บาลีวันละคำ

บรรณศาลา (บาลีวันละคำ 3,233)

บรรณศาลา

ที่พักของนักพรต

อ่านว่า บัน-นะ-สา-ลา

ประกอบด้วยคำว่า บรรณ + ศาลา

(๑) “บรรณ

บาลีเป็น “ปณฺณ” (ปัน-นะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปูร (ธาตุ = เต็ม) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ปูร เป็น ปณฺณ

: ปูรฺ + = ปูร > ปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทำให้เต็ม” (คือทำให้ต้นไม้เต็มต้น)

(2) ปต (ธาตุ = ตกไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลง เป็น ณฺณ

: ปตฺ + = ปต > ปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงไปโดยไม่นาน

(3) ปณฺณฺ (ธาตุ = เขียวสด) + (อะ) ปัจจัย

: ปณฺณฺ + = ปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เขียวสด

ปณฺณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ใบไม้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใบพลู) (a leaf [esp. betel leaf])

(2) ใบไม้ที่ใช้เขียน, ใบไม้ที่มีหนังสือจารึกอยู่, จดหมาย; ของบริจาค, เครื่องบรรณาการ (a leaf for writing upon, written leaf, letter; donation, bequest)

(3) ขนนก, ปีกนก (a feather, wing)

ชั้นเดิมศัพท์นี้หมายถึง “ใบไม้” แต่ต่อมาความหมายขยายไปถึง “หนังสือ” อาจเป็นเพราะแต่เดิมมนุษย์ใช้ใบไม้เป็นที่ขีดเขียนลายลักษณ์ลงไป “ปณฺณ” จึงหมายถึงหนังสือไปด้วย

ปณฺณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “บรรณ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรรณ, บรรณ– : (คำนาม) ปีก; หนังสือ; ใบไม้. (ส. ปรฺณ; ป. ปณฺณ).”

(๒) “ศาลา

เป็นรูปคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “สาลา” (สันสกฤต ศาลา บาลี เสือ) รากศัพท์มาจาก สลฺ (ธาตุ = ไป) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ -(ลฺ) เป็น อา (สลฺ > สาล) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สลฺ + = สลณ > สล > สาล + อา = สาลา แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนเป็นที่ผู้คนไปหา

สาลา” หมายถึง ห้องโถง (มีหลังคาและมีฝาล้อมรอบ), ห้องใหญ่, บ้าน; เพิง, โรงสัตว์ (a large [covered & enclosed] hall, large room, house; shed, stable)

ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศาลา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศาลา : (คำนาม) อาคารทรงไทย ปล่อยโถง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือเพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาวัด ศาลาที่พัก ศาลาท่านํ้า, โดยปริยายหมายถึงอาคารหรือสถานที่บางแห่ง ใช้เพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาพักร้อน ศาลาสวดศพ. (ส.; ป. สาลา).”

ปณฺณ + สาลา = ปณฺณสาลา (ปัน-นะ-สา-ลา) แปลตามศัพท์ว่า “ศาลาอันเขามุงบังด้วยใบไม้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปณฺณสาลา” ว่า a hut of leaves, a hermitage (ศาลาหรือกระท่อมที่มุงด้วยใบไม้, อาศรมนักพรต)

ปณฺณสาลา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บรรณศาลา” (บัน-นะ-สา-ลา)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรรณศาลา : (คำนาม) ที่สํานักของฤๅษีหรือผู้บําเพ็ญพรตเป็นต้น ถือกันว่ามุงบังด้วยใบไม้. (ส. ปรฺณศาลา; ป. ปณฺณสาลา ว่า โรงที่มุงและบังด้วยใบไม้).”

อภิปราย :

ปณฺณสาลา” เป็นคำที่มีใช้ทั่วไปในคัมภีร์ เมื่อกล่าวถึงผู้ออกไปบำเพ็ญพรตในป่า ก็จะต้องเอ่ยถึง “บรรณศาลา” ด้วยเสมอในฐานะเป็นที่พักอาศัยที่สร้างขึ้นอย่างง่ายด้วยวัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่

แรกเริ่มเดิมที “บรรณศาลา” มุงบังด้วยใบไม้จริงๆ เพราะใบไม้เป็นของมีอยู่ในที่นั้นเอง ไม่ต้องแสวงหาเหนื่อยยาก และเพราะเหตุที่มุงบังด้วยใบไม้นั่นเองจึงเรียกว่า “บรรณศาลา

ต่อมา แม้ที่พักของนักพรตจะสร้างด้วยวัสดุอย่างอื่น คือไม่ได้ใช้ใบไม้มุงบังอีกแล้ว แต่ก็ยังคงเรียกว่า “บรรณศาลา” ตามที่เคยเรียกกันมา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อยู่ในกระท่อม แต่หัวใจใสสะอาด

: สุขกว่าอยู่ในคฤหาสน์ แต่หัวใจมืดดำ

#บาลีวันละคำ (3,233)

19-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *