บาลีวันละคำ

ระพี สาคริก (บาลีวันละคำ 2,077)

ระพี สาคริก

ในแง่ภาษา

ระพี สาคริก” เป็นชื่อและนามสกุลของศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ซึ่งวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เวลา 18:20) บอกไว้ตอนหนึ่งว่า –

………….

ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก (4 ธันวาคม พ.ศ. 2465 – 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561) ราษฎรอาวุโส นักวิจัย นักวิชาการเกษตรผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ของประเทศไทยสู่สากล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

………….

มีคำถามว่า ชื่อและนามสกุลของท่านแปลว่าอะไร โดยเฉพาะนามสกุล “สาคริก” อ่านว่าอย่างไร สา-คะ-ริก หรือ สา-คฺริก

พึงทราบก่อนว่า “ระพี สาคริก” เป็นวิสามานยนาม (proper name) หรือที่บาลีไวยากรณ์เรียกว่า “อสาธารณนาม” (อะ-สา-ทา-ระ-นะ-นาม)

ชื่อและนามสกุลนั้นจะแปลว่าอะไรและเขียนอย่างไรอ่านอย่างไร ต้องเป็นไปตามเจตนาของเจ้าของชื่อและนามสกุลนั้นหรือของผู้ตั้งชื่อตั้งนามสกุล

ในที่นี้จะอธิบายเป็นกลางๆ โดยหลักภาษาเท่านั้น

(๑) “ระพี

น่าจะตรงกับบาลีว่า “รวิ” (ระ-วิ) รากศัพท์มาจาก รุ (ธาตุ = ส่งเสียง; รุ่งเรือง) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ รุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (รุ > โร > รว)

: รุ > โร > รว + อิ = รวิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุร้องแห่งเหล่าสัตว์เพราะถูกแผดเผา” “สิ่งที่รุ่งโรจน์” หมายถึง ดวงอาทิตย์ (the sun)

บาลี “รวิ” ภาษาไทยใช้เป็น “รวิ” และ “รวี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รวิ ๑, รวี : (คำนาม) พระอาทิตย์, ใช้แผลงว่า รพิ รพี หรือ รําไพ ก็ได้. (ป., ส.).”

รวิ” แผลงเป็น รพิ > รพี

รพี” เมื่อใช้เป็นชื่อคน ผู้ตั้งชื่อนี้คงตั้งใจสะกดเป็น “ระพี” (ประวิสรรชนีย์ที่ ร เป็น ระ-) ตามความนิยมในเวลานั้นซึ่งยังไม่มีพจนานุกรมกำหนดหลักเกณฑ์การเขียนให้เป็นระเบียบเดียวกัน

ปัจจุบันแม้ว่าคำนี้พจนานุกรมฯ จะสะกดเป็น “รพี” (ไม่ประวิสรรชนีย์ที่ ร) ชื่อ “ระพี” ก็ไม่ถือว่าเขียนผิดเพราะเป็นวิสามานยนาม

(๒) “สาคริก

คำเดิมมาจาก สาคร + ณิก ปัจจัย

(ก) “สาคร

บาลีอ่านว่า สา-คะ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) (แทนศัพท์ว่า “ธน” = ทรัพย์) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, แปลง เป็น

: + อา = สา + กรฺ = สากร + + = สากร > สาคร แปลตามศัพท์ว่า “บ่อเกิดแห่งทรัพย์ทั้งหลาย

(2) สงฺค (จม) + รา (ธาตุ = ยึด, ถือเอา) + ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ งฺ ที่ สงฺค แล้วทีฆะ อะ ที่ -(งฺค) เป็น อา (สงฺค > สค > สาค), “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ รา (รา > )

: สงฺค + รา = สงฺครา + = สงฺคราณ > สงฺครา > > สงฺคร > สคร > สาคร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยึดให้จมลง

สาคร” (ปุงลิงค์) หมายถึง มหาสมุทร, ทะเล, แม่น้ำ (the ocean, the sea, a river)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สาคร” ไว้ว่า –

(1) สาคร ๑ : (คำนาม) แม่นํ้า, ทะเล. (ป., ส.).

(2) สาคร ๒ : (คำนาม) ชื่อขันขนาดใหญ่ทำด้วยโลหะผสม ได้แก่ สัมฤทธิ์ ทองเหลือง ตัวขันเป็นทรงลูกมะนาวตัด ก้นขันมีเชิง ข้างขันทำเป็นรูปหน้าสิงโตปากคาบห่วงซึ่งใช้เป็นหูหิ้วข้างละหู ใช้บรรจุน้ำสำหรับทำน้ำมนต์ หรือสำหรับผู้มีบรรดาศักดิ์ใช้อาบ เรียกว่า ขันสาคร.

(ข) สาคร + ณิก ปัจจัย, ลบ ที่ ณิก (ณิก > อิก)

: สาคร + ณิก > อิก = สาคริก แปลว่า “ผู้เกี่ยวข้องกับสาคร

สาคริก” บาลีอ่านว่า สา-คะ-ริ-กะ

สาคริก” ในภาษาไทย อ่านตามหลักบาลีว่า สา-คะ-ริก

………….

หมายเหตุ : ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 อายุ 95 ปี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผลงานมีความหมายมากกว่าชื่อ

: แต่ความน่านับถือมีความหมายมากที่สุด

—————

(ภาพประกอบ: จาก google)

#บาลีวันละคำ (2,077)

18-2-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย