คหบดี – คหปตานี (บาลีวันละคำ 2,558)
คหบดี – คหปตานี
ที่มาของคำว่า “พ่อบ้าน-แม่เรือน”
(๑) “คหบดี”
ภาษาไทยอ่านว่า คะ-หะ-บอ-ดี เขียนแบบบาลีเป็น “คหปติ” อ่านว่า คะ-หะ-ปะ-ติ ประกอบด้วยคำว่า คห + ปติ
(ก) “คห” (คะ-หะ) รากศัพท์มาจาก คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + อ ปัจจัย
: คหฺ + อ = คห (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เก็บทรัพย์อันคนนำมาแล้ว” (คนหาทรัพย์มาเก็บไว้ที่นั่น จึงเรียกที่นั่นว่า คห = ที่เก็บทรัพย์) หมายถึง บ้าน (a house)
ศัพท์ที่ใกล้กันอีกคำหนึ่งคือ “เคห” (เค-หะ) รากศัพท์เหมือนกับ “คห” เพียงแต่แปลง อะ ที่ ค-(ห) เป็น เอ : คห > เคห
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เคห” ว่า a dwelling, hut, house; the household (ที่อยู่อาศัย, กระท่อม, บ้าน; ครัวเรือน)
(ข) “ปติ” (ปะ-ติ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปา (ธาตุ = รักษา, ดูแล) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > ป)
: ปา + ติ = ปาติ > ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษา”
(2) ปตฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิ ปัจจัย
: ปตฺ + อิ = ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปข้างหน้า”
“ปติ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ (lord, master, owner, leader)
(2) สามี (husband)
คห + ปติ = คหปติ แปลตามศัพท์ว่า “เจ้าของแห่งเรือน” ภาษาไทยเก่านิยมแปลว่า “พ่อเจ้าเรือน” หมายถึง เจ้าของบ้าน, พ่อบ้าน, คหบดี (the possessor of a house, the head of the household, pater familias)
บาลี “คหปติ” ภาษาไทยใช้เป็น “คหบดี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“คหบดี : (คำนาม) ชายที่เป็นเจ้าบ้าน, ผู้มีอันจะกินซึ่งเป็นเจ้าบ้าน, คฤหบดี ก็ว่า. (ป. คหปติ; ส. คฤหปติ).”
(๒) “คหปตานี”
เป็นรูปคำบาลีตรงตัว อ่านว่า คะ-หะ-ปะ-ตา-นี รากศัพท์มาทางเดียวกับ “คหปติ” แต่ลงปัจจัยเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นอิตถีลิงค์ (คำเพศหญิง) คือ –
(ก) คหปติ + อินี ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อิ ที่ คหปติ (คหปติ > คหปต), แปลง อิ ที่ อินี เป็น อา (อินี > อานี)
: คหปติ > คหปต + อินี = คหปตินี > คหปตานี
(ข) คหปติ + อาน ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อิ ที่ คหปติ (คหปติ > คหปต) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: คหปติ > คหปต + อาน = คหปตาน + อี = คหปตานี
“คหปตานี” แปลตามศัพท์ว่า “หญิงเจ้าของแห่งเรือน” ภาษาไทยเก่านิยมแปลว่า “แม่เจ้าเรือน” โดยปกติหมายถึงภรรยาของคหบดี
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“คหปตานี : (คำนาม) หญิงที่เป็นเจ้าบ้าน, ภรรยาของคหบดี, คฤหปัตนี ก็ว่า. (ป.; ส. คฤหปต̣นี).”
อภิปราย :
“คหบดี” และ “คหปตานี” เป็นบุคคลชั้นสูงในสังคม ตามวัฒนธรรมชาวชมพูทวีปจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับกษัตริย์ พราหมณ์ เศรษฐี เรียกตามภาษานิยมของคนสมัยใหม่ก็ว่าเป็นพวก “ไฮโซ”
วงการสื่อสารเช่นพวกนักเขียนนักข่าวสมัยก่อน เมื่อกล่าวถึงชนชั้น “ไฮโซ” หรือชั้นผู้มีอันจะกิน นิยมใช้คำเรียกผู้ชายว่า “คหบดี” และเรียกผู้หญิงว่า “คหปตานี” แต่เวลานี้แทบจะไม่มีใครรู้จักคำ 2 คำนี้แล้ว
“คหบดี” แปลตามตัวว่า “เจ้าบ้าน” ภาษาที่ใช้ในการทะเบียนราษฎรยังใช้คำนี้อยู่ แต่ความหมายเคลื่อนที่ไปแล้ว
“คหปตานี” แปลว่า “แม่เรือน” ในภาษาไทยก็ยังพูดคำนี้กันอยู่
“พ่อบ้าน” “แม่บ้าน” “พ่อบ้าน-แม่เรือน” เห็นได้ชัดว่าถอดคำมาจาก “คหบดี” และ “คหปตานี” นี่เอง แต่ความหมายเคลื่อนที่ไปตามความเข้าใจของผู้คนซึ่งก็ย่อมจะเคลื่อนที่ไปตามกาลเวลาอีกทีหนึ่ง
การเรียนรู้คำบาลีเป็นการช่วยรักษาความหมายเดิมของภาษาไทยได้ทางหนึ่ง
คำว่า “คหบดี” และ “คหปตานี” ในภาษาบาลีมีความหมายมากกว่าคำแปลตรงตัวที่ว่า “เจ้าของบ้าน” คือไม่ใช่เฉพาะผู้มีสิทธิ์ครอบครองเป็นเจ้าของอาคารบ้านเรือน แต่หมายถึงผู้เป็นใหญ่ในกิจการทั้งปวงของครอบครัว เป็นเจ้าของกิจการและผู้บริหารกิจการนั้นๆ
เรียกตามคำคนเก่าก็เห็นจะตรงกับคำว่า “เจ้าคนนายคน” นั่นแล
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เป็นนายเขา ใครก็เป็นได้
: แต่เป็นผู้นำเขา เป็นกันไม่ได้ทุกคน
#บาลีวันละคำ (2,558)
14-6-62