บาลีวันละคำ

สรรพรส < สับปะรด (บาลีวันละคำ 3,043)

สรรพรส < สับปะรด

ลากเข้าวัดได้สบายๆ

เมื่อรับประทานอะไรไม่ถูกปาก คือไม่อร่อย มีคำที่มักพูดกันว่า “ไม่เป็นสับปะรด

วลีนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ที่สะกดว่า “-สับปะรด” นั้น ก็สะกดแบบขอไปที เสียงที่พูดได้ยินเป็นเช่นนั้น แต่คำจริงๆ เป็นเช่นไรยังไม่แจ้ง

เคยได้ยินผู้ที่รู้บาลีเสนอว่า ควรสะกดเป็น “ไม่เป็นสรรพรส

“-สรรพรส” อ่านว่า สับ-พะ-รด เสียงแทบจะเหมือนกับ “-สับปะรด” ถ้าฟังแต่เสียง คงยากที่จะบอกได้ว่า จะให้สะกดเป็น “สรรพรส” หรือ “สับปะรด

แต่เนื่องจาก “สับปะรด” เราคุ้นกันดี ในขณะที่ “สรรพรส” แทบจะไม่มีใครรู้จัก จึงคงไม่มีใครนึกว่าจะมีคำเช่นนี้ พอพูดว่า “ไม่เป็นสับ – รด” ส่วนมากก็จะเข้าใจไปว่า “ไม่เป็นสับปะรด” และเมื่อ “สับปะรด” เป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง อยู่ในกระบวนการกินโดยตรง “ไม่เป็นสับปะรด” จึงสนิทแนบเนียนทันที

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สับปะรด : (คำนาม) ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Ananas comosus Merr. ในวงศ์ Bromeliaceae ไม่มีลําต้นปรากฏบนพื้นดิน ใบเป็นกาบยาวให้ใยใช้ทําสิ่งทอ ขอบใบมีหนาม ผลมีตาโดยรอบ กินได้ รสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ; เรียกใยของพรรณไม้บางชนิดที่มีลักษณะอย่างใยสับปะรด ใช้ทำหมวกเป็นต้นว่า ไหมสับปะรด.”

แล้ว “สรรพรส” ในบาลีมีหรือไม่?

สรรพรส” เขียนแบบบาลีเป็น “สพฺพรส” อ่านว่า สับ-พะ-ระ-สะ ประกอบด้วยคำว่า สพฺพ + รส

(๑) “สพฺพ” (สับ-พะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สรฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง เป็น , แปลง รฺ ที่ สรฺ เป็น พฺ (สรฺ > สพฺ)

: สรฺ + = สรฺว > สรฺพ > สพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไป

(2) สพฺพฺ (ธาตุ = เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย

: สพฺพฺ + = สพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไป

สพฺพ” (คุณศัพท์) หมายถึง ทั้งหมด, ทั้งปวง, ทั้งสิ้น, ทุกอย่าง (whole, entire; all, every)

สพฺพ” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “สรรพ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สรรพ, สรรพ– : (คำวิเศษณ์) ทุกสิ่ง, ทั้งปวง, ทั้งหมด, เช่น พร้อมสรรพ งามสรรพ เสร็จสรรพ สรรพสิ่ง สรรพสินค้า. (ส. สรฺว; ป. สพฺพ).”

(๒) “รส” (ระ-สะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) รสฺ (ธาตุ = ยินดี; ติดใจ, เยื่อใย) + (อะ) ปัจจัย

: รสฺ + = รส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นที่ยินดีแห่งเหล่าสัตว์” (2) “สิ่งอันเหล่าสัตว์ติดใจ” “สิ่งเป็นเหตุติดใจ

(2) (แทนศัพท์ “รม” = พอใจ) + อสฺ (ธาตุ = กิน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: + อสฺ = รส + กฺวิ = รสกฺวิ > รส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่สัตว์พอใจกิน

รส” ในบาลีใช้ในความหมายหลายหลากมากกว่าที่เรารู้กันในภาษาไทย พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ รวบรวมไว้ดังนี้ –

(1) juice (น้ำผลไม้)

(2) taste as [objective] quality, the sense-object of taste (รสในฐานเป็นคุณลักษณะ [เชิงวัตถุวิสัย], รสายตนะ)

(3) sense of taste, as quality & personal accomplishment (ความรู้สึกเกี่ยวกับรสในฐานเป็นใหญ่ และความสำเร็จส่วนตน)

(4) object or act of enjoyment, sensual stimulus, material enjoyment, pleasure (วัตถุ หรือสิ่งเร้าเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน, สิ่งกระตุ้นทางอารมณ์, ความเพลิดเพลินทางวัตถุ, สุขารมณ์)

(5) flavour and its substance or substratum (รสและสาระของรส หรือสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเป็นรส)

(6) essential property, elegance, brightness (สมบัติอันเป็นสาระสำคัญ, ความสง่างาม, ความเจิดจ้า)

(7) essential property [in philosophy] (สมบัติอันเป็นสาระสำคัญ [คำเฉพาะในทางปรัชญา])

(8) fine substance, semi-solid semiliquid substance, extract, delicacy, fineness, dust (สิ่งของที่ละเอียดอ่อน, สิ่งของครึ่งแข็งครึ่งเหลว, สิ่งที่กลั่นออกจากของอื่น, ของที่แบบบาง, ความละเอียด, ละออง)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รส : (คำนาม) สิ่งที่รู้ได้ด้วยลิ้น เช่น เปรี้ยว หวาน เค็ม ฝาด, โดยปริยายหมายถึง ความไพเราะ เช่น กลอนบทนี้ไม่มีรส. (ป., ส.).”

สพฺพ + รส = สพฺพรส แปลว่า “รสทุกอย่าง” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สรรพรส” อ่านว่า สับ-พะ-รด

คำว่า “สรรพรส” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

เราคงเคยได้ยินคำบาลีที่มีผู้นิยมยกมาอ้างเมื่อกล่าวถึง “ธรรมทาน” นั่นคือ “สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ” หนังสือพุทธศาสนสุภาษิตเล่ม 1 หลักสูตรนักธรรมชั้นตรีแปลว่า “การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทั้งปวง

เรามักสนใจกันแค่นี้ แต่ถ้าตามไปอ่านต้นฉบับในพระไตรปิฎกก็จะพบว่า ความข้อนี้ยังมีข้อความต่อไป และ “สพฺพรส” หรือ “สรรพรส” ก็อยู่ในบรรทัดถัดไปนั่นเอง

โปรดดูข้อความเต็มดังนี้ –

…………..

เขียนแบบาลี :

สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ

สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ

สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ

ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ.

เขียนแบบคำอ่าน :

สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ

สัพพะระสัง ธัมมะระโส ชินาติ

สัพะพะระตึ ธัมมะระติ ชินาติ

ตัณหักขะโย สัพพะทุกขัง ชินาติ.

ที่มา: ตัณหาวรรค ธัมมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 34

…………..

หนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก แปลเป็นไทยและอังกฤษ ดังนี้ –

…………..

ธรรมทาน ชนะทานทุกอย่าง

รสพระธรรม ชนะรสทุกอย่าง

ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทุกอย่าง

ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทุกอย่าง

All gifts the gift of Truth excels.

All tastes the taste of Truth excels.

All delights the delight in Truth excels.

All sorrows the end of craving excels.

…………..

คัมภีร์อรรถกถาอธิบายความหมายของคำว่า “สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ” (รสพระธรรมชนะรสทุกอย่าง) ไว้ว่า –

…………..

อนึ่ง รสมีรสเกิดแต่ลำต้นเป็นต้นทุกชนิด จนชั้นที่สุดแม้รสแห่งสุธาโภชน์ (ของกินอันเป็นทิพย์) ของเทพดาทั้งหลาย ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏแล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ส่วนรสพระธรรมกล่าวคือโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ และโลกุตรธรรม 9 ประการนี้แลประเสริฐกว่ารสทั้งปวง เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า “สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ” รสพระธรรม ชนะรสทุกอย่าง ดังนี้.

ที่มา: สักกเทวราชวัตถุ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 6 หน้า 40

…………..

ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นว่า เมื่อรับประทานอะไรไม่ถูกปาก คือไม่อร่อย คำที่มักพูดกันว่า “ไม่เป็นสับ – รด” นั้น สมควรสะกดว่า “ไม่เป็นสรรพรส

หมายความว่า เอา “สรรพรส” คือรสแห่งของกินทั้งปวงบรรดามีในโลกนี้เข้ามาจับดูแล้ว ของกินชนิดที่ไม่ถูกปากเรานั้นไม่มีรส คือไม่เป็นรสใดๆ ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นจึงพูดว่า “ไม่เป็นสรรพรส” ด้วยประการฉะนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เมื่อเป็นคนทำ ท่านควรตามใจคนกิน

: แต่เมื่อเป็นคนกิน ท่านต้องตามใจคนทำ

#บาลีวันละคำ (3,043)

11-10-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย