บาลีวันละคำ

ห้ามญาติ (บาลีวันละคำ 2,802)

ห้ามญาติ

ปางห้ามพระญาติ – ปางห้ามพยาธิ

ห้ามญาติ” เป็นพระพุทธรูปปางหนึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ห้ามญาติ : (คำนาม) ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระกายตามปรกติ พระหัตถ์ขวาแบตั้งขึ้นเสมอพระอุระยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาห้าม.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “โรหิณี” ได้สรุปเหตุการณ์อันเป็นที่มาของพระปางห้ามญาติไว้ ขอนำข้อความมาเสนอเต็มตามต้นฉบับ ดังนี้

…………..

โรหิณี :

1. เจ้าหญิงองค์หนึ่งแห่งศากยวงศ์ เป็นกนิษฐภคินี คือน้องสาวของพระอนุรุทธะ (ตามหนังสือเรียนว่าเป็นพระธิดาของเจ้าอมิโตทนะ แต่เมื่อถือตาม ม.อ.๑/๓๘๔; วินย.ฏี.๓/๓๔๙ เป็นต้น ที่กล่าวว่าพระอนุรุทธะเป็นโอรสของเจ้าสุกโกทนะ เจ้าหญิงโรหิณีก็เป็นพระธิดาของเจ้าสุกโกทนะ) ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

2. ชื่อแม่น้ำที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างแคว้นศากยะ กับแคว้นโกลิยะ การแย่งกันใช้น้ำในการเกษตรเคยเป็นมูลเหตุให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างแคว้นทั้งสองจนจวนเจียนจะเกิดสงครามระหว่างพระญาติ ๒ ฝ่าย พระพุทธเจ้าเสด็จมาระงับศึก จึงสงบลงได้ สันนิษฐานกันว่า เป็นเหตุการณ์ในพรรษาที่ ๕ (บางท่านว่า ๑๔ หรือ ๑๕) แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ และเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางห้ามญาติ;

ปัจจุบันเรียก Rowai หรือ Rohwaini

…………..

คำว่า “ห้ามญาติ” บางทีก็เรียกกลายเป็น “ห้ามพระญาติ” หมายถึงพระพุทธเจ้าทรงห้ามพระญาติของพระองค์ไม่ให้วิวาทกัน

จาก “ห้ามพระญาติ” ก็มีคนที่ฟังแต่เสียง ห้าม-พะ-ยาด เอาไปแปลงรูปคำเป็น “ห้ามพยาธิ” อ่านได้เสียง ห้าม-พะ-ยาด เหมือนกัน แต่ความหมายไปคนละทาง

(๑) “พระญาติ” คือ พระ + ญาติ

(ก) “พระ

มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ประเสริฐ” แปลง เป็น ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

ในที่นี้คำว่า “พระ” เป็นคำใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่อง (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 13 อย่าง)

(ข) “ญาติ

บาลีอ่านว่า ยา-ติ รากศัพท์มาจาก ญา (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย

: ญา + ติ = ญาติ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขารู้กันว่าเป็นใคร” หมายถึง ญาติพี่น้อง, ผู้มีสายโลหิตเดียวกัน, วงศ์ญาติ a relation, relative, kinsman

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ญาติ, ญาติ– : (คำนาม) คนในวงศ์วานที่ยังนับรู้กันได้ทางเชื้อสายฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่. (ป.).”

ในทางธรรม ท่านว่า “ญาติ” มี 2 ประเภท คือ –

1 คนที่รู้จักกัน ซึ่งอาจใช้คำเรียกว่า “ญาติมิตร”

2 คนที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือด คือ “ญาติสาโลหิต”

พระ + ญาติ = พระญาติ หมายถึง ญาติของเจ้านาย

(๒) “พยาธิ

บาลีเป็น “พฺยาธิ” (มีจุดใต้ ) อ่านว่า พฺยา-ทิ (เพีย-อา-ทิ) รากศัพท์มาจาก –

(1) วิธฺ (ธาตุ = ทิ่มแทง) + อิ ปัจจัย, ลง อา อาคมกลางธาตุ (วิธฺ > วิอาธฺ), แปลง อิ ที่ วิ เป็น , แผลง วฺ เป็น พฺ

: วิธฺ + อิ = วิธิ > วิอาธิ > วฺยาธิ > พฺยาธิ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เสียดแทง

(2) วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ) + อธิ (ธาตุ = บีบคั้น) + ปัจจัย, แปลง อิ ที่ วิ เป็น (วิ > วฺย), แผลง วฺ เป็น พฺ, ทีฆะต้นธาตุ (อธิ > อาธิ)

: วิ > วฺย + อธิ = วฺยาธิ + = วฺยาธิ > พฺยาธิ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่บีบคั้นโดยพิเศษ

(3) พาธฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อิ ปัจจัย, ลง อาคมที่พยัญชนะต้นธาตุ (พาธฺ > พฺยาธ)

: พาธฺ + อิ = พาธิ > พฺยาธิ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เบียดเบียน

(4) พฺยาธฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อิ ปัจจัย

: พฺยาธฺ + อิ = พฺยาธิ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เบียดเบียนสัตว์

(5) วิ (คำอุปสรรค = ต่าง) + อาธิ ( = การบีบคั้นจิตใจ), แปลง อิ ที่ วิ เป็น (วิ > วฺย), แผลง วฺ เป็น พฺ

: วิ > วฺย + อาธิ = วฺยาธิ > พฺยาธิ แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะเป็นที่มีการเบียดเบียนต่างๆ

พฺยาธิ” หมายถึง ความป่วย, โรค, เชื้อโรค (sickness, disease)

บาลี “พฺยาธิ” สันสกฤตเป็น “วฺยาธิ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

วฺยาธิ : (คำนาม) ความป่วยไข้, โรค; sickness, disease.”

พฺยาธิ” ในภาษาไทยเขียน “พยาธิ” (ไม่มีจุดใต้ พ) อ่านว่า พะ-ยา-ทิ ความหมายเป็นอย่างหนึ่ง อ่านว่า พะ-ยาด ความหมายเป็นอีกอย่างหนึ่ง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) พยาธิ ๑ : [พะยาทิ] (คำนาม) ความเจ็บไข้ เช่น โรคาพยาธิ ชาติชราพยาธิ. (ป. พฺยาธิ, วฺยาธิ; ส. วฺยาธิ).

(2) พยาธิ ๒ :  [พะยาด] (คำนาม)  ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังซึ่งอย่างน้อยในระยะหนึ่งของชีวิตจะอาศัยดูดกินเลือดอยู่ในมนุษย์และสัตว์ มีรูปร่างและขนาดต่าง ๆ กัน ชนิดตัวแบน เช่น พยาธิใบไม้ พยาธิตัวตืด ชนิดตัวกลมหรือหนอนพยาธิ เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิเส้นด้าย พยาธิเข็มหมุด.

ในทางธรรม พยาธิเป็น 1 ในสภาวะสามัญของชีวิต 4 อย่าง คือ –

(1) ชาติ (ชา-ติ) ความเกิด

(2) ชรา ความแก่

(3) พยาธิ ความเจ็บ

(4) มรณะ ความตาย

อภิปราย :

คำเดิมคือ “ห้ามญาติ” แล้วขยายคำเป็น “ห้ามพระญาติ” ถือว่าเป็นชื่อเดิม

ห้ามญาติ” หรือ “ปางห้ามญาติ” เป็นคำที่ถูกต้อง “ห้ามพระญาติ” หรือ “ปางห้ามพระญาติ” ก็ควรถือว่าเป็นคำที่ถูกต้องโดยอนุโลม เพราะยังมีความหมายตรงตามชื่อเดิม

ส่วน “ห้ามพยาธิ” หรือ “ปางห้ามพยาธิ” เป็นคำที่เพี้ยนออกไป เหตุเกิดจากเอาเสียง ห้าม-พะ-ยาด ไปแปลงรูปเป็น “ห้ามพยาธิ” ทำให้ความหมายเพี้ยนไปจากเดิม จึงต้องหาตำนานมาอธิบายให้กลายเป็นว่า-เป็นปางที่พระพุทธเจ้าทรงประชวร แล้วทรงใช้พุทธาภาพข่มอาการประชวรไว้ นั่นคือทรง “ห้ามพยาธิ

มองในแง่ดี ก็ว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ แต่สร้างสรรค์แบบนี้ต้องระวังและรู้ทันไว้ เพราะเป็นเหตุทำให้พุทธประวัติเบี้ยวบิดผิดเพี้ยนไปได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แก้ไขผิดให้กลับเป็นถูก ควรชม

: อธิบายผิดให้กลายเป็นถูก ควรชัง

——————-

ภาพประกอบจากโพสต์ของ Pornkawin Sangsinchai

#บาลีวันละคำ (2,802)

13-2-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย