บาลีวันละคำ

เพชฌฆาต (บาลีวันละคำ 783)

เพชฌฆาต

อ่านว่า เพ็ด-ชะ-คาด

บาลีเป็น “วชฺฌฆาต” อ่านว่า วัด-ชะ-คา-ตะ

ประกอบด้วย วชฺฌ + ฆาต

วชฺฌ” รากศัพท์มาจาก วธฺ (ธาตุ = ฆ่า) + ณฺย ปัจจัย, แปลง ณฺย กับ ที่สุดธาตุเป็น ชฺฌ

: วธฺ + ณฺย (ธฺ + ณฺย > ชฺฌ) = วชฺฌ

(บางตำราว่าเป็น หนฺ (ธาตุ = ฆ่า) + ณฺย แปลง หนฺ กับ ณฺย เป็น วชฺฌ)

วชฺฌ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ที่พึงฆ่า” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง สมควรฆ่า, หรือประหารชีวิต; ผู้ที่จะต้องประหารชีวิต; สมควรจะตาย (to be killed, slaughtered or executed; object of execution; meriting death)

ฆาต” รากศัพท์มาจาก หนฺ (ธาตุ = ฆ่า) + ณฺย ปัจจัย, แปลง หนฺ กับ ณฺย เป็น ฆาต แปลตามศัพท์ว่า “การฆ่า” หมายถึง การทำให้ตาย, ฆาตกรรม; การประหาร, การทำลาย, การปล้น (killing, murdering; slaughter, destruction, robbery)

วชฺฌ + ฆาต = วชฺฌฆาต แปลตามศัพท์ว่า “การประหารผู้ที่สมควรตาย” และใช้เป็นคุณศัพท์ของบุคคลหมายถึง “ผู้ประหารผู้ที่สมควรตาย” (วชฺฌ = ผู้ที่สมควรตาย, ฆาต = ผู้ประหาร)

ในภาษาไทยใช้ว่า “เพชฌฆาต” แผลง วชฺฌ เป็น เพชฌ (คำเทียบ – เป็น เพ– เช่น วชิร = เพชร)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เพชฌฆาต : (คำนาม) เจ้าหน้าที่ประหารชีวิตนักโทษที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิต. (ป. วชฺฌฆาตก)”

ข้อสังเกต :

(1) “เพชฌฆาต” : ช ช้าง+ฌ เฌอ ระวังอย่าเขียนผิดเป็น “เพชรฆาต” คำนี้ไม่ใช่ เพชร-ชร

(2) พจน.บอกว่า คำนี้บาลีเป็น “วชฺฌฆาตก” (มี – ด้วย) แต่คำไทยเขียน “เพชฌฆาต” ไม่มี ก์ การันต์

(3) ในคัมภีร์ยังไม่พบศัพท์ “วชฺฌฆาตก” แต่พบศัพท์ “วชฺฌฆาต” ซึ่งตรงกับ “เพชฌฆาต” และใช้ในความหมายเดียวกัน

(4) ในคัมภีร์เมื่อกล่าวถึง “เพชฌฆาต” ใช้ศัพท์ว่า “โจรฆาตก” (โจ-ระ-คา-ตะ-กะ) แปลว่า “ผู้ประหารโจร” (โจร ในคำนี้หมายถึง “นักโทษที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิต” คือเรียกนักโทษเช่นนั้นไม่ว่าจะทำผิดในคดีใดๆ ก็ตามว่า “โจร” เหมือนกันหมด)

ความจริงที่เจ็บปวด –

: ในณะที่ “ผู้ฆ่า” กำลังจะถูกฆ่า มักจะมีผู้ออกมาปกป้องอย่างแข็งแรง

: แต่ในขณะที่ “ผู้ถูกฆ่า” กำลังถูกฆ่า มักจะหาผู้ออกมาปกป้องไม่ได้

#บาลีวันละคำ (783)

10-7-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *