ปรปักษ์ – ปฎิปักษ์ (บาลีวันละคำ 997)
ปรปักษ์ – ปฎิปักษ์
อ่านว่า ปอ-ระ-ปัก / ปะ-ติ-ปัก
บาลีเป็น –
“ปรปกฺข” อ่านว่า ปะ-ระ-ปัก-ขะ
“ปฏิปกฺข” อ่านว่า ปะ-ติ-ปัก-ขะ
ทั้งสองคำนี้ คำหลักคือ “ปกฺข” ส่วน “ปร-” และ “ปฏิ-” เป็นคำขยายความ
(๑) “ปกฺข” แปลตามศัพท์ว่า :
(1) “กาลเป็นเหตุสุกแห่งสิ่งที่เป็นอยู่” = ระยะเวลาครึ่งเดือน
(2) “ผู้ปราศจากแข้งที่เป็นเหมือนเพลารถ” = คนง่อย
(3) “สิ่งที่เป็นไป” = พู่ของลูกธนู
(4) “อวัยวะเป็นเครื่องบินไป” = ปีกนก
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ประมวลความหมายของ “ปกฺข” ไว้ดังนี้ :
(1) ด้านข้างของร่างกาย, สีข้าง, ปีก, ขนนก (side of the body, flank, wing, feathers)
(2) ปีกข้างหนึ่งของบ้าน (wing of a house)
(3) ปีกนก (wing of a bird)
(4) ด้านข้าง, ส่วน (side, party, faction)
(5) ครึ่งเดือนทางจันทรคติ, หนึ่งปักษ์ (one half of the lunar month, a fortnight)
(6) ทางเลือก, คำแถลงของฝ่ายหนึ่งที่มีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง (alternative, statement)
(7) (คุณศัพท์) ร่วมกับ, ผู้เข้าร่วมเป็นพวก, ลูกศิษย์หรือลูกน้อง (associated with, a partisan, adherent)
(8) (ในคำว่า “หตปกฺข”) ผู้ถูกบาดเจ็บ ฯลฯ เข้าที่ข้างหนึ่ง, เป็นอัมพาตไปข้างหนึ่ง, คนพิการ (one who is struck on one side, paralysed on one side, a cripple)
(๒) “ปร” แปลว่า อื่น, อื่นอีก, อีกอันหนึ่ง, อีกข้างหนึ่ง, โพ้น, เหนือ
(๓) “ปฏิ” เป็นคำอุปสรรค ใช้นำหน้าคำอื่น มีความหมายว่า เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ ในที่นี้น้ำหนักของความหมายอยู่ที่ “ตอบ” หรือ “กลับ”
ความหมายในบาลี :
(๑) ปร + ปกฺข = ปรปกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ฝ่ายอื่น” หมายถึง มีฝ่ายหนึ่งอยู่แล้ว “ปรปกฺข” ก็จะหมายถึงอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละส่วนกับฝ่ายที่มีอยู่แล้ว (another side, other side) แต่ไม่ได้เล็งถึงว่าจะต้องเป็นฝ่ายที่ขัดแย้งหรือเป็นศัตรูกัน อาจเป็นศัตรูกันก็ได้ หรืออาจเป็นฝ่ายที่ช่วยเกื้อกูลกันก็ได้ เช่น ฝ่ายหนึ่งดูแลรักษาด้านหน้า อีกฝ่ายหนึ่งดูแลรักษาด้านหลัง “อีกฝ่ายหนึ่ง” นี่แหละคือ “ปรปกฺข” ที่เกื้อกูลกัน
(๒) ปฏิ + ปกฺข = ปฏิปกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ฝ่ายตรงข้าม” หมายถึง ฝ่ายที่เผชิญหน้ากัน, ฝ่ายที่ขัดขวาง หรือขวางทางไว้ไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งไปได้สะดวก (opposed, opposite) มีความหมายโดยเฉพาะว่า ข้าศึก, คู่แข่งขัน (an enemy, opponent)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ปักษ-, ปักษ์ : (คำนาม) ฝ่าย, ข้าง, เช่น ปักษ์ใต้, กึ่งของเดือนจันทรคติ คือ เดือนหนึ่งมี ๒ ปักษ์ ข้างขึ้นเรียก ศุกลปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายขาว หมายเอาแสงเดือนสว่าง) ข้างแรมเรียก กาฬปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายดํา หมายเอาเดือนมืด), ครึ่งเดือน เช่น หนังสือรายปักษ์. (ส.; ป. ปกฺข).
(2) ปรปักษ์ : (คำนาม) ข้าศึก, ศัตรู, ฝ่ายตรงข้าม.
(3) ปฏิปักษ์ : (คำนาม) ฝ่ายตรงกันข้าม, ข้าศึก, ศัตรู. (คำวิเศษณ์) ที่ตรงกันข้าม เช่น ฝ่ายปฏิปักษ์. (ส. ปรฺติปกฺษ; ป. ปฏิปกฺข).
จะเห็นได้ว่า ในภาษาไทย ปรปักษ์ และ ปฏิปักษ์ ใช้ในความหมายเดียวกัน
: เราคิดอะไรก็คล้อยตาม อย่าด่วนเห็นงามว่าเป็นมิตร
: คนค้านสิ่งที่เราคิด อย่าด่วนลงเนื้อว่าเป็นศัตรู
—————-
(ตามคำถามของ Somphol Chaisiriroj)
#บาลีวันละคำ (997)
9-2-58