พัด (บาลีวันละคำ 3,042)
พัด
บาลีว่าอย่างไร
“พัด” ในที่นี้หมายถึง เครื่องโบกหรือกระพือลม ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พัด : (คำนาม) เครื่องโบกหรือกระพือลม. (คำกริยา) ปัดไป, โบก, กระพือ, เช่น เอาพัดมาพัดไฟ พายุพัดฝุ่นตลบ; หมุนอย่างใบพัดพัดลมหรือใบพัดเครื่องบิน.”
“เครื่องโบกหรือกระพือลม” ที่ว่านี้ คำบาลีสามัญเรียกว่า “วีชนี”
(๑) “วีชนี” อ่านว่า วี-ชะ-นี รากศัพท์มาจาก วีชฺ (ธาตุ = พัดโบกให้เกิดลม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วีชฺ + ยุ > อน = วีชน + อี = วีชนี แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องพัดลม” หมายถึง พัด (a fan)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “วิชนี” (วิ– สระ อิ) อ่านว่า วิด-ชะ-นี และ “วีชนี” (วี– สระ อี) บอกไว้ดังนี้ –
(1) วิชนี : (คำนาม) วีชนี. (ป. วีชนี; ส. วีชน).
(2) วีชนี : (คำนาม) วิชนี, พัด. (ป.; ส. วีชน).
โปรดสังเกตวิธีให้บทนิยามของพจนานุกรมฯ ที่ “วิชนี” บอกว่าคือ “วีชนี” ไม่บอกคำแปล ส่วนที่ “วีชนี” ก็บอกว่าคือ “วิชนี” แต่เพิ่มคำแปลว่า พัด ไว้ด้วย
คำในวงเล็บบอกให้รู้ว่า คำนี้บาลีเป็น “วีชนี” สันสกฤตเป็น “วีชน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วีชน” (วี-ชะ-นะ) บอกไว้ดังนี้ –
“วีชน : (คำนาม) พัด; พัสดุ; ไก่นาหรือไก่ฟ้าอย่างหนึ่ง; ห่านเทศ – เป็ดเทศ – หรือหงส์; a fan; thing or substance; a sort of pheasant; the ruddy goose.”
จาก “วีชนี” คำหลัก ยังเรียกแยกออกไปอีกเป็น “จิตฺตวีชนี” และ “วาลวีชนี”
(๒) “จิตฺต” ในคำว่า “จิตฺตวีชนี” อ่านว่า จิด-ตะ รากศัพท์มาจาก จิตฺต (สิ่งที่งดงาม) + อ (อะ) ปัจจัย
: จิตฺต + อ = จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่งามวิจิตรเพราะสร้างขึ้นด้วยจิต” หมายถึง จิตรกรรม, ความวิจิตรต่างๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้น
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ในความหมายนี้ว่า (1) variegated, manifold, beautiful; tasty, sweet, spiced [of cakes] (วิจิตร, มีลวดลายหลายหลาก, สวยงาม, อร่อย, หวาน, ใส่เครื่องเทศ [พูดถึงขนม]) (2) painting (ภาพเขียน)
จิตฺต + วีชนี = จิตฺตวีชนี แปลว่า “พัดอันวิจิตร” (a bright fan)
ขยายความ :
คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 5 เรื่องลาชเทวธีตาวัตถุ เล่าเรื่องหญิงสาวคนหนึ่งถวายข้าวตอกแด่พระมหากัสสปเถระ ผลบุญนั้นส่งให้ไปเกิดเป็นเทพธิดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ต้องการจะทำบุญเพิ่มขึ้นจึงลงมาปฏิบัติดูแลเสนาสนะที่พระเถระพักอาศัยอยู่ในป่า พระมหากัสสปเถระห้ามมิให้ทำ โดยยกเหตุผลว่า
…………..
มา เม อนาคเต จิตฺตวีชนึ คเหตฺวา นิสินฺเนหิ ธมฺมกถิเกหิ “มหากสฺสปตฺเถรสฺส กิร เอกา เทวธีตา อาคนฺตฺวา วตฺตปฏิวตฺตํ กตฺวา ปานียํ ปริโภชนียํ อุปฏฺฐาเปตีติ วตฺตพฺพตํ กริ.
เจ้าอย่าทำให้เราถูกพระธรรมกถึกทั้งหลายในอนาคตนั่งจับพัดอันวิจิตรกล่าวว่า “ได้ยินว่านางเทพธิดาผู้หนึ่งมาทำวัตรปฏิบัติเข้าไปตั้งน้ำฉันน้ำใช้เพื่อพระมหากัสสปเถระ”
…………..
ใจความก็คือ พระมหากัสสปเถระท่านเกรงว่า ถ้ายอมให้เทพธิดาทำเช่นนั้น พวกภิกษุในอนาคต (คือในกาลปัจจุบันนี้) ก็จะพากันประพฤติตาม คือยอมให้สตรีเข้ามาปรนนิบัติดูแลได้ถึงกุฏิ โดยอ้างท่านเป็นตัวอย่าง อันตรายแห่งพรหมจรรย์ก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย
น่าสังเกตว่า พระมหากัสสปเถระท่านเป็นห่วงการพระศาสนาในอนาคตมากกว่าความสะดวกสบายของตัวท่านเอง ท่านเป็นพระอรหันต์แล้วแต่ก็ยังถือธุดงค์ (ข้อปฏิบัติขัดเกลาตนเอง) หลายข้อ ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุจะต้องขัดเกลาตัวเองอีกแล้ว ท่านให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ภิกษุในอนาคต
(๓) “วาล” อ่านว่า วา-ละ รากศัพท์มาจาก วลฺ (ธาตุ = ระวัง, รักษา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ว-(ลฺ) เป็น อา (วลฺ > วาล)
: วลฺ + ณ = วลณ > วล > วาล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขารักษาไว้”
“วาล” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ขนหาง, ขนม้า, หาง (the hair of the tail, horse-hair, tail)
(2) กระชอนผม (a hair-sieve)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วาล, วาล– : (คำนาม) หาง; ขนสัตว์, ขนหางสัตว์. (บางทีเขียน พาล). (ป., ส.).”
วาล + วีชนี = วาลวีชนี แปลตามศัพท์ว่า “พัดที่ทำด้วยขนหางสัตว์”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “วาลวีชนี” ว่า พัดวาลวีชนี, พัดหางจามรี
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วาลวีชนี” ว่า a fan made of a Yak’s tail, a chowrie (พัดทำด้วยขนหางจามรี, แส้)
ขยายความ :
หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 114 อธิบายเรื่อง “วาลวิชนี” มีข้อความดังนี้ –
…………..
วาลวิชนี (วาน-ละ-วิด-ชะ-นี) (พัดและแส้) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้าง ลักษณะเป็นพัดใบตาล ที่ใบตาลปิดทองทั้ง ๒ ด้าน ขอบขลิบทองคำ ด้ามทำด้วยทองลงยา เรียกว่า พัชนีฝักมะขาม ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ตามพระบาลีที่เรียกว่า “วาลวิชนี” ไม่ควรจะเป็นพัดใบตาล ควรจะเป็นเครื่องโบกปัดที่ทำด้วยขนจามรี เพราะวาล แปลว่า ขนโคชนิดหนึ่ง ตรงกับที่ไทยเรียก จามรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างแส้ขนจามรีเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ภายหลังใช้ขนหางช้างเผือก เรียกว่า “พระแส้หางช้างเผือก” แต่ก็ไม่อาจที่จะเลิกใช้พัดใบตาลของเดิมได้ จึงโปรดให้ใช้พัดใบตาลและพระแส้จามรีควบคู่กัน โดยเรียกว่า วาลวิชนี
…………..
(๔) คำบาลีอีกคำหนึ่งที่หมายถึง “พัด” คือคำว่า “ตาลปตฺต” อ่านว่า ตา-ละ-ปัด-ตะ ที่เราเอามาใช้ทับศัพท์ว่า “ตาลปัตร” (ตา-ละ-ปัด)
“ตาล” บาลีอ่านว่า ตา-ละ แปลว่า ต้นตาล เราเอามาใช้ในภาษาไทย อ่านว่า ตาน
“ปตฺต” (ปัด-ตะ) แปลว่า ใบไม้, สิ่งที่เป็นแผ่นบางๆ
ตาล + ปตฺต = ตาลปตฺต แปลว่า “ใบตาล”
ใบตาลมีลักษณะแผ่ออกเป็นรูปพัด ใบอ่อนเอามาแผ่เป็นพัด ใช้พัดโบกเวลาร้อน ต่อมา คนนิยมเอาไปถวายพระ เวลาไปไหนมาไหน พระก็ถือไปด้วยเป็นอย่างบริขาร (ของใช้) พิเศษประจำตัว เพื่อฉลองศรัทธาญาติโยม
“ตาลปตฺต” กลายเป็น “ตาลปัตร” และกลายเป็น “พัด” ที่พระสงฆ์ใช้ในงานพิธีต่างๆ ตลอดจนพัฒนาขึ้นไปเป็น “พัดยศ” ระดับต่างๆ อยู่ในบัดนี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่เอาพระธรรมวินัยมาปฏิบัติ
: จะได้รับพัดสักกี่พัดก็รักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้
#บาลีวันละคำ (3,042)
10-10-63