อุปาสก (บาลีวันละคำ 110)
อุปาสก
อ่านว่า อุ-ปา-สะ-กะ
ในภาษาไทยใช้ว่า “อุบาสก” (อุ-บา-สก) ตามหลักนิยมที่ลดรูป ป ปลา เป็น บ ใบไม้ เช่น – ปุญฺญ เป็น “บุญ” ปาป เป็น “บาป” ปณฺฑิต เป็น “บัณฑิต”
“อุปาสก” มาจากการประสมระหว่าง อุป + อาสฺ + ณฺวุ
“อุป” (อุ-ปะ) คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้
“อาสฺ” (อา-สะ) ธาตุ = นั่ง (ดังคำว่า “อาสนะ” = ที่นั่ง)
“ณฺวุ” (นะ-วุ) ปัจจัย และแปลงเป็น อก (อะ-กะ) = ผู้
อุป + อาสฺ + ณฺวุ > อก= อุปาสก แปลว่า “ผู้นั่งใกล้” ขยายความว่า “ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย” (อุปาสโกติ รตนตฺตยสฺส อุปาสนโต)
ถ้าเป็นหญิง ลงปัจจัยแปลงศัพท์เป็นอิตถีลิงค์ = อุปาสก = อุปาสิกา ภาษาไทยใช้ว่า “อุบาสิกา”
“อุบาสก” คำเก่าเรียกกร่อนเป็น “ประสก” “อุบาสิกา” กร่อนเป็น “สีกา”
“ประสก – สีกา” เป็นคำที่พระภิกษุสามเณรเรียกญาติโยม ไม่ใช่ญาติโยมเรียกตัวเอง
ผู้ที่จะได้ชื่อว่า “อุบาสก – อุบาสิกา” ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ –
1 มีศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า
2 มีศีลบริสุทธิ์
3 ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล
4 ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา
5 ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา
ความรู้ทดสอบ ตอบโดยไม่ต้องค้น :
ใครเป็นอุบาสก-อุบาสิกา คนแรกในพระพุทธศาสนา ?
บาลีวันละคำ (110)
26-8-55
อุปาสก = ผู้เข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย
รตนตฺตยํ อุปคนฺตฺวา อาสตีติ อุปาสโก
อุป + อาสฺ ธาตุ ในความหมายว่าอยู่ใกล้
(ศัพท์วิเคราะห์)
อุบาสก
น. คฤหัสถ์ผู้ชายที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง. (ป., ส. อุปาสก).
อุบาสิกา
น. คฤหัสถ์ผู้หญิงที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง. (ป., ส. อุปาสิกา).
อุปาสก (อุป + อาสฺ)
ฆราวาสผู้ซื่อสัตย์ หรือจงรักภักดี
devout or faithful layman (บาลี-อังกฤษ)
อุปาสก ป.
อุบาสก, ชายผู้ถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่ง, คนผู้ใกล้ชิดพระรัตนตรัย
(ประมวลศัพท์)
อุปาสกัตตเทสนา
การแสดงความเป็นอุบาสก คือ ประกาศตนเป็นอุบาสกโดยถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ (ประมวลศัพท์)
อุบาสก
ชายผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย, คนใกล้ชิดพระศาสนา, คฤหัสถ์ผู้ชายที่แสดงตนเป็นคนนับถือพระพุทธศาสนาโดยประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
ปฐมอุบาสกผู้ถึงสรณะ ๒ ได้แก่ ตปุสสะและภัลลิกะ ปฐมอุบาสกผู้ถึงไตรสรณะ คือบิดาของพระยสะ
อุบาสิกา
หญิงผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย, คนใกล้ชิดพระศาสนาที่เป็นหญิง, คฤหัสถ์ผู้หญิงที่แสดงตนเป็นคนนับถือพระพุทธศาสนา โดยประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
ปฐมอุบาสิกา ได้แก่ มารดา (นางสุชาดา) และภรรยาเก่าของพระยสะ
(ประมวลศัพท์)
สมบัติของอุบาสก คือ
๑. มีศรัทธา
๒. มีศีลบริสุทธิ์
๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล
๔. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา
๕. ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา
(ข้อ ๕ แปลทับศัพท์ว่า ทำบุพการในพระศาสนานี้, แบบเรียนว่า บำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา); ดู บุพการ (ประมวลศัพท์)
บุพการ
1. “อุปการะก่อน”, การช่วยเหลือเกื้อกูลที่ริเริ่มทำขึ้นก่อนเอง โดยมิได้คำนึงถึงเหตุเก่าเช่นว่าเขาเคยทำอะไรให้เราไว้ และมิได้หวังข้างหน้าว่าเขาจะให้อะไรตอบแทนเรา (ในคำว่า บุพการี)
2. ความเกื้อหนุนช่วยเหลือโดยถือเป็นสำคัญอันดับแรก, การอุปถัมภ์บำรุงเกื้อกูลนับถือรับใช้ที่ทำโดยตั้งใจให้ความสำคัญนำหน้าหรือก่อนอื่น (เช่นในข้อ ๕ แห่ง สมบัติของอุบาสก ๕) (ประมวลศัพท์)
บาลี
เอสาห ภวนฺต โคตม สรณ คจฺฉามิ ธมฺมฺจ
ภิกฺขุสงฺฆฺจ อุปาสก ม ภว โคตโม ธาเรตุ
อชฺชตคฺเค ปาณุเปต สรณ คตนฺติ ฯ
ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม กับทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
(สูตรที่ ๖ อธิกรณวรรคที่ ๒ ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๒๖๒)
อธิบายคำว่า อุบาสก ในอรรถกถา
อุปาสโกติ รตนตฺตยสฺส อุปาสนโต.
ชื่อว่า อุบาสก เพราะนั่งใกล้พระรัตนตรัย
(มโนรถปูรณี ภาค ๒ หน้า ๒๓-)
ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย