บาลีวันละคำ

ทุรกันดาร [1] (บาลีวันละคำ 640)

ทุรกันดาร [1]

(บาลีแบบไทย)

อ่านว่า ทุ-ระ-กัน-ดาน

ประกอบด้วย ทุร + กันดาร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ทุร- (ทุระ-) คําประกอบหน้าคําศัพท์ หมายความว่า ชั่ว, ยาก, ลําบาก, น้อย, ไม่มี, เช่น ทุรค ว่า ที่ไปถึงยาก, ทางลําบาก”

กันดาร” บาลีเป็น “กนฺตาร” (กัน-ตา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ภูมิประเทศเป็นที่ข้ามไปได้ด้วยน้ำ” (คือต้องมีน้ำติดไปด้วย)

(2) “ภูมิประเทศเป็นที่ยังน้ำดื่มให้ข้ามไปด้วย” (คือต้องขนน้ำดื่มไปด้วย)

(3) “ภูมิประเทศที่พึงข้ามได้ด้วยน้ำ” (ถ้าไม่เอาน้ำไปด้วยก็ผ่านไปไม่ได้)

(4) “ภูมิประเทศที่ตัดการไปมาประจำเพราะมีภัยเฉพาะหน้า” (เช่นมีโจรผู้ร้าย หรือมีสัตว์ร้ายชุกชุมจนคนไม่กล้าผ่าน)

(5) “ภูมิประเทศอันน้ำทำลาย” (คือขาดน้ำจนผู้คนไม่ไป)

ทุร + กันดาร = ทุรกันดาร พจน.42 บอกความหมายไว้ว่า “ที่ไปมาลําบากมาก, ที่ห่างไกลความเจริญ”

ความรู้ทางหลักภาษา :

ทุร-” คำนี้เป็นคำอุปสรรค รูปคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “ทุ

ทุ” ในบาลีจะแปลงเป็น “ทุร” หรือ “ทูร” เมื่อคำที่ “ทุ” ไปประสมขึ้นต้นด้วยสระ เช่น ทุ + อาคม (อา– เป็นสระ) : ทุ > ทุร + อาคม = ทุราคม (แปลว่า การถึงลําบาก, การอยู่ทางไกล)

แต่ในที่นี้ “กนฺตาร” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ : ทุ + กนฺตาร บาลีจะต้องเป็น ทุกฺกนฺตาร ไม่ใช่ ทุรกนฺตาร > ทุรกันดาร

ทุรกันดาร” จึงเป็นบาลีไทย ไม่ใช่บาลีแท้

ความรู้ทางความหมาย :

สมัยโบราณ “ทุรกันดาร” ที่รู้กันดีมี 5 อย่าง คือ –

1. โจรกันดาร ไปมาลําบากเนื่องมาจากโจรผู้ร้าย

2. วาฬกันดาร ไปมาลําบากเนื่องมาจากสัตว์ร้าย

3. นิรุทกกันดาร ไปมาลําบากเนื่องมาจากขาดน้ำ

4. อมนุสกันดาร ไปมาลําบากเนื่องมาจากอมนุษย์ เช่นยักษ์ขวางทาง ภูตผีหลอกหลอน

5. ทุพภิกขกันดาร ไปมาลําบากเนื่องมาจากขาดอาหาร

พระพุทธองค์ตรัสว่า มิจฉาทิฐิ (ความอวดดื้อถือดียึดมั่นในความเห็นของตัว) เป็นป่าทึบทุรกันดาร เต็มไปด้วยอันตราย ยากที่ใครจะฟันฝ่าให้ทะลุออกไปได้

: หนทางไปนิพพานทุรกันดารปานใด

: หนทางปฏิรูปประเทศไทยก็ทุรกันดารปานนั้น

15-2-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย