บาลีวันละคำ

อนุมาน (บาลีวันละคำ 3,044)

อนุมาน

หมายความว่าอย่างไร

อ่านว่า อะ-นุ-มาน

ประกอบด้วย อนุ + มาน

(๑) “อนุ” (อะ-นุ)

เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปล “อนุ” ว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

แปลว่า “น้อย” เช่น “อนุเถระ” = พระเถระชั้นผู้น้อยอนุภรรยา” = เมียน้อย

แปลว่า “ภายหลัง” เช่นคำว่า “อนุช” หรือ “อนุชา” = ผู้เกิดภายหลัง คือน้อง “อนุชน” = คนภายหลัง คือคนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อไป

แปลว่า “ตาม” เช่น “อนุบาล” = ตามเลี้ยงดู, ตามระวังรักษา

แปลว่า “เนืองๆ” เช่น “อนุสรณ์” = ระลึกถึงเนืองๆ คือเครื่องระลึก, ที่ระลึก

(๒) อนุ + มา (ธาตุ = กะ, กำหนด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อนุ + มา = อนุมา + ยุ > อน = อนุมาน แปลตามศัพท์ว่า “การกำหนดตามสิ่งที่ควรกำหนด

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “อนุมาน” ว่า อนุมาน, การกำหนดตามเหตุผล

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุมาน” ว่า inference (การอนุมานหรือการคาดคะเน)

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล inference เป็นบาลีว่า –

(1) anumāna อนุมาน (อะ-นุ-มา-นะ) = การอนุมาน

(2) naya นย (นะ-ยะ) = นัย (“เค้าความที่ส่อให้เข้าใจเอาเอง”)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “อนุมาน” รวมไว้กับ “อนุมา” และ “อนุมิติ” บอกไว้ดังนี้ –

อนุมา, อนุมาน, อนุมิติ : (คำนาม) การลงเอย, การกล่าวกล่อม ตะล่อม อวสาน จากอุทาหรณ์ที่กำหนดให้; inference, drawing a conclusion from given premises.”

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล inference เป็นไทยว่า ลงความเห็นได้, แสดงว่า, ข้อลงความเห็น, ข้อวินิจฉัย

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อนุมาน” ว่า คาดคะเน, ความคาดหมาย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนุมาน : (คำกริยา) คาดคะเนตามหลักเหตุผล. (ป., ส.).

อภิปราย :

คำว่า “อนุมาน” ท่านยังใช้เป็นคำแปลข้อหนึ่งในกาลามสูตรด้วย

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [317] แสดงรายละเอียดในกาลามสูตรไว้ดังนี้ –

…………..

กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 (หมายถึง วิธีปฏิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย หรือหลักความเชื่อ ที่ตรัสไว้ในกาลามสูตร — Kālāmasutta-kaṅkhāniyaṭṭhāna: how to deal with doubtful matters; advice on how to investigate a doctrine, as contained in the Kālāmasutta)

1. มา อนุสฺสเวน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา — Be not led by report)

2. มา ปรมฺปราย (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา — Be not led by tradition)

3. มา อิติกิราย (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ — Be not led by hearsay)

4. มา ปิฏกสมฺปทาเนน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ — Be not led by the authority of texts)

5. มา ตกฺกเหตุ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก — Be not led by mere logic)

6. มา นยเหตุ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน — Be not led by inference)

7. มา อาการปริวิตกฺเกน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล — Be not led by considering appearances)

8. มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว — Be not led by the agreement with a considered and approved theory)

9. มา ภพฺพรูปตาย (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ — Be not led by seeming possibilities)

10. มา สมโณ โน ครูติ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา — Be not led by the idea, ‘This is our teacher’.)

ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น

สูตรนี้ ในบาลีเรียกว่า เกสปุตติยสูตร ที่ชื่อกาลามสูตร เพราะทรงแสดงแก่ชนเผ่ากาลามะแห่งวรรณะกษัตริย์ ที่ชื่อเกสปุตติยสูตร เพราะพวกกาลามะนั้นเป็นชาวเกสปุตตนิคม

…………..

ขอให้พิจารณาข้อ 6 ที่ข้อความว่า “มา นยเหตุ” (มา นะ-ยะ-เห-ตุ) ซึ่งท่านแปลเป็นไทยว่า “อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน” นั่นก็คือ “อนุมาน” แปลมาจากคำว่า “นย” (นะ-ยะ)

ตามไปดูความหมายของคำว่า “นย

นย” (นะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = นำไป, แนะนำ, รู้) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อี ที่ นี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (นี > เน > นย)

: นี > เน > นย + = นย แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนำ” (leading) (2) “การเป็นไป” (3) “อุบายเป็นเครื่องแนะนำ” (4) “วิธีที่พึงแนะนำ” (5) “วิธีเป็นเหตุให้รู้

นย” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) หนทาง, วิธีการ, แผน, วิธี (way, method, plan, manner)

(2) การอนุมาน (inference)

(3) นัย, ความหมาย [ในไวยากรณ์] (sense, meaning [in grammar])

(4) ความประพฤติ (behaviour, conduct)

นย” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “นย-” (มีคำอื่นสมาสข้างท้าย) “นยะ” และ “นัย” บอกไว้ดังนี้ –

(1) นย-, นยะ : (คำนาม) เค้าความที่ส่อให้เข้าใจเอาเอง. (ป., ส.).

(2) นัย : (คำนาม) ข้อสําคัญ เช่น นัยแห่งเรื่องนี้; ความ, ความหมาย, เช่น หลายนัย; แนว, ทาง, เช่น ตีความได้หลายนัย; แง่ เช่น อีกนัยหนึ่ง. (ป. นย).

ในที่นี้ “นย” ใช้ในความหมายว่า “เค้าความที่ส่อให้เข้าใจเอาเอง” หรือ “อนุมาน” = คาดคะเนตามหลักเหตุผล (inference)

ความหมายอีกนัยหนึ่งของ “นยเหตุ” คือ-อย่าเอาประสบการณ์ในอดีตมาคาดการณ์ในอนาคต เช่น – คราวก่อนมันเคยเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นคราวนี้มันน่าจะต้องเป็นอย่างนี้อย่างนั้น

ประสบการณ์ในอดีตหรือประวัติศาสตร์ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เชื่อไม่ได้เลย อย่างนั้นหรือ? หามิได้ เพียงแต่ท่านเตือนว่า อย่าเชื่อดิ่งลงไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตจะต้องเกิดซ้ำอีกในอนาคต

คุณทองหยิบกับคุณทองหยดเคยร่วมทุนกันแคะขนมครกขายมาตลอดเวลา 10 ปี ไม่เคยปรากฏว่ามีใครเบี้ยวใคร ก็อย่าเพิ่งคาดการณ์ว่า พรุ่งนี้คุณทองหยิบกับคุณทองหยดก็จะไม่เบี้ยวกันอีก

สรุปความหมายของ “อนุมาน” ตามกาลามสูตรข้อนี้ก็คือ อย่าเชื่อถือโดยวิธีอนุมาน คือคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นไปได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนฉลาด พยายามหาเหตุผล

: คนฉลาดแกมโกง พยายามสร้างเหตุผล

#บาลีวันละคำ (3,044)

12-10-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย