บาลีวันละคำ

ศิลป (บาลีวันละคำ 226)

ศิลป

คำนี้ภาษาบาลีเป็น “สิปฺป” (สิบ-ปะ) สันสกฤตเป็น “ศิลฺป” เราใช้ในภาษาไทยตามรูปสันสกฤต

“ศิลป” ในภาษาไทยมักใช้ในความหมายว่า การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่าง ๆ โดยทางเสียง เส้น สี ผิว รูปทรง เป็นต้น เช่น วรรณศิลป์, วิจิตรศิลป์, ศิลปะการดนตรี, ศิลปะการละคร

“สิปฺป” (ศิลฺป) ในภาษาบาลีมีความหมายว่า “ความสามารถแสดงออกให้เป็นผลสำเร็จได้” คือสามารถที่จะทำอะไรได้สักอย่างหนึ่ง” หรือ “ทำได้ทำเป็น” ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น เอาใบไม้มาเป่าให้เป็นเพลงได้, ทำกับข้าวเป็น, เล่นหมากรุกเก่ง ไปจนถึงเรื่องสำคัญๆ เช่น รักษาโรคได้ รบทัพจับศึกได้ รวมเรียกว่า “สิปฺป-ศิลป” ทั้งสิ้น

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การรู้วิชาเป็นภาคทฤษฎี การเอาวิชาไปปฏิบัติจนเป็นผลสำเร็จ เป็น “สิปฺป-ศิลป”

ฝรั่งแปล “สิปฺป” คำหนึ่งว่า art

พจน.สอ เสถบุตร แปล art ว่า วุฒิสามารถ, เล่ห์กระเทห์, อุบาย

“ศิลฺป”เวลาเขียนในภาษาไทยมีหลักว่า –

– อยู่ท้ายคำ ต้องการให้อ่านว่า สิน-ละ-ปะ เขียนว่า “ศิลปะ”(ประวิสรรชนีย์ที่ ป)

– อยู่ท้ายคำ ต้องการให้อ่านว่า สิน เขียนว่า “ศิลป์” (การันต์ที่ ป)

– มีคำอื่นมาต่อท้ายเป็นศัพท์เดียวกัน อ่านว่า สิน-ละ-ปะ-เช่น ศิลปศาสตร์ (สิน-ละ-ปะ-สาด) ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ และไม่ต้องการันต์ที่ ป

ถาม : ต้องการให้อ่านว่า “สิน” แต่เขียนว่า “ศิลป”(ไม่ประวิสรรชนีย์และไม่การันต์ที่ ป)เรียกว่าอะไร ?

ตอบ : เรียกว่า ไม่มีศิลปะในการเขียน

บาลีวันละคำ (226)

21-12-55

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย