มหกรรม

บาลีวันละคำ

มหกรรม (บาลีวันละคำ 777)

มหกรรม

อ่านว่า มะ-หะ-กำ
บาลีเป็น “มหกมฺม” อ่านว่า มะ-หะ-กำ-มะ
ประกอบด้วย มห + กมฺม

“มห” รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = บูชา) + อ ปัจจัย แปลว่า “งานเป็นที่บูชา” หมายถึง –

(1) การควรเคารพ, ความน่านับถือ (worthiness, venerableness)
(2) การสมโภช, การฉลอง (festival, celebration)

“กมฺม” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ) ปัจจัย ลบ รฺ ที่ธาตุ และลบ ร ที่ปัจจัย

: กรฺ > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ” นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”

“กมฺม – กรรม” มีความหมายหลายนัย :

– การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม
– การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม
– การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม
– พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม

มห + กมฺม = มหกมฺม > มหกรรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“มหกรรม : การฉลอง, การบูชา. (ป. มหกมฺม)”

Read More