นพคุณ (บาลีวันละคำ 2,346)
นพคุณ
9 อะไร อะไร 9
อ่านว่า นบ-พะ-คุน
ประกอบด้วยคำว่า นพ + คุณ
(๑) “นพ”
บาลีเป็น “นว” (นะ-วะ) มีคำแปล 2 อย่าง คือ –
(1) ใหม่, สด, ยังไม่ช้ำหรือเสื่อมเสีย, สะอาด, เร็วๆ นี้, ที่ได้มาหรือปฏิบัติเมื่อเร็วๆ นี้เอง (new, fresh; unsoiled, clean; of late, lately acquired or practised), หนุ่ม, ยังไม่มีความชำนาญ, ไม่มีประสบการณ์ (young, unexperienced, newly initiated)
(2) เก้า (จำนวน 9)
ผู้จัดทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เสนอทฤษฎีว่า “นว” ที่แปลว่า “จำนวนเก้า” ก็น่าจะมาจาก “นว” ที่ว่า “ใหม่” นั่นเอง เพราะในการนับจำนวนทีละ 4 (จำนวนแปด = 8 เป็นจำนวนคู่) ลำดับใหม่เริ่มขึ้นด้วยเลข 9 [Connection with nava2 likely because in counting by tetrads (octo=8 is a dual!) a new series begins with No. 9]
“นว” จะหมายถึง “ใหม่” หรือ “เก้า” ต้องดูที่บริบท ในภาษาไทยมักใช้เป็นคําหน้าสมาส
(๒) “คุณ
บาลีอ่านว่า คุ-นะ รากศัพท์มาจาก คุณฺ (ธาตุ = ประกาศ, ผูก, มัด, สั่งสม) + อ ปัจจัย
: คุณฺ + อ = คุณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ประกาศความดีของตน” (2) “สิ่งที่ผูกผลไว้กับตน” (3) “สิ่งอันผู้ต้องการความดีสั่งสม”
“คุณ” ในบาลีหมายถึง –
(1) เชือก, ด้าย (a string, a cord)
(2) ส่วนที่ประกอบขึ้น, ส่วนผสม, สิ่งที่ประกอบ (constituent part, ingredient, component, element)
(3) คุณภาพ, คุณความดี, ผลประโยชน์, ผลบุญ (quality, good quality, advantage, merit)
(4) เมื่อใช้กับ “จำนวน” หรือสิ่งที่นับจำนวน หมายถึง ประการ, ส่วน, เท่า (-fold)
ตัวอย่างในข้อ (4) นี้ก็อย่างเช่นคำว่า “ทวีคูณ” ในภาษาไทย ซึ่งแปลว่า “สองเท่า” (ทวี < ทฺวิ = สอง, คูณ = –เท่า)
“-คูณ” คำนี้แผลงมาจาก “คุณ” นี่เอง
อภิปราย :
“นพคุณ” ถ้ามาจาก นว + คุณ หมายถึงอะไร?
คำว่า “นพคุณ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นพคุณ : (คำนาม) ทองคําเนื้อเก้า เป็นทองบริสุทธิ์ โบราณกําหนดราคาตามคุณภาพของเนื้อ หนัก ๑ บาท เป็นราคาเงิน ๙ บาท เรียกว่า ทองเนื้อเก้า หรือ ทองนพคุณเก้านํ้า, เรียกสั้น ๆ ว่า ทองนพคุณ.”
ถ้าดูตามพจนานุกรมฯ คำว่า “นพ-” ก็มีที่มาจาก “ราคาเงิน ๙ บาท” คือ “นพ” ในคำนี้แปลว่า “เก้า” ไม่ใช่แปลว่า “ใหม่”
แล้ว “-คุณ” จะหมายถึงอะไร? ถ้าแปลทับศัพท์ก็แปลว่า “ทองที่มีคุณเป็นราคาเงิน ๙ บาท” ซึ่งก็ยังไม่รู้อยู่นั่นเองว่า “คุณ” ในคำนี้หมายถึงอะไร แต่ชวนให้เข้าใจว่า “คุณ” หมายถึง ราคาหรือคุณค่าของทองคำหน่วยหนึ่งเมื่อเทียบเท่ากับเงินเก้าบาทซึ่งคงจะเป็นจำนวนที่สูงมากในสมัยโบราณ หรือสมัยที่คิดเทียบค่าทองคำเป็นเงิน กล่าวคือ ทองคำหนัก 1 บาท มีราคาเท่ากับเงิน 9 บาท หรือพูดใหม่ว่า หนึ่งเท่าต่อเก้าเท่า
ถ้าเป็นตามนี้ “คุณ” ในคำนี้ก็ต้องหมายถึง “เท่า” ตามความหมายในข้อ (4) ข้างต้นที่ว่า-เมื่อใช้กับ “จำนวน” หรือสิ่งที่นับจำนวน หมายถึง ประการ, ส่วน, เท่า (-fold)
โดยนัยนี้ “นพคุณ” แปลกลับเป็นบาลีก็คือ “นวคุณ” (นะ-วะ-คุ-นะ) แปลว่า “เก้าเท่า” เทียบได้กับ “ทิคุณ” (ทิ-คุ-นะ) ที่แปลว่า “สองเท่า” (ที่เราคุ้นกันในภาษาไทยว่า “ทวีคูณ”)
“นวคุณ” ถ้าดูเท่าที่ตาเห็น อาจแปลได้ว่า “คุณเก้าประการ” ซึ่งถ้าแปลเป็นเช่นนี้ก็จะต้องสามารถระบุได้ว่า “คุณเก้าประการ” มีอะไรบ้าง เป็นปัญหาต่อไปอีก เปิดช่องให้นักคิดทั้งหลายสรรหาบุคคลหรือสิ่งที่มีคุณ 9 อย่างมาแสดงกันต่อไป
มีข้อสังเกตที่ขอเสนอไว้ นั่นคือ ในภาษาบาลีถ้าจะแสดงถึงสิ่งที่มีจำนวนเท่านั้นเท่านี้ให้ชัด ท่านนิยมใช้คำว่า “วิธ” (วิ-ทะ) ที่แปลว่า “อย่าง, ประการ” (of a kind, consisting of, -fold) ต่อท้ายคำบอกจำนวน
คำที่เราคุ้นดีในภาษาไทยคือ “จตุรพิธพร” แปลว่า “พร 4 ประการ” “-พิธ-” คำนั้นก็คือ “วิธ” นี่เอง
“นวคุณ” ถ้ามีเจตนาจะให้หมายถึง “คุณเก้าประการ” ชัดๆ ก็ควรจะเป็น “นววิธคุณ” แผลงเป็นไทยว่า “นพพิธคุณ” แปลว่า บุคคลหรือสิ่งที่มีคุณความดีหรือคุณสมบัติ 9 อย่าง มีอะไรบ้างก็แล้วแต่นักคิดจะสรรหามาแสดง
ถ้าเป็นอย่างนี้ “คุณ” ไม่ได้หมายถึงว่า “เท่า” แต่หมายถึงคุณความดีหรือคุณสมบัติ
“นพคุณ” = 9 เท่า (ไม่ใช่ 9 อย่าง)
“นพพิธคุณ” = คุณความดี 9 อย่าง (ไม่ใช่ 9 เท่า)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เกิดมาทั้งที
: มีดีให้ได้สักอย่าง
#บาลีวันละคำ (2,346)
14-11-61