บาลีวันละคำ

มาตุคาม (บาลีวันละคำ 207)

มาตุคาม

อ่านว่า มา-ตุ-คา-มะ ภาษาไทยอ่านว่า มา-ตุ-คาม

ประกอบด้วยคำว่า มาตุ + คาม = มาตุคาม

“มาตุ” แปลว่า แม่ (หญิงที่มีลูก)

“คาม” ศัพท์นี้เรามักเข้าใจกันในความหมายว่า บ้าน, หมู่บ้าน แต่ “คาม” ที่ต่อท้าย “มาตุ” มาจากรากศัพท์ต่างกัน ตามคำแปลดังนี้

1- “มาตุคาม” แปลว่า “ผู้มีร่างกายเหมือนร่างกายแห่งมารดา” คำแปลนี้ “คาม” หมายถึง “ร่างกาย” คือเปรียบ คาม = บ้าน เหมือนร่างกาย

2- “มาตุคาม” แปลว่า “ผู้เป็นไปเหมือนมารดา” คำแปลนี้ “คาม” มาจาก “คมฺ” ธาตุ แปลว่า “เป็นไป”

3- “มาตุคาม” แปลว่า “ผู้ถึงภาวะเสมอเหมือนมารดา” คำแปลนี้ “คาม” มาจาก “คมฺ” ธาตุ แปลว่า “ไป, ถึง”

4- “มาตุคาม” แปลว่า “ผู้กินเหมือนมารดา” คำแปลนี้ “คาม” มาจาก “คสฺ” ธาตุ แปลว่า “กิน” (“กินเหมือนมารดา” ก็อย่างเช่น แม่ต้องให้ลูกได้กินก่อน ตัวเองจึงจะกิน)

5- “มาตุคาม” แปลว่า “ผู้ขับกล่อมเหมือนมารดา” คำแปลนี้ “คาม” มาจาก “เค” ธาตุ แปลว่า “ขับขาน, ขับกล่อม, ส่งเสียง”

สรุปว่า “มาตุคาม” หมายถึงผู้หญิง, เพศหญิง คำนี้มักใช้ในเมื่อกล่าวถึงธรรมชาติธรรมดาของเพศหญิง

คงมีหลายคนที่เข้าใจผิด คิดว่า “มาตุคาม” แปลว่า “บ้านแม่” หรือ “แผ่นดินแม่” หรือ “บ้านเกิดเมืองนอน” ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า “มาตุภูมิ”

: เหมือนใครบางคน ที่เป็นเพียงแค่คนแต่งกาพย์เห่เรือ แต่มีคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพนักงานเห่ – ฉันใด ก็ฉันนั้นแล

บาลีวันละคำ (207)

1-12-55

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย