บาลีวันละคำ

ปุเรสมณะ (บาลีวันละคำ 3,232)

ปุเรสมณะ

คือพระที่เป็น “ส่วนล่วงหน้า”

อ่านว่า ปุ-เร-สะ-มะ-นะ

ประกอบด้วย ปุเร + สมณะ

(๑) “ปุเร

เป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” ศัพท์จำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ บาลีไวยากรณ์เรียกว่า “นิบาตมีเนื้อความต่าง ๆ” นักเรียนบาลีท่องจำกันว่า “ปุเร ในก่อน” หมายถึง ก่อน, ข้างหน้า, แต่ก่อน, เร็วกว่าหรือก่อนกว่า (before, in front, formerly, earlier)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “ปุเร” ไว้ แต่มีคำว่า “ปุเรจาริก” ซึ่งมีคำว่า “ปุเร” คำนี้ บอกไว้ว่า –

ปุเรจาริก : (คำวิเศษณ์) เป็นเครื่องนําหน้า, เป็นอารมณ์, เป็นหัวหน้า. (ป., ส.).”

(๒) “สมณะ

เขียนแบบบาลีเป็น “สมณ” อ่านว่า สะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หรือแปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมณ-, สมณะ : (คำนาม) ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. ศฺรมณ).”

ปุเร + สมณ = ปุเรสมณ (ปุ-เร-สะ-มะ-นะ)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปุเรสมณ” ว่า one who wanders ahead of someone else (ผู้เดินล่วงหน้าคนอื่น)

บาลี “ปุเรสมณ” เขียนทับศัพท์แบบไทยเป็น “ปุเรสมณะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

ปุเรสมณะ : พระนำหน้า เป็นศัพท์คู่กับ ปัจฉาสมณะ พระตามหลัง.”

และที่คำว่า “ปัจฉาสมณะ” บอกไว้ว่า –

ปัจฉาสมณะ : พระตามหลัง, พระผู้ติดตาม เช่น พระพุทธเจ้ามักทรงมีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เป็นศัพท์คู่กับ ปุเรสมณะ พระนำหน้า.”

ดูเพิ่มเติม: “ปัจฉาสมณะ” บาลีวันละคำ (2,974) 3-8-63

อภิปรายขยายความ :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ปัจฉาสมณะ” ไว้ บอกไว้ว่า –

ปัจฉาสมณะ : (คำนาม) สมณะผู้ตามหลัง คือ พระผู้น้อยมีหน้าที่เดินตามหลังพระผู้ใหญ่. (ป.).”

แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “ปุเรสมณะ” ไว้

คำว่า “ปัจฉาสมณะ” กับคำว่า “ปุเรสมณะ” เป็นคำที่คู่กัน ในขณะที่เก็บคำหนึ่งไว้ก็ควรจะเห็นว่ามีอีกคำหนึ่งที่เป็นคู่กันอยู่ การที่เลือกเก็บคำหนึ่ง แต่ไม่เก็บอีกคำหนึ่งเช่นนี้ จึงค่อนข้างเข้าใจยากอยู่สักหน่อยว่ามีเหตุผลเช่นไร

…………..

เป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งในหมู่ภิกษุ เมื่อได้รับนิมนต์ไปฉันหรือไปเนื่องในกิจนิมนต์อื่นๆ ในสถานที่ซึ่งยังไม่เป็นที่คุ้นเคย คือชาวบ้านผู้นิมนต์ก็ไม่คุ้นเคยกับธรรมเนียมการรับรองพระ เช่นควรปูลาดอาสนะอย่างไรเป็นต้น ฝ่ายพระเองก็อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับถิ่นฐานนั้นๆ กรณีเช่นนี้คณะภิกษุจะมอบหมายให้ภิกษุรูปหนึ่งหรืออาจหลายรูปทำหน้าที่ “ปุเรสมณะ” คือเดินทางล่วงหน้าไปยังสถานที่นั้นๆ ก่อน เพื่อให้รู้เส้นทางและเพื่อแนะนำเจ้าภาพในการจัดเตรียมสถานที่เป็นต้น

เมื่อทำเช่นนั้นบ่อยๆ จึงกลายเป็นธรรมเนียม เวลาภิกษุได้รับนิมนต์ไปในสถานที่ต่างๆ ก็มักจะมีภิกษุรูปหนึ่งเดินนำไปข้างหน้าเป็น “ปุเรสมณะ” อีกรูปหนึ่งเดินตามไปข้างหลังเป็น “ปัจฉาสมณะ” แต่ทั้งนี้มิได้แปลว่าจะต้องมี “ปุเรสมณะ” และ “ปัจฉาสมณะ” เสมอไป

หลักนิยมของทหารก็เป็นเช่นนี้ คือในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาจะไปปฏิบัติภารกิจนอกพื้นที่ ก็จะจัดกำลังส่วนหนึ่งเดินทางล่วงหน้าไปก่อนเพื่อเตรียมการหรือเพื่อประสานรายละเอียดกับหน่วยเจ้าของพื้นที่ นิยมเรียกกำลังส่วนนี้ว่า “ส่วนล่วงหน้า

ปุเรสมณะ” ก็คือ “ส่วนล่วงหน้า” ของหมู่ภิกษุนั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บางคนชอบตามหลังเมื่อถึงเวลาทำหน้าที่

: บางคนออกหน้าทันทีเมื่อถึงเวลารับรางวัล

#บาลีวันละคำ (3,232)

18-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *