บทความชุด :
ถ้าจะรักษาพระศาสนา
จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์
-๗-
วิธีศึกษาพระธรรมวินัย
———————–
ต้องตั้งหลักกันที่พระคัมภีร์ก่อน
การเริ่มต้นที่พระคัมภีร์ไม่ได้แปลว่าติดคัมภีร์ หรือที่มีผู้เรียกว่า “นักคัมภีร์”
คำนี้มีนัยเหยียดๆ เหมือนกับจะว่าเป็นพวกคิดอะไรเองไม่เป็น เอะอะก็อ้างคัมภีร์ท่าเดียว กอดคัมภีร์แจ
เหตุที่ต้องไปตั้งหลักที่พระคัมภีร์ก็เพราะพระคัมภีร์ซึ่งหมายถึงพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานชั้นต้นเดิม ที่ภาษาวิชาการเรียกว่า หลักฐานชั้นปฐมภูมิ (Primary sources) ที่สืบทอดมาถึงมือเราในเวลานี้ เหนือไปกว่านี้ก็ไม่มีอีกแล้ว
แปลว่าพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาเถรวาทของเราไปตัดสินสิ้นสุดหรือชนเพดานอยู่ที่พระไตรปิฎก
เราจึงต้องไปตั้งต้นกันที่นั่น
ต่อจากพระไตรปิฎกก็สืบสายลงมาถึงอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ตลอดสายของพระคัมภีร์
เราก็ศึกษาให้ตลอดสาย อย่างที่ท่านพูดว่า-พระบาลีว่าอย่างนี้ อรรถกถาว่าอย่างไร ฎีกา-อนุฎีกาว่าอย่างไร
ต่อจากนั้นลงมาอีกจึงศึกษาว่าเรื่องนั้นๆ โบราณาจารย์ บูรพาจารย์ท่านว่าอย่างไร จนถึงอาจารย์สุดท้ายปลายแถวท่านว่าอย่างไร
จากนั้นจึงมาถึงตัวเรา-เราเห็นอย่างไร เข้าใจอย่างไร
ลำดับการศึกษาต้องเป็นดังที่ว่ามานี้
จะเห็นได้ว่า การศึกษาตามลำดับเช่นนี้ไม่ใช่เป็นเผด็จการทางวิชาการที่ห้ามคิดนอกตำรา
จะคิดนอกตำราก็คิดได้ แต่ต้องศึกษาให้เข้าใจชัดเจนก่อนว่าตำราท่านว่าไว้อย่างไร ดังที่กล่าวมาแล้วว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อวานนี้หรือเมื่อปีที่แล้ว โดยการคิดค้นของอาจารย์ท่านไหนหรือสำนักไหน
พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า และหลักฐานชั้นต้นสุดบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ไม่ใช่มาจับตอนเอาที่คำอธิบายของอาจารย์ปลายแถว
พระไตรปิฎกหรือคัมภีร์ว่าอย่างไร ศึกษาให้ตรงตามนั้นก่อนเป็นข้อมูลเบื้องต้น
ต่อจากนั้นตัวเราว่าอย่างไร เห็นด้วยกับพระไตรปิฎกหรือเห็นแย้งเห็นต่าง ก็ว่าไปได้เต็มที่
จะไม่เชื่อพระสูตรไหน
จะบอกว่าพระสูตรไหนไม่ใช่พระพุทธพจน์
จะเชื่อตอนนี้ แต่ไม่เชื่อตอนโน้น
จะบอกว่าพระไตรปิฎกเล่มนั้นเล่มนี้เชื่อไม่ได้
หรือแม้แต่จะปฏิเสธพระไตรปิฎกทั้งหมด
ก็ทำได้เต็มที่
ไม่มีใครบังคับให้ต้องเชื่อหรือไม่ต้องเชื่อ
ขอแต่เพียงให้มีความซื่อตรง
ไม่เชื่อ ไม่นับถือ ก็ไม่ควรเข้ามาอยู่ในพระศาสนานี้
จะเข้ามาอยู่ในพระศาสนาด้วย
แล้วก็ประกาศคัดค้านคำสอนไปด้วย
อย่างนี้ไม่ใช่วิถีแห่งอารยชน
เราจะบอกว่าคัมภีร์ผิด ความเห็นของเราถูก ก็ว่าได้ แต่จะบอกว่าความเห็นของเรานี่แหละคือคำสอนของพระพุทธเจ้า คือคำสอนในพระพุทธศาสนา อย่างนี้ไม่ได้
เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือคำสอนในพระพุทธศาสนาตามหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎก
ถ้าแน่ใจว่าความเห็นของเราถูก ก็บอกไปตามตรงว่านี่เป็นความเห็นของเรา
แต่การเอาความเห็นของเราไปใส่พระโอษฐ์พระพุทธเจ้า หรือเอาไปแทนที่พระไตรปิฎก แบบนั้นไม่ใช่การกระทำที่ถูกต้อง
ที่ผิดพลาดในเวลานี้ก็คือ-ส่วนมากไปเริ่มต้นที่คำสอนของครูบาอาจารย์ก่อน คือฟังจากครูบาอาจารย์ก่อนแล้วก็เชื่อว่านั่นคือคำสอนที่ถูกต้อง
พระไตรปิฎก พระบาลี อรรถกถา ฎีกาว่าอย่างไร ไม่รู้ ไม่รับรู้ ไม่สน รับรู้อย่างเดียวว่าอาจารย์ฉันสอนอย่างนี้ ฉันพอใจอย่างนี้
แต่ที่หนักมากก็คือ-ฉันขอยืนยันว่าคำสอนของอาจารย์ฉันนี่แหละคือคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า
นั่นก็คือเอาคำสอนของอาจารย์ไปแทนที่พระไตรปิฎก
ถ้าคำสอนนั้นไม่ตรงกับคัมภีร์ ก็พยายามตีความให้ตรงให้จงได้
เวลานี้ก้าวหน้าไปถึงขั้นที่ว่า ถ้าคำสอนนั้นไม่ตรงกับคัมภีร์ก็บอกว่าคัมภีร์อาจจะตกหล่น หรือคลาดเคลื่อน เพราคัดลอกสืบต่อกันมาหลายทอด โอกาสที่จะผิดเพี้ยนย่อมมีได้เสมอ แต่คำสอนของอาจารย์ฉันถูกต้องแน่นอน ไม่ผิดเพี้ยน
………………..
และที่บางอาจารย์บางสำนักนิยมยกขึ้นมาอ้างกันอยู่ในเวลานี้อีกแนวหนึ่งก็คือ-สำนวน “ใบไม้ในกำมือกับใบไม้ในป่า”
สำนวนนี้มาจากพระสูตรนี้ – พึงสดับ
………………………
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สีสปาวัน กรุงโกสัมพี ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคทรงถือใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบด้วยพระหัตถ์ แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบที่เราถือในมือกับใบที่บนต้น ไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบที่พระผู้มีพระภาคทรงถือในพระหัตถ์มีประมาณน้อย ที่บนต้นมากกว่าพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อย่างนั้นแหละภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้แล้วมิได้บอกเธอทั้งหลายมีมาก ก็เพราะเหตุไรเราจึงไม่บอก? เพราะสิ่งนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้นเราจึงไม่บอก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งอะไรเราได้บอกแล้ว? เราได้บอกแล้วว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับแห่งทุกข์ นี้ทางปฏิบัติดำเนินเพื่อความดับแห่งทุกข์ ก็เพราะเหตุไรเราจึงบอก? เพราะสิ่งนั้นประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะฉะนั้นเราจึงบอก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับแห่งทุกข์ นี้ทางปฏิบัติดำเนินเพื่อความดับแห่งทุกข์
ที่มา: สีสปาสูตร สังยุตนิกาย มหาวารวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ ข้อ ๑๗๑๒-๑๗๑๓
………………………
พระสูตรนี้แหละที่เอาไปพูดกันสั้นๆ ว่า “ใบไม้ในกำมือกับใบไม้ในป่า” ความมุ่งหมายที่ยกขึ้นมาพูดก็เพื่อจะบอกว่า คำสอนของข้าพเจ้าหรือคำสอนของอาจารย์ข้าพเจ้าแม้จะไม่มีหรือไม่ตรงกับพระไตรปิฎก ก็ไม่ควรจะมาบอกว่าเป็นคำสอนที่ผิด เพราะนี่เป็น “ใบไม้ในป่า” คือเป็นคำสอนส่วนที่พระพุทธเจ้าไม่ได้นำมาตรัสสอน แต่ข้าพเจ้าและอาจารย์ของข้าพเจ้ากำลังนำมาสอนเพื่อให้คำสอนของพระพุทธเจ้าสมบูรณ์ขึ้น
จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ชอบอ้างทฤษฎี “ใบไม้ในกำมือกับใบไม้ในป่า” อ่านพระสูตรนี้ไม่ตลอด หรือไม่ก็จงใจแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า ที่พระองค์ไม่ทรงนำ “ใบไม้ในป่า” มาตรัสสอนก็เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์
“ใบไม้ในป่า” เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ไม่นำมาตรัสสอน
ไม่นำมาตรัสสอน เพราะไม่มีประโยชน์
นั่นก็คือ “ใบไม้ในป่า” เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์
แต่นักเผยแผ่ศาสนายุคใหม่พยายามจะเอา “ใบไม้ในป่า” มาสอนอีก
จะให้เข้าใจว่ากระไร
เราทั้งหลายที่เข้ามาอยู่พระศาสนาของพระพุทธเจ้าจึงควรเข้าใจ และเมื่อเห็นใครเอา “ใบไม้ในป่า” มาสอนก็ควรที่จะช่วยกันรู้ทัน
ใบไม้ในมือรู้จบครบถ้วน แม้ไม่รู้ใบไม้ในป่า ก็ไม่เสียหายอะไร
รู้ใบไม้ในป่า แต่ไม่รู้ใบไม้ในมือ นี่ต่างหากที่เสียหาย
ยิ่งถ้าทิ้งใบไม้ในมือ กลับไปถือใบไม้ในป่า ยิ่งเสียหายหนัก
ใครอยากจะศึกษาใบไม้ในป่า ก็เอา ถือว่าเป็นเครื่องประดับความรู้ แต่ใบไม้ในมือต้องรู้ให้จบครบถ้วนด้วย จึงจะนับว่าเป็นกำลังที่มีคุณภาพของพระศาสนา
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔
๑๓:๓๙