ปฏิกิริยา

บาลีวันละคำ

ปฏิกิริยา (บาลีวันละคำ 743)

ปฏิกิริยา
อ่านว่า ปะ-ติ-กิ-ริ-ยา
บาลีเขียนและอ่านอย่างเดียวกัน
ประกอบด้วย ปฏิ + กิริยา
“ปฏิ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ
“กิริยา” รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณฺย ปัจจัย แปลง อ ที่ ก เป็น อิ, ลง อิ อาคม ที่ ร, ลบ ณฺ ที่ ญฺย, แปลง อ ที่ ย เป็น อา (เพื่อให้เป็นอิตถีลิงค์)
: กร > กิร + อิ = กิริ + ณฺย > ย = กิริย > กิริยา
“กิริยา” ในบาลีมีความหมายว่า การกระทำ, การปฏิบัติ, กรรม; การที่กระทำลงไป, การสัญญา, การสาบาน, การอุทิศ, การตั้งใจ, คำปฏิญาณ; ความยุติธรรม (action, performance, deed; the doing, promise, vow, dedication, intention, pledge; justice)
ปฏิ + กิริยา = ปฏิกิริยา แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำตอบ”
ในคัมภีร์พบศัพท์ว่า “ปฏิกิริยา” ใช้ในความหมายว่า การตอบแทนคุณ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ปฏิ- [ปะติ-] คําอุปสรรคในภาษาบาลีใช้นําหน้าศัพท์อื่น แปลว่า เฉพาะ เช่น ปฏิทิน, ตอบ เช่น ปฏิพากย์, ทวน เช่น ปฏิโลม, กลับ เช่น ปฏิวัติ. (ป.; ส. ปฺรติ).
(2) กิริยา : (คำนาม) การกระทํา; อาการที่แสดงออกมาทางกาย, มารยาท เช่น กิริยานอบน้อม กิริยาทราม. (ป.).
(3) ปฏิกิริยา : (คำนาม) การกระทําตอบสนอง; การกระทําต่อต้าน; ผลของการกระทําซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกิริยาสะท้อนมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง; (เคมี) การเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของสาร. (อ. reaction).

Read More