ปูชา (บาลีวันละคำ 112)
ปูชา
อ่านตรงตัวว่า ปู-ชา
ภาษาไทยใช้ว่า “บูชา” และพูดทับศัพท์ว่า “บูชา” จนเข้าใจกันทั่วไป
“ปูชา” มีรากศัพท์ คือ ปูชฺ (ธาตุ = บูชา) + อ (ปัจจัย) + อา (ทำศัพท์ให้เป็นอิตถีลิงค์) = ปูชา
อีกรูปหนึ่งของ ปูชา คือ “ปูชน” (ปู-ชะ-ชะ, ดังที่ไปเป็น “ปูชนีย” ในคำว่า ปูชนียสถาน, ปูชนียบุคคล)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ไขความคำว่า “บูชา” ว่า –
“แสดงความเคารพบุคคลหรือสิ่งที่นับถือด้วยเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น, ยกย่องเทิดทูนด้วยความนับถือหรือเลื่อมใสในความรู้ความสามารถ”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “บูชา” ว่า –
– นำดอกไม้ ของหอม อาหาร ทรัพย์สินเงินทอง หรือของมีค่า มามอบให้ เพื่อแสดงความซาบซึ้งพระคุณ มองเห็นความดีงาม เคารพนับถือ ชื่นชมเชิดชู หรือนำมาประกอบกิริยาอาการในการแสดงความยอมรับนับถือ ตลอดจนจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อแสดงความเคารพนับถือเช่นนั้น
– แสดงความเคารพเทิดทูน
– เชิดชูคุณความดี
– ยกย่องให้ปรากฏความสำคัญ
พระไตรปิฎกจำแนก “ปูชา” เป็น 2 อย่าง คือ –
1 อามิสบูชา (อา-มิด-สะ-) บูชาด้วยวัตถุสิ่งของ
2 ธรรมบูชา หรือ ปฏิบัติบูชา บูชาด้วยธรรม คือด้วยการปฏิบัติให้บรรลุจุดหมายที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมไว้
ลักษณะ รูปแบบ หรือวิธีการบูชา สรุปได้เป็น 3 อย่าง คือ
1 สักการบูชา (สัก-กา-ระ-) บูชาด้วยวัตถุสิ่งของ เช่นดอกไม้ธูปเทียน
2 สัมมานบูชา (สำ-มา-นะ-) บูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสอน
3 ปัคคหบูชา (ปัก-คะ-หะ-) บูชาด้วยการยกย่องให้ปรากฏความสำคัญ
พุทธภาษิต : ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ = บูชาผู้ที่ควรบูชา เป็นอุดมมงคล
บาลีวันละคำ (112)
28-8-55
ห้องพระ
15-9-55
บูชา
นำดอกไม้ ของหอม อาหาร ทรัพย์สินเงินทอง หรือของมีค่า มามอบให้ เพื่อแสดงความซาบซึ้งพระคุณ มองเห็นความดีงาม เคารพนับถือ ชื่นชมเชิดชู หรือนำมาประกอบกิริยาอาการ ในการแสดงความยอมรับนับถือ ตลอดจนจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อแสดงความเคารพนับถือเช่นนั้น, แสดงความเคารพเทิดทูน, เชิดชูคุณความดี, ยกย่องให้ปรากฏความสำคัญ; บูชา มี ๒ (องฺ.ทุก.๒๐/ ๔๐๑/๑๑๗) คือ อามิสบูชา (บูชาด้วยอามิส คือด้วยวัตถุสิ่งของ) และ ธรรมบูชา (บูชาด้วยธรรม คือด้วยการปฏิบัติให้บรรลุจุดหมายที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมไว้), ในอรรถกถาแห่งมงคลสูตร (ขุทฺทก.อ.๑๑๓; สุตฺต.อ.๒/๘๓) ท่านกล่าวถึงบูชา ๒ อย่าง เป็น อามิสบูชา และ ปฏิบัติบูชา (บูชาด้วยการปฏิบัติ คือ บูชาพระพุทธเจ้าด้วยสรณคมน์ การรับสิกขาบทมารักษาเพื่อให้เป็นผู้มีศีล การถืออุโบสถ และคุณความดีต่างๆ ของตน มีปาริสุทธิศีล ๔ เป็นต้น ตลอดจนการเคารพดูแลมารดาบิดา และบูชาปูชนียบุคคลทั้งหลาย) โดยเฉพาะปฏิบัติบูชานั้น ท่านอ้างพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตร (ที.ม.๑๐/๑๒๙/๑๖๐) ที่ตรัสว่า “ดูกรอานนท์ ผู้ใดแล จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยิ่ง” กล่าวย่อ ปฏิบัติบูชา ได้แก่ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ (ประมวลศัพท์)
บูชา
ก. แสดงความเคารพบุคคลหรือสิ่งที่นับถือด้วยเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น เช่น บูชาพระ บูชาเทวดา บูชาไฟ, ยกย่องเทิดทูนด้วยความนับถือหรือเลื่อมใสในความรู้ความสามารถ เช่น บูชาวีรบุรุษ บูชาความรู้ บูชาฝีมือ. (ป., ส. ปูชา).
สักการะ
เคารพนับถือบูชา, เครื่องแสดงความเคารพบูชา
สัมมานะ
ความนับถือ, การยกย่อง, การให้เกียรติ; ตรงข้ามกับ อวมานะ
ปัคคหะ
การยกย่อง (พจนานุกรมเขียน ปัคหะ)
(ประมวลศัพท์)
สักการ-, สักการะ
[-การะ-] ก. บูชาด้วยสิ่งหรือเครื่องอันพึงบูชา เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ บูชา เป็น สักการบูชา. (ป.; ส. สตฺการ).