชีวิตมีปัญหา กำลังเผชิญกับเรื่องราวที่เดือดร้อน กำลังตกอยู่ในระหว่างภัยอันตราย

แบบนี้เราก็ตั้งความปรารถนาให้เขาจงพ้นจากทุกข์ยากปัญหาเดือดร้อนหรือภัยอันตรายนั้นๆ 

นี่คือการเจริญพรหมวิหารข้อกรุณา

ควรระวังเรื่องที่บางคนชอบเอาพูดให้เห็นเป็นเรื่องตลก คือ เห็นคนตกน้ำ ก็ให้แผ่เมตตาว่า จงเป็นสุขๆ เถิด

เวลานั้นต้องแผ่กรุณา ไม่ใช่แผ่เมตตา

และทำอะไรได้ก็รีบทำเข้า

ไม่ใช่มัวแต่เล่าให้เป็นเรื่องตลก

————————

พรหมวิหารข้อที่ ๓ 

คำแผ่มุทิตา 

……………….

สัพเพ  สัตตา 

สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น 

ลัทธะสัมปัตติโต  มา  วิคัจฉันตุ 

จงอย่าไปปราศจากสมบัติอันได้แล้วเถิด

……………….

ใช้ในกรณีที่เรารู้เห็นว่ามีผู้ประสบผลสำเร็จตามที่ปรารถนา ได้รับสิ่งที่ประสงค์ มีความเจริญรุ่งเรือง กำลังมีความสุขเพิ่มขึ้น

โปรดเทียบกันดู

เมตตา – กรณีที่เขาดำรงชีวิตเรียบร้อยอยู่เป็นปกติ

กรุณา – กรณีที่เขากำลังมีปัญหาเดือดร้อน

มุทิตา – กรณีที่เขามีความสุขเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษจากปกติ

แบบนี้เราก็ตั้งความปรารถนาให้เขาได้อยู่กับสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขนั้นตลอดไป อย่าให้สิ่งนั้นหลุดลอยพลัดพรากไปโดยเหตุอันผิดปกติวิสัย

คำพูดที่เราได้ยินกันอยู่เสมอคือ “ขอแสดงความยินดี” นี่คือการเจริญพรหมวิหารข้อมุทิตานั่นเอง

————————

พรหมวิหารข้อที่ ๔ 

คำแผ่อุเบกขา 

……………….

สัพเพ  สัตตา 

สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น 

กัมมัสสะกา 

เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน 

กัมมะทายาทา 

เป็นผู้รับผลของกรรม 

กัมมะโยนี 

เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด 

กัมมะพันธู 

เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ 

กัมมะปะฏิสะระณา 

เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย 

ยัง  กัมมัง  กะริสสันติ 

จักทำกรรมอันใดไว้ 

กัลยาณัง  วา  ปาปะกัง  วา 

ดีหรือชั่ว 

ตัสสะ  ทายาทา  ภะวิสสันติ 

จักเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น

……………….

ขอให้สังเกตข้อความในการ “แผ่อุเบกขา” จะเห็นว่าเป็นคำเตือนสติให้เข้าใจข้อเท็จจริงให้ถูกต้องตามความเป็นจริงทั้งสิ้น 

เป็นการเตือนตัวเองให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า ผู้นั้นหรือชีวิตนั้นๆ เขาก็ต้องรับผลหรือรับผิดชอบการกระทำของเขาเอง อย่างที่พูดกันว่า ใครทำไว้อย่างไรก็ได้อย่างนั้น

การแผ่อุเบกขานี้ใช้ในกรณีที่เรารู้เห็นว่าใครหรือชีวิตใดกำลังประสบภาวะใดๆ อยู่ และภาวะนั้นๆ อยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจหรือความสามารถที่เราจะเข้าไปช่วยจัดช่วยทำ หรือแม้แต่เราสามารถช่วยจัดช่วยทำได้ แต่เมื่อทำลงไปแล้วจะก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่ถูกไม่ควรแก่ผู้อื่นสิ่งอื่นต่อไปอีกโดยไม่เป็นธรรม หรือเรียกเป็นคำรวมว่าเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงที่ไม่ถูกต้อง 

การจะคิดเห็นเช่นว่านี้ได้ก็ต้องมีปัญญา ต้องใช้ปัญญา คือต้องคิดเป็น

ตามหลักธรรมท่านจึงบอกว่า อุเบกขาคือตัวปัญญา

ตัวอย่างกรณีที่ต้องเจริญอุเบกขา คือต้องคิดเป็น แต่คนทั่วไปมักคิดไม่เป็น หรือทำไม่ได้ หรือไม่ได้ตั้งใจจะทำ ก็อย่างเช่น-เมื่อมีการสูญเสียชีวิตหรือทรัพย์สิน 

ถ้าเป็นญาติมิตรหรือคนที่เรารักใคร่คุ้นเคย ก็มักจะเศร้าโศกเสียใจ บางทีจนถึงขั้นควบคุมตัวเองไม่อยู่ หรือขาดสติ เกิดอาการที่สำนวนสมัยใหม่พูดกันเล่นๆ ว่า “ไปไม่เป็น” คือทำอะไรไม่ถูก หรืออาจถึงขั้น “สติแตก”

กรณีเช่นนี้ คนที่รู้จักเจริญพรหมวิหารข้ออุเบกขาจะตั้งสติได้ อาจรู้สึกเศร้าเสียใจตามวิสัยธรรมดา แต่จะรู้สึกตัวได้เร็ว วางอารมณ์ได้ถูกต้องมั่นคง พร้อมทั้งสามารถกำหนดสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำได้เร็วกว่าคนอื่นๆ 

ขอให้สังเกตว่า คนชนิดนี้มักจะเป็นหลักในเวลาแก้ปัญหาเมื่อเกิดสถานการณ์ร้ายแรง

แต่ก็พึงเข้าใจให้ซื่อตรงด้วยว่า ถ้าเป็นกรณีที่เราสามารถช่วยจัดช่วยทำ อย่างใดอย่างหนึ่งได้โดยถูกต้องชอบธรรม แต่แล้วก็หาได้กระทำตามควรแก่เหตุไม่ แล้วอ้างว่าเป็นการเจริญอุเบกขา 

แบบนี้ไม่ใช่การเจริญอุเบกขา 

แต่เป็นอาการของคนที่ไม่รับผิดชอบ หรือเรียกเป็นคำสามัญว่าคนแล้งน้ำใจ

ในทางธรรมมีศัพท์เฉพาะเรียกอาการชนิดนี้ว่า “อัญญาณุเบกขา”

นิยมแปลสั้นๆ ว่า เฉยโง่

คือควรทำอะไรได้บ้าง แต่กลับไม่ทำอะไร อันเนื่องจากมาจากคิดไม่เป็นเห็นไม่ถูก

อาการเฉยโง่แบบไม่ทำอะไรนี้แหละที่คนส่วนมากพากันเข้าใจผิดคิดว่า คืออุเบกขาที่พระพุทธศาสนาสอนให้ทำกัน

แล้วก็เลยพากันมองอุเบกขาว่าเป็นคำสอนที่ไม่เข้าท่า น่ารังเกียจอยู่ในเวลานี้

————————

อุเบกขาเป็นคุณธรรมที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับปรับใจตัวเอง: 

จะได้ไม่หดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง หรือพลุ่งพล่าน เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งดีทั้งร้าย

สำหรับการปฏิบัติต่อผู้อื่นสิ่งอื่น: 

จะได้กำหนดท่าทีที่ถูกต้องต่อผู้นั้นสิ่งนั้นว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไรอย่างไรได้อย่างเหมาะสม

ขอให้สังเกตความเป็นไปรอบตัวเรา-ทั้งตัวบุคคลและสังคม

เรื่องควรทำ แต่ไม่ทำ

เรื่องไม่ควรทำ กลับไปทำเข้า 

ล้วนมีรากเหง้ามาจากขาดอุเบกขาที่ถูกต้องทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น-หัดแผ่อุเบกขากันให้มากๆ นะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

๑๕:๔๐

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *