เพชฌฆาต

บาลีวันละคำ

เพชฌฆาต (บาลีวันละคำ 783)

เพชฌฆาต

อ่านว่า เพ็ด-ชะ-คาด
บาลีเป็น “วชฺฌฆาต” อ่านว่า วัด-ชะ-คา-ตะ
ประกอบด้วย วชฺฌ + ฆาต

“วชฺฌ” รากศัพท์มาจาก วธฺ (ธาตุ = ฆ่า) + ณฺย ปัจจัย, แปลง ณฺย กับ ธ ที่สุดธาตุเป็น ชฺฌ
: วธฺ + ณฺย (ธฺ + ณฺย > ชฺฌ) = วชฺฌ
(บางตำราว่าเป็น หนฺ (ธาตุ = ฆ่า) + ณฺย แปลง หนฺ กับ ณฺย เป็น วชฺฌ)

วชฺฌ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ที่พึงฆ่า” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง สมควรฆ่า, หรือประหารชีวิต; ผู้ที่จะต้องประหารชีวิต; สมควรจะตาย (to be killed, slaughtered or executed; object of execution; meriting death)

“ฆาต” รากศัพท์มาจาก หนฺ (ธาตุ = ฆ่า) + ณฺย ปัจจัย, แปลง หนฺ กับ ณฺย เป็น ฆาต แปลตามศัพท์ว่า “การฆ่า” หมายถึง การทำให้ตาย, ฆาตกรรม; การประหาร, การทำลาย, การปล้น (killing, murdering; slaughter, destruction, robbery)

วชฺฌ + ฆาต = วชฺฌฆาต แปลตามศัพท์ว่า “การประหารผู้ที่สมควรตาย” และใช้เป็นคุณศัพท์ของบุคคลหมายถึง “ผู้ประหารผู้ที่สมควรตาย” (วชฺฌ = ผู้ที่สมควรตาย, ฆาต = ผู้ประหาร)

ในภาษาไทยใช้ว่า “เพชฌฆาต” แผลง วชฺฌ เป็น เพชฌ (คำเทียบ ว- เป็น เพ- เช่น วชิร = เพชร)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“เพชฌฆาต : (คำนาม) เจ้าหน้าที่ประหารชีวิตนักโทษที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิต. (ป. วชฺฌฆาตก)”

Read More