บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วัดประจำเมือง : มรดกชาติที่ต้องฟื้นฟู

วัดประจำเมือง : มรดกชาติที่ต้องฟื้นฟู

————————————–

สังคมไทยแต่ไหนแต่ไรมา เมื่อสร้างเมืองก็จะต้องสร้างวัดประจำเมืองด้วย

ค่านิยมนี้ถ่ายแบบย่อยลงมาถึงหมู่บ้าน นั่นคือเมื่อมีหมู่บ้านเกิดขึ้นที่ไหน คนในหมู่บ้านก็จะช่วยกันคิดอ่านสร้างวัดประจำหมู่บ้าน เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้วจะเป็นแบบนี้ทั้งนั้น

แต่บัดนี้ ค่านิยมนี้ร่วงโรยจนแทบไม่เหลือ ในชนบทที่ห่างไกลยังพอมีอยู่ แต่ในเมือง-โดยเฉพาะในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ ค่านิยมนี้สูญสิ้นไปแล้ว

ลองเหลีอบตาดูหมู่บ้านจัดสรรหรือบ้านลักษณะใดๆ ก็ตาม ที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ ผู้จัดสรร หรือผู้ดำเนินการ รวมทั้งผู้คนที่เข้าไปอยู่ ไม่ได้คิดถึงวัดประจำหมู่บ้านกันอีกแล้ว

เป็นมรดกที่ถูกปล่อยให้สูญหายไปโดยไม่มีใครรับผิดชอบ

พระธรรมปัญญาภรณ์ (ไพบูลย์ ชินวํโส ป.ธ.๗) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ราชบุรี อดีตเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ท่านเคยให้นโยบายกับเจ้าคณะอำเภอทุกอำเภอไว้ว่า ในพื้นที่ตำบลหมู่บ้านต่างๆ ถิ่นไหนมีคนเข้าไปอยู่กันเป็นหมู่บ้านใหม่ ให้รีบหาทางเข้าไปสร้างสำนักสงฆ์หรือที่พักสงฆ์ไว้ที่หมู่บ้านนั้น

ท่านชี้ให้ดูชุมชนที่มีผู้นับถือศาสนาคริสต์หรือศาสนาอิสลาม มีบ้านเพียงหลังสองหลังเขาก็จะไปตั้งโบสถ์หรือมัสยิดไว้ทันที

นโยบายนี้ เจ้าคณะอำเภอบางรูปทำได้ เช่นอำเภอปากท่อบ้านผม จากเดิมมีวัดประมาณ ๓๐ ตอนนี้มีประมาณ ๖๐ วัด 

แต่บางอำเภอก็ทำไม่ได้ (หรืออันที่จริงคือไม่ได้ทำ) และบางอำเภอก็ไม่เข้าใจถึงเจตนาของนโยบาย

ในภาพรวมของคณะสงฆ์ ผมเข้าใจว่า ผู้บริหารการพระศาสนาของเราไม่ได้คิดถึงนโยบายแบบนี้ (รวมทั้งนโยบายไหนๆ ท่านก็ไม่ได้คิดทั้งนั้น)

อย่างแนวคิดแบบที่อดีตเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีคิดนี้ ถามว่าผู้บริหารการพระศาสนาของเรารู้ไหม 

รู้ครับ 

แต่อาตมา-ข้าพเจ้าไม่ทำ ใครจะทำไม

……………………

ย้อนไปที่วัดประจำเมือง

ถ้าดูตามภูมิหลังของบ้านเมือง จังหวัดต่างๆ ของเราที่มีอยู่ทุกวันนี้ แทบทุกจังหวัดจะมี “วัดประจำเมือง” บางจังหวัดยังเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ แต่บางจังหวัดเป็นวัดร้างหรือเป็นโบราณสถานไปแล้ว

“วัดประจำเมือง” เป็นมรดกของชาติที่บรรพบุรุษของเราฝากไว้ให้เรา แต่ทุกวันนี้เราไม่ได้ศึกษาทำความรู้จักหรือคิดจะรักษามรดกชิ้นนี้ไว้

โดยเฉพาะวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ก็รักษาแบบ “โบราณสถานตาย” คือเหลือแต่ซากที่บูรณะให้เห็นร่องรอย แล้วก็ให้คนไปเดินดูเท่านั้น

ย้ำว่า-ไปเดินดูและไปเหยียบย่ำเท่านั้น ไม่ได้ไปเพื่อจะประกอบการบุญกุศลเหมือนกับที่บรรพบุรุษของเราท่านไปประพฤติกระทำกันในชีวิตประจำวัน 

และไม่ได้ไปเพื่อจะเคารพบูชาอะไรทั้งสิ้น

ไปเดินดูและไปเหยียบย่ำล้วนๆ

อ้อ ที่กำลังนิยมกันอีกอย่างหนึ่งคือ ใช้เป็นฉากถ่ายรูปบ่าวสาว ที่เรียกเป็นคำฝรั่งว่า พรีเวดดิ้ง

ปู่ย่าตายายสร้างวัดมาเพื่อเป็นที่เคารพบูชากราบไหว้

ลูกหลานใช้เป็นที่ถ่ายรูปผัวเมีย

เศร้าสุดๆ กับค่านิยมแบบนี้

ฝากไปถึงร้านถ่ายรูปหรือผู้ทำอาชีพรับถ่ายรูปบ่าวสาวด้วยนะครับ ลองหาเวลาอยู่ว่างๆ เงียบๆ แล้วคิดคำนึงดูว่า-นี่เรากำลังทำอะไร

……………………

จะฟื้นฟูวัดประจำเมืองได้อย่างไร?

๑ แรกสุดคือ สำรวจตรวจสอบว่า แต่ละจังหวัดมีวัดประจำเมืองอยู่ตรงไหน-วัดอะไรวัดไหนคือวัดประจำเมืองที่มีมาแต่เก่าก่อน 

งานนี้กรมศิลปากรช่วยได้เต็มๆ 

ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในมือกรมศิลป์ตอนนี้ ผมเชื่อว่าบอกได้ครบหรือเกือบครบว่า จังหวัดไหนวัดอะไรเป็นวัดประจำเมือง

๒ ถ้าจังหวัดไหนยังไม่มีวัดประจำเมือง เช่นจังหวัดที่เพิ่งตั้งใหม่ ก็ให้คนในจังหวัดนั้นตกลงกันว่าจะเอาวัดอะไรที่มีอยู่แล้วเป็นวัดประจำเมือง คงไม่จำเป็นจะต้องสร้างวัดขึ้นใหม่

๓ เมื่อกำหนดวัดประจำเมืองได้แล้ว ถ้าเป็นวัดที่เป็นโบราณสถาน ก็บูรณะขึ้นให้เป็นวัดที่สามารถทำกิจวัตรจัดกิจกรรมได้เหมือนวัดทั่วไป เรียกว่าจาก “วัดตาย” ทำให้เป็น “วัดเป็น” จาก “โบราณสถานตาย” ให้กลับเป็น “โบราณสถานเป็น”

๔ เมื่อทางราชการบ้านเมืองจะทำงานอะไร จัดกิจกรรมอะไร เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ก็ไปจัดไปทำกันที่วัดประจำเมือง

เป็นต้นว่า-สงกรานต์เคยทำบุญที่วัด 

เดี๋ยวนี้เอาไปจัดกันที่โรงยิม 

แบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นความคิดของใคร เลิกได้แล้ว 

กิจกรรมแบบนี้แหละที่ต้องไปจัดกันที่วัดประจำเมือง

๕ ที่สำคัญที่สุด ต้องเน้นย้ำให้ชัดเจนว่า วัดประจำเมืองไม่เกี่ยวกับธรรมยุต-มหานิกาย และอย่าลากเอาไปผูกกับความคิดว่าวัดใครอยากได้อยากดัง

กิเลสตัวนี้แรงมากในหมู่ชาววัด เป็นเรื่องที่น่าเศร้าอีกเรื่องหนึ่ง

วัดมหานิกายฉันไม่เลื่อมใส ฉันไม่ไป ฉันจะต้องไปวัดธรรมยุต

วัดธรรมยุตฉันไม่เลื่อมใส ฉันไม่ไป ฉันจะต้องไปวัดมหานิกาย

จึงบอกว่า-ต้องเน้นย้ำให้ชัดเจน วัดประจำเมืองไม่มีธรรมยุต-มหานิกาย มีแต่วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต อันเป็นสมบัติร่วมกันของบ้านเมือง

ชีวิตประจำวัน ใครเลื่อมใสวัดไหน ไปวัดนั้น

แต่เมื่อถึงเวลาแห่งวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต อันเป็นสมบัติของบ้านเมืองส่วนรวม ต้องไปวัดประจำเมือง

อย่าลากเอานิกายพะรุงพะรังเข้าไปด้วย

ขอฝากเรื่องวัดประจำเมืองไว้ให้ผู้บริหารการพระศาสนาอีกเรื่องหนึ่ง 

แม้จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ Gone with the wind ก็ยินดีครับ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕

๑๑:๑๖

…………………………………………

วัดประจำเมือง : มรดกชาติที่ต้องฟื้นฟู

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *