บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ปรัปวาท: ศึกซ้ำซาก

ปรัปวาท: ศึกซ้ำซาก (๑)

———————

ญาติมิตรท่านหนึ่ง ขออนุญาตเอ่ยนาม-ท่านอาจารย์พงษ์ศักดิ์ เกษมพันธ์-ได้แชร์โพสต์ข้อความของท่านผู้หนึ่ง มีข้อความดังนี้ –

…………………….

พุทธศาสนาตอกย้ำเรื่องทุกข์จากความเกิด แก่ เจ็บ ตายและกิเลสมากเสียจนละเลยทุกข์จากความอยุติธรรมทางสังคม แถมยังผสมโรงกับอำนาจกดขี่

…………………….

ท่านอาจารย์พงษ์ศักดิ์ เกษมพันธ์ ได้เขียนตอบไว้สั้นๆ ดังนี้ –

…………………….

คิดซิๆๆ มันใช่หรอ?

คนที่ตอกย้ำ..หลงเพ่-หลงพ่อ ตะหาก

ที่เฉยตุ่ยกับความอยุติธรรม..ก็มหาเถร..โน่น

พุทธศาสนาตอกย้ำอยู่อย่างเดียว..

ศีลทุกข้อ..ย้ำทุกครั้ง

“สิกขา ปทัง สมาทิยามิ”

คิดซิๆๆ มันใช่หรอ?

…………………….

ผมขอให้ช่วยกันพิจารณาข้อความของท่านผู้หนึ่งข้างต้นโน้น (มีในภาพประกอบด้วย) ด้วยสติและปัญญา

ผมมีความเห็นว่า นี่เป็น “ปรัปวาท” อย่างหนึ่ง

ปรัปวาท” (ปะ-รับ-ปะ-วาด) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

“คำกล่าวของคนพวกอื่นหรือลัทธิอื่น, คำกล่าวโทษคัดค้านโต้แย้งของคนพวกอื่น, หลักการของฝ่ายอื่น, ลัทธิภายนอก; คำสอนที่คลาดเคลื่อนหรือวิปริตผิดเพี้ยนไปเป็นอย่างอื่น”

…………………….

ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ทรงพิจารณาเห็นว่าบัดนี้พุทธบริษัทมีคุณสมบัติพร้อมที่จะรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาแล้ว สมควรแก่เวลาที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานได้แล้ว

คุณสมบัติข้อหนึ่งของพุทธบริษัทที่มีคุณภาพพร้อมที่จะรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาก็คือ –

…………………….

“อุปฺปนฺนํ  ปรปฺปวาทํ  สหธมฺเมน  สุนิคฺคหิตํ  นิคฺคเหตฺวา  สปฺปาฏิหาริยํ  ธมฺมํ  เทเสนฺติ.”

แปลว่า “แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรม”

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๙๕

…………………….

หมายความว่า เมื่อมีใครพูดพาดพิงพระพุทธศาสนาอย่างไม่ถูกต้อง จะเพราะเข้าใจผิด หรือไม่รู้ความเป็นจริง หรือมีเจตนาแฝงเร้นอย่างไรก็ตาม พุทธบริษัทต้องสามารถชี้แจงให้คนทั้งหลายเข้าใจถูกต้องได้อย่างเรียบร้อย อย่างมีไมตรีต่อกัน ไม่ใช่ทะเลาะกับเขา ด่าว่าหรือทำร้ายเขา

คุณสมบัติของพุทธบริษัทที่มีคุณภาพพร้อมที่จะรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนานั้น ผมเคยประมวลสรุปเป็นคำสั้นๆ ไว้ดังนี้

………

“ศึกษาเล่าเรียน

พากเพียรปฏิบัติ

เคร่งครัดบำรุง

มุ่งหน้าเผยแผ่

แก้ไขให้หมดจด”

………

“แก้ไขให้หมดจด” ถอดความออกมาจาก “แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรม”

………………..

ขออนุญาต “บ่น” หน่อยครับ

งาน “แก้ไขให้หมดจด” นี้ควรเป็นงานระดับองค์กร ไม่ใช่งานของปัจเจกชน

เมื่อมีใครพูดพาดพิงพระพุทธศาสนาอย่างไม่ถูกต้อง ควรเป็นหน้าที่ของผู้บริหารการพระศาสนาที่จะออกมา “แก้ไขให้หมดจด”

ไม่ใช่ปล่อยให้ปัจเจกชนอย่างพงษ์ศักดิ์ทองย้อยเณรจ่อยมหาจาบ ออกมารำดาบเดียวดาย ในขณะที่ผู้บริหารการพระศาสนาไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น

ถามว่าผู้บริหารการพระศาสนารู้หรือไม่ว่ามีปรัปวาทเกิดขึ้น?

ถามกันตรงๆ ว่า มหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติรู้หรือไม่ว่ามีปรัปวาทเกิดขึ้น?

ถ้ายังกว้างไป ก็ถามเจาะลงไปเลยว่า กรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่างๆ ในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติรู้หรือไม่ว่ามีปรัปวาทเกิดขึ้น?

รู้ครับ

ขนาดผมสูงวัย ไกลปืนเที่ยง ยังมีช่องทางรู้เห็นได้ ก็แล้วท่านผู้มีหน้าที่โดยตรง มีช่องทางสื่อสารหลากหลายรูปแบบ ทำไมจะรู้ไม่ได้

ปัญหาอยู่ตรงที่-ท่านรู้ แต่ท่านเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของท่านที่จะต้องไปจัดการอะไร

และที่หนักไปกว่านั้นก็คือ-ท่านอาจจะบอกว่า ไม่เห็นว่ามันจะเป็นปรัปวาทที่ตรงไหนสักหน่อย

มีแต่มหาย้อยที่คิดเล็กคิดน้อยไปเอง

เหมือนคนมาร้องด่าหน้าบ้าน ปล่อยให้มันด่าไป มันเหนื่อยเข้ามันก็เลิกด่าไปเอง ไม่เห็นจะต้องไปต่อปากต่อคำอะไรกับมัน

พระศาสนาจงเจริญเถิด

………………..

ที่ว่ามานั้นเป็นการบ่น

ญาติมิตรที่ติดตามผมมาจะเห็นได้ว่า ผมบ่นเรื่องนี้มาตลอด-เรื่องที่ผู้บริหารการพระศาสนาไม่ทำงานที่ควรจะทำเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับพระศาสนา

ท่านผู้บริหารการพระศาสนาอาจจะคิด-ทำนองเดียวกับที่ผมว่า-คือปล่อยให้มันบ่นไป มันเหนื่อยเข้ามันก็เลิกบ่นไปเอง

งานที่มันว่านั่น เราไม่ทำซะอย่าง ใครจะทำไม

………………..

ทีนี้มาช่วยกันดูว่า ข้อความของท่านผู้หนึ่งข้างต้นโน้นเป็นปรับปวาทตรงไหน

ข้อแรก – พุทธศาสนาตอกย้ำเรื่องทุกข์จากความเกิด แก่ เจ็บ ตายและกิเลสมากเสียจนละเลยทุกข์จากความอยุติธรรมทางสังคม

มันใช่หรือ?

อะไรคือทุกข์จากความเกิด แก่ เจ็บ ตายและกิเลส?

พระพุทธศาสนาไปตอกย้ำทุกข์พวกนั้นตรงไหน?

เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสัจธรรม

พระพุทธศาสนาไม่เคยตอกย้ำ

แต่ชี้ให้ดู ให้เห็นความจริง และรู้เท่าทันความจริง แล้วเร่งทำหน้าที่ อย่ามัวเมาประมาท

พระพุทธศาสนาสอนให้เข้าใจและรู้ทันสัจธรรม คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย

แต่ไม่เคยสอนให้ทุกข์ไปกับมัน

ไม่เคยสอนให้จมอยู่กับมัน

ไม่เคยสอนให้ยอมจำนนอยู่กับมัน

แต่สอนว่า-ควรจะทำอย่างไรกับมัน จึงจะถูกต้อง

ทุกข์จากกิเลส นั่นยิ่งร้าย

พระพุทธศาสนาสอนให้รู้ทันกิเลส

ไม่เคยสอนให้ทุกข์ไปกับกิเลส

ไม่เคยสอนให้จมอยู่กับกิเลส

ไม่เคยสอนให้ยอมจำนนกิเลส

แต่สอนวิธีที่จะเอาชนะกิเลสและกำจัดกิเลส

อย่างนี้เรียกว่าตอกย้ำทุกข์หรือ?

คนมันอยากโกงกิน

พระพุทธศาสนาบอกว่า-อย่าโกง แต่จงขยันทำกิน

คนมันอยากฆ่ากัน

พระพุทธศาสนาบอกว่า-อย่าฆ่า แต่จงมีเมตตาต่อกัน

คนมันงมงายไร้สาระ

พระพุทธศาสนาบอกว่า-อย่ามัวหลับไหลอยู่เลย ตื่นขึ้นมาทำหน้าที่เถิด

อย่างนี้เรียกว่าตอกย้ำทุกข์หรือ?

………………

ข้อสอง – แถมยังผสมโรงกับอำนาจกดขี่

นี่เป็นปรัปวาทชัดๆ และร้ายกาจที่สุด

คือผู้กล่าวความข้อนี้กำลังบอกชาวโลกว่า พระพุทธศาสนานี่แหละคือตัวการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ปกครองประเทศกดขี่ข่มเหงประชาราษฎร

เขาพูดอย่างนี้ ยังไม่รู้สึกอีกหรือว่านี่คือ “ปรัปวาท”?

ยังนั่งนิ่งเฉย ท่องคาถาบทเดิมบทเดียวว่า

“ไม่ต้องทำอะไร ไม่ใช่หน้าที่

ไม่ต้องทำอะไร ไม่ใช่หน้าที่”

จะเอาแต่ท่องกันอยู่อย่างนี้หรือท่านผู้บริหารการพระศาสนา?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

๑๑:๑๑

…………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *