โข (บาลีวันละคำ 819)
โข
นานโข ไกลโข มากโข ฯลฯ
พูดกันจนเข้าใจว่าเป็นคำไทยแท้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) โข : (ภาษาปาก) (คำวิเศษณ์) มาก. (กร่อนมาจาก อักโข ซึ่งตัดมาจาก อักโขภิณี).
(2) อักโข : (คำวิเศษณ์) มาก, หลาย. (ตัดมาจาก อักโขภิณี).
(3) อักโขภิณี, อักโขเภณี : (คำนาม) จํานวนนับอย่างสูง คือ ๑ มีศูนย์ตาม ๔๒ ตัว; กองทัพอินเดียโบราณที่มีกระบวนรบพร้อมมูลตามกําหนด; ใช้ว่า อักเษาหิณี ก็มี. (ป.; ส. อกฺเษาหิณี).
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า – (สะกดตามต้นฉบับ)
อกฺเษาหินี : น. จตุรงคเสนา (= กองทัพอย่างเต็มที่ หรือ สมบูรณวาหินี – มีทหารเดิรเท้า (หรือทหารราบ) ๑๐๙,๓๕๐, ทหารม้า ๖๕,๖๑๐, ช้าง ๒๑,๘๗๐ เชือก, รถสึก ๒๑,๘๗๐ คัน); a full army (consisting of 109,350 foot, 65,610 horse, 21,870 elephants, and 21,870 chariots); a complete army, an army in full fighting strength.
ในบาลี “อกฺโขภิณี” (เป็น อกฺโขหิณี ก็มี) รากศัพท์มาจาก น (ไม่, ไม่ใช่) + ขุภฺ (ธาตุ = หวั่นไหว) + ยุ ปัจจัย, แปลง น เป็น อ, ซ้อน ก, แผลง อุ ที่ ขุ– เป็น โอ, ลง อิ อาคม, แปลง ยุ เป็น อน แล้วแปลง น เป็น ณ, ลง อี ปัจจัยเครื่องหมายคำเพศหญิง
: น > อ + ก = อกฺ + ขุภฺ = อกฺขุภ > อกฺโขภ + อิ = อกฺโขภิ + ยุ > อน > อณ = อกฺโขภิณ + อี = อกฺโขภิณี แปลตามศัพท์ว่า “(กองทัพ) ที่ไม่อาจให้หวั่นไหวได้”
เดิมคำนี้ใช้เป็นคุณศัพท์ของ “เสนา” หรือ “วาหินี” (= กองทัพ) หมายถึงกองทัพที่มีกำลังรบจำนวนมหึมา เมื่อมีจำนวนมากมายมหาศาลเช่นนั้น ฝ่ายตรงข้ามจึงไม่สามารถทำให้ “หวั่นไหว” ได้ (อกฺโขภ = ไม่หวั่นไหว) = เอาชนะไม่ได้
เมื่อย้อนทวนความหมาย “ไม่หวั่นไหว” เพราะอะไร ก็ได้ตำตอบว่า “เพราะมีจำนวนมากมายมหาศาล” คำว่า อกฺโขภ (กลายรูปตามกระบวนการทางไวยากรณ์เป็น อกฺโขภิณี) = ไม่หวั่นไหว จึงมีความหมายโดยนัยว่า “มากมายมหาศาล” ทั้งๆ ที่ตามศัพท์แล้วแปลว่า “ไม่หวั่นไหว” ไม่ได้แปลว่า “มากมาย” แต่อย่างใด
อกฺโขภิณี ใช้ในภาษาไทยว่า “อักโขภิณี” ตัดลงเป็น “อักโข” แล้วกร่อนเหลือเพียง “โข” พยางค์เดียว ดังที่ใช้พูดกันทั่วไป
ในภาษาบาลี “โข” คำเดียวก็มี แต่เป็นคำที่เรียกตามหลักไวยากรณ์ว่า “นิบาต” (นิบาต : ศัพท์ประเภทหนึ่ง สำหรับใช้เติมลงข้างหน้าหรือข้างหลังคำหรือข้อความเพื่อเน้นความ ไขความ ยอมความอย่างไม่เต็มใจเป็นต้น เช่น ก็ดี ก็ตาม หรือใช้เป็นคำขึ้นต้นข้อความใหม่ต่อจากข้อความเดิม เช่น ก็แหละ – พจน.54) มีความหมายว่า จริงๆ, แน่แท้, แน่นอน (indeed, really, surely)
ความดี : ทำเท่าดวงดาวทั้งท้องฟ้า ก็ยังน้อยเกินไป
ความชั่ว : ทำเท่าเศษฝุ่นธุลี ก็มากเกินไป
#บาลีวันละคำ (819)
15-8-57