บาลีวันละคำ

ชีวก โกมารภัจ (บาลีวันละคำ 206)

ชีวก โกมารภัจ

ชื่อหมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล วงการแพทย์แผนไทยนับถือกันมาก ถึงกับสร้างรูปเคารพบูชากันทั่วไป เรียกกันเป็นสามัญว่า “หมอชีวก

ชีวก โกมารภัจ” (ชี-วก โก-มา-ระ-พัด) ภาษาบาลีเป็น  “ชีวโก โกมารภจฺโจ” อ่านว่า ชี-วะ-โก / โก-มา-ระ-พัด-โจ

ชื่อนี้มาจากประวัติชีวิตของหมอชีวกเอง

เมื่อคลอด แม่เอาไปทิ้งที่กองขยะ เจ้าชายอภัยราชกุมารโอรสของพระเจ้าพิมพิสารไปพบเข้า ตรัสถามมหาดเล็กว่า เด็กตายหรือยัง มหาดเล็กตอบว่า “ชีวติ = ยังเป็นอยู่” จึงเก็บเอาไปเลี้ยง ตั้งชื่อว่า “ชีวโก” แปลว่า “ยังเป็น” (เทียบตามคำไทย เห็นจะตรงกับ “บุญยัง” หรือ “บุญรอด”)

และเพราะราชกุมารเอาไปเลี้ยง จึงมีสร้อยนามว่า “โกมารภจฺโจ” ซึ่งมาจากคำว่า กุมาร (= ราชกุมาร) + ภจฺจ (= ผู้ได้รับการเลี้ยงดู) แผลง อุ ที่ กุ เป็น โอ ตามกฎไวยากรณ์ : กุมาร = โกมาร = โกมารภจฺโจ แปลว่า “ผู้ที่ราชกุมารเลี้ยง

ชีวิตของหมอชีวก

– โลดโผนตั้งแต่เกิด เฉียดเป็นเฉียดตายหลายครั้ง

– เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า

– จบแพทย์ด้วยข้อสอบที่พิสดารที่สุดในโลก

– หมอที่ชื่อเป็นมงคล (บุญยังบุญรอด) คนป่วยได้ยินชื่อก็แทบจะหายป่วยไปครึ่งหนึ่ง

– สามารถผ่าตัดสมองได้ตั้งแต่เมื่อกว่าสองพันหกร้อยปีมาแล้ว

: ประวัติชีวิตหมอชีวกมีบันทึกไว้ในคัมภีร์อย่างละเอียด

ใครอยากอ่านสำนวนเดิมๆ ไม่เติมสีบ้าง ?

บาลีวันละคำ (206)

30-11-55

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย