บาลีวันละคำ

อุปาทาน (บาลีวันละคำ 111)

อุปาทาน

บาลีอ่านว่า อุ-ปา-ทา-นะ

ภาษาไทยอ่านว่า อุ-ปา-ทาน, อุบ-ปา-ทาน

อุปาทาน” มีรากศัพท์มาจาก อุป (เข้าไป, ใกล้) + อา (กลับความ) + ทา (ให้) + ยุ (แปลงเป็น “อนการ-, ความ-) = อุปาทาน แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปยึดเอา” หมายถึง การยึดมั่น, การถือมั่น

อุปาทาน” ยังแปลว่า “สิ่งที่ไฟจับเอา” ซึ่งหมายถึง เชื้อ, เชื้อเพลิง อีกด้วย

โปรดสังเกต “ทา” (ธาตุหรือรากศัพท์) แปลว่า “ให้” แต่มี “อา” เข้าประสมข้างหน้า เป็น “อาทา” ความหมายกลับตรงกันข้าม จาก “ให้” กลายเป็น “เอา” (รับเอา, คว้าเอา, ยึดเอา)

ความหมายทางธรรม “อุปาทาน” คือความยึดติดถือค้างถือคาไว้ ไม่ปล่อยไม่วางตามควรแก่เหตุผล จำแนกเป็น 4 ลักษณะ คือ

1 กามุปาทาน – ความยึดติดถือมั่นว่าเป็นของเราหรือจะต้องเป็นของเรา จนเป็นเหตุให้เกิดริษยาหรือหวงแหน ลุ่มหลง เข้าใจผิด ทำผิด

2 ทิฏฐุปาทาน – ความยึดติดฝังใจในลัทธิ ทฤษฎี และหลักความเชื่อต่างๆ

3 สีลัพพตุปาทาน – ความยึดถือธรรมเนียมที่ประพฤติกันมาจนชินโดยเชื่อว่าขลัง เป็นเหตุให้งมงาย

4 อัตตวาทุปาทาน – การยึดถือสำคัญมั่นหมายว่านั่นนี่ เป็นตัวตน ยึดถือมั่นหมายว่า นี่เรา นั่นของเรา จนเป็นเหตุแบ่งแยกเป็นพวกเรา พวกเขา และเกิดความถือพวก

ระวัง : “อุปาทาน” อย่าเขียนหรือพูดผิดเป็น “อุปทาน

อุปทาน” เป็นศัพท์บัญญัติทางวิชาเศรษฐศาสตร์ คู่กับ “อุปสงค์

อุปสงค์ = demand

อุปทาน = supply

บาลีวันละคำ (111)

27-8-55

ข้อมูล

อุปาทาน (ศัพท์วิเคราะห์)

ความยึดมั่น, ความถือมั่น, เชื้อไฟ, เชื้อเพลิง

– อุปาทิยเตติ อุปาทานํ กิริยาที่ยึดมั่น

อุป + อา บทหน้า ทา ธาตุ ในความหมายว่าให้ ยุ ปัจจัย

– อตฺตโน ผลํ อุปาทิยติ อุปาทานวเสน คณฺหตีติ อุปาทานํ

อปาทิยเต อคฺคินาติ อุปาทานํ สิ่งอันไฟติด (เหมือน วิ.ต้น)

อุปาทาน นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

อุปาทาน, การยึดมั่น, การถือมั่น.

อุปาทาน (บาลี-อังกฤษ)

“รากฐานด้านวัตถุซึ่งยังให้วิธีกรรมที่ดำเนินอยู่ยังคงดำเนินต่อไป”, เชื้อ, เสบียง, อาหาร. (คุณ) ได้รับการสนับสนุน, มีชีวิตชีวา

อาศัย, ยึด, ยึดมั่น, ถือมั่น, เครื่องเกาะ. (คุณ) แสวงหาที่พึ่งหรือเกาะ, เกาะติดอยู่, ยึดมั่น, ได้รับการหล่อเลี้ยง

อุปาทาน (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542)

  [อุปาทาน, อุบปาทาน] น. การยึดมั่นถือมั่น, การนึกเอาเองแล้วยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ. (ป.).

อุปาทาน (ประมวลศัพท์)

ความถือมั่น, ความยึดติดถือค้างถือคาไว้ (ปัจจุบันมักแปลกันว่า ความยึดมั่น) ไม่ปล่อยไม่วางตามควรแก่เหตุผล เนื่องจากติดใคร่ชอบใจหรือใฝ่ปรารถนาอย่างแรง; ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส มี ๔ คือ

๑. กามุปาทาน ความถือมั่นในกาม

๒. ทิฏฐุปาทาน ความถือมั่นในทิฏฐิ

๓. สีลัพพตุปาทาน ความถือมั่นในศีลและพรต

๔. อัตตวาทุปาทาน ความถือมั่นวาทะว่าตน;

ตามสำนวนทางธรรม ไม่ใช้คำว่า “ถือมั่น” หรือ “ยึดมั่น” กับความมั่นแน่วในทางที่ดีงาม แต่ใช้คำว่า “ตั้งมั่น” เช่น ตั้งมั่นในศีล ตั้งมั่นในธรรม ตั้งมั่นในสัจจะ; ในภาษาไทย มักใช้ “อุปาทาน” ในความหมายที่แคบลงมาว่า ยึดติดอยู่กับความนึกคิดเอาเองว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือจะต้องเป็นไปเช่นนั้นเช่นนี้ (ประมวลศัพท์)

กามุปาทาน

ความยึดติดถือมั่นในกาม ยึดถือว่าเป็นของเราหรือจะต้องเป็นของเรา จนเป็นเหตุให้เกิดริษยาหรือหวงแหน ลุ่มหลง เข้าใจผิด ทำผิด

ทิฏฐุปาทาน

ความถือมั่นในทิฏฐิ, ความยึดติดฝังใจในลัทธิ ทฤษฎี และหลักความเชื่อต่างๆ (ข้อ ๒ ในอุปาทาน ๔)

สีลัพพตุปาทาน

ความยึดมั่นศีลและวัตรด้วยอำนาจกิเลส, ความถือมั่นศีลพรต คือธรรมเนียมที่ประพฤติกันมาจนชินโดยเชื่อว่าขลังเป็นเหตุให้งมงาย, คัมภีร์ธัมมสังคณีแสดงความหมายอย่างเดียวกับ สีลัพพตปรามาส (ข้อ ๓ ในอุปาทาน ๔)

อัตตวาทุปาทาน

การถือมั่นวาทะว่าตน คือความยึดถือสำคัญมั่นหมายว่านั่นนี่เป็นตัวตน เช่น มองเห็นเบญจขันธ์เป็นอัตตา, อย่างหยาบขึ้นมา เช่น ยึดถือมั่นหมายว่า นี่เรา นั่นของเรา จนเป็นเหตุแบ่งแยกเป็นพวกเรา พวกเขา และเกิดความถือพวก (ข้อ ๔ ในอุปาทาน ๔)

(ประมวลศัพท์)

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย