บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด :

ถ้าจะรักษาพระศาสนา

จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

-๘-

เสียงตำหนิของชาวบ้าน

————————–

ในการครองชีพและปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของพระ ถ้ามีปัญหาว่าสิ่งนั้นเรื่องนั้นทำได้หรือทำไม่ได้ จะทำดีหรือไม่ทำดี หากไม่มีพระธรรมวินัยระบุไว้ชัดเจน วิธีตรวจสอบที่ดีที่สุดก็คือ ฟังเสียงชาวบ้านว่าเขาตำหนิเรื่องอะไร แล้วอย่าทำเรื่องที่ชาวบ้านตำหนิ

วิธีนี้เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ในการบัญญัติสิกขาบทต่างๆ เป็นอันมาก หลักก็คือ ห้ามทำสิ่งที่ชาวบ้านตำหนิ

เมื่อพระยังต้องอยู่ในสังคม 

ถ้าไปทำสิ่งที่สังคมตำหนิ 

แล้วจะอยู่กับสังคมได้อย่างไร

ส่วนเสียงชมนั้น ไม่ใช่เสียงที่ก่อปัญหา เพราะฉะนั้น ก็ทำเพียงมีสติรู้ทัน พร้อมกันนั้นก็ต้องมีหลักและยึดหลักเป็นสำคัญ

ถ้าเขาชมถูกหลัก ก็กำหนดรู้ทัน

แต่ถ้าเขาชมผิดหลัก ก็ต้องยึดหลักเป็นสำคัญ ไม่ใช่ยึดคำชม

ตัวอย่างที่เคยเอ่ยถึง เช่น พระอาบน้ำให้แม่ ประแป้งให้แม่ ป้อนข้าวแม่ อุ้มแม่ กอดแม่ ในกระบวนการเลี้ยงแม่ คนส่วนหนึ่งพากันชื่นชม

กรณีอย่างนี้ มีพระวินัยบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ห้ามภิกษุจับต้องตัวสตรีแม้เพิ่งเกิดในวันนั้น และแม้แต่มารดาของตนก็ไม่มียกเว้น

กรณีเช่นนี้แหละที่ต้องถือพระวินัยเป็นหลัก ไม่ใช่อ้างว่าสังคมเขาชื่นชม เพราะฉะนั้นทำได้ ไม่ผิด 

และเมื่อเป็นพุทธอาณา ไม่ว่าจะวางโทษหนักเบาอย่างไร ผู้หนักในพระวินัยย่อมสำรวมระวังทั้งสิ้น ตามหลักที่ว่า “อนุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี = มีปกติเห็นโทษแม้เล็กน้อยว่าเป็นสิ่งน่ากลัว” 

ไม่ใช่อ้างว่า ความผิดก็แค่อาบัติทุกฏ (อาบัติ-ทุก-กด) ไม่ร้ายแรงอะไร

……………………………..

ราชสีห์เมื่อล่าเหยื่อ ไม่ว่าจะใหญ่โตเท่าช้างหรือกระจ้อยร่อยเท่าหนู ย่อมใช้พละกำลังเต็มที่เท่ากันหมด ฉันใด

ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักเมื่อรักษาพุทธอาณา ไม่ว่าจะโทษหนักหรือโทษเบาเพียงไร ย่อมใช้ความสำรวมระวังเต็มที่เท่ากันหมด ฉันนั้น

……………………………..

สิกขาบทที่ห้ามพระรับเงินก็เกิดมาจากเสียงตำหนิของชาวบ้านนั่นเอง

ใครที่ตำหนิพระรับเงิน อย่าตำหนิอย่างเดียว ควรศึกษาให้รู้ต้นสายปลายเหตุด้วย

ต้นเรื่องสรุปความได้ว่า พระอุปนันทศากยบุตรเป็นพระใกล้ชิดของสกุลหนึ่ง ได้รับนิมนต์ให้รับภัตตาหารในสกุลนั้นเป็นประจำ 

กรณีได้รับนิมนต์เช่นนี้แหละที่พระวินัยอนุญาตให้ไม่ต้องบิณฑบาต 

ปกติพระออกบิณฑบาตก็คืออุ้มบาตรเดินไปตามบ้านต่างๆ เข้าบ้านนั้นออกบ้านนี้จนได้อาหารพอแก่ความต้องการ 

แต่กรณีที่ได้รับนิมนต์ ท่านอนุญาตให้ไม่ต้องทำอย่างนั้น คือไม่ต้องอุ้มบาตรเข้าบ้านนั้นออกบ้านนี้ แต่ให้ตรงไปยังบ้านที่นิมนต์ได้เลย คือไปฉันที่บ้านที่นิมนต์นั้นได้เลย 

บางกรณีทางบ้านที่นิมนต์จะส่งคนมาขอรับบาตรไปใส่อาหารแล้วนำกลับมาถวาย แบบนี้ก็มี แล้วแต่จะตกลงกัน

ไม่ต้องบิณฑบาต-หมายความแบบนี้ – ไม่ใช่ทุกมื้อซื้อฉัน

วันหนึ่งเด็กในบ้านที่นิมนต์-ซึ่งเขาเตรียมอาหารสำหรับถวายพระเป็นประจำอยู่แล้ว-ร้องกิน เขาจึงเอาอาหารที่เตรียมไว้ถวายพระให้เด็กกินไปก่อน แล้วเตรียมเงินไว้สำหรับจะไปจ่ายอาหารมาถวายพระ 

ครั้นพระมาถึงบ้าน จึงนมัสการถามว่า ท่านต้องการจะฉันอะไร โยมจะไปซื้อมาถวาย 

พระจึงว่า ถ้าได้เตรียมเงินสำหรับจะไปจ่ายอาหารไว้แล้ว ก็ถวายเงินนั้นเลยก็แล้วกัน 

เจ้าภาพไม่เต็มใจที่จะทำเช่นนั้น แต่เมื่อเป็นความประสงค์ของพระ เขาก็จำใจต้องถวาย 

ถวายเงินนั้นแล้วก็ตำหนิ สำนวนตำหนิในคัมภีร์ท่านว่าไว้ดังนี้ –

……………………………..

…  อุชฺฌายติ  ขียติ  วิปาเจติ  

ยเถว  มยํ  รูปิยํ  ปฏิคฺคณฺหาม  

เอวเมวิเม  สมณา  สกฺยปุตฺติยา  รูปิยํ  ปฏิคฺคณฺหนฺติ. 

เจ้าของบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า 

พระสมณะเชื้อสายพระศากบุตรเหล่านี้

รับรูปิยะเหมือนพวกเรา 

ที่มา: มหาวิภังค์ ภาค ๒ วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๑๐๕

……………………………..

ผมอยากให้พวกเราช่วยกันเรียนรู้และจดจำสำนวน “เหมือนพวกเรา” กันไว้สักสำนวนหนึ่ง ภาษาบาลีท่านว่า –

ยเถว  มยํ … เอวเมวิเม … (ยะเถวะ มะยัง … เอวะเมวิเม) 

แปลว่า – พวกเรา-อย่างไร … พระพวกนี้ก็-อย่างนั้น 

สรุปว่า “พระทำอย่างนี้ก็เหมือนพวกเราชาวบ้าน”

ในพระวินัยปิฎกจะพบสำนวน “ยเถว  มยํ … เอวเมวิเม …” หลายแห่ง เช่น –

ยเถว  มยํ  สปฺปชาปติกา  อาหิณฺฑาม  เอวเมวิเม  …

พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้เที่ยวไปกับพวกภิกษุณี เหมือนพวกเรากับภรรยาเดินเที่ยวกัน

(มหาวิภังค์ ภาค ๒ วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๔๕๑)

ยเถว  มยํ  สปฺปชาปติกา  เอกนาวาย  กีฬาม  เอวเมวิเม  …

พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ชักชวนกันเล่นเรือลำเดียวกับพวกภิกษุณี เหมือนพวกเราพร้อมด้วยภรรยาเล่นเรือลำเดียวกัน

(มหาวิภังค์ ภาค ๒ วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๔๕๖)

ยเถว  มยํ  คายาม  เอวเมวิเม  …

พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้สวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับเหมือนพวกเราร้องเพลง

(จุลวรรค ภาค ๒ วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๒๐)

ถ้ายกพฤติการณ์ตามพระไตรปิฎกออก แล้วเอาพฤติการณ์ในปัจจุบันเข้าไปใส่แทน ก็จะมองเห็นภาพ “พระทำอย่างนี้ก็เหมือนพวกเราชาวบ้าน” ได้เป็นร้อยๆ เรื่อง 

………………….

มองในแง่ดี ชาวบ้านตำหนิ ไม่ได้แปลว่าเขาเกลียดชังพระ 

แต่แปลว่า เขาอยากเห็นพระทำสิ่งที่ดีกว่าที่ชาวบ้านทำ นั่นคือชาวบ้านมีความคาดหวังสูง และมีความหวังดีอย่างยิ่ง 

ผู้ที่เข้ามาบวชในพระศาสนา เมื่อว่าตามหลักของการมีสมณเพศเกิดขึ้นพระศาสนา ย่อมถือว่าเป็นบุคคลที่เป็นความหวังของชาวบ้าน เป็นตัวอย่าง เป็นแรงบันดาลใจ ที่จะช่วยให้ชาวบ้านมีอุตสาหะที่จะเข้ามาบวชในพระศาสนาสืบทอดต่อๆ กันไปอีกไม่ขาดสาย

การพยายามทำในสิ่งที่ชาวบ้านคาดหวังจึงเป็นหน้าที่อันสำคัญยิ่งของพระภิกษุสามเณร 

และสิ่งที่ชาวบ้านคาดหวังให้พระภิกษุสามเณรทำก็ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัย ตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยอย่างยิ่ง เพราะพระธรรมวินัยคืออุปกรณ์เครื่องช่วยฝึกปุถุชนให้ก้าวข้ามขึ้นไปสู่ความเป็นอารยชน 

เสียงตำหนิของชาวบ้านจึงเป็นเสียงแห่งความปรารถนาดี ไม่ใช่มุ่งทำลาย 

จึงควรช่วยกันแปรเสียงตำหนิให้เป็นกำลังใจ

สำหรับผู้ที่ไม่เคยคิดจะทำหรือยังทำไม่ได้ จะได้มีธรรมฉันทะที่จะก้าวออกจากที่เดิมมุ่งไปข้างหน้า 

สำหรับผู้ที่กำลังก้าวเดินไป จะได้มีอุตสาหะพากเพียรบากบั่นก้าวไปข้างหน้าให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น 

ถ้าท่านพยายาม ชาวบ้านก็พร้อมที่จะเป็นกำลังใจและกำลังอื่นๆ ทุกกำลัง 

แต่ถ้าท่านไม่ฟัง 

พระศาสนาพังจะโทษใคร? 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๕:๕๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *