สาธารณ (บาลีวันละคำ 225)
สาธารณ
อ่านว่า สา-ทา-ระ-นะ
ใช้ในภาษาไทย เขียนและอ่านเหมือนบาลี
“สาธารณ” แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้ร่วมกัน” แปลเอาความว่า ธรรมดา, สามัญ, ร่วมกัน, ทั่วไป
ในภาษาไทย ปรกติใช้ในความหมายเดียวกับบาลี เว้นแต่ที่เขียนเป็น “สาธารณ์” อ่านว่า สา-ทาน ใช้ในความหมายว่า ตํ่า, เลว; ชั่วช้า เช่นในคำกลอนว่า –
“ดังกากาจชาติช้าสาธารณ์
จะประมาณหมายหงส์พงศ์พระยา”
(อิเหนา)
ในคัมภีร์ท่านแสดงสิ่งที่เป็น “สาธารณะ” (คือไม่ให้ยึดถือว่าเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง) ไว้ 6 อย่าง คือ –
1. นที (นะ-ที) = แม่น้ำ, ท่าน้ำ (ใครๆ ก็ลงได้ อาบได้)
2. ปนฺถ (ปัน-ถะ) = ทางเดิน (ใครๆ ก็เดินได้ ที่เราเรียกว่า “ทางสาธารณะ”)
3. ปานาคาร = (ปา-นา-คา-ระ) ร้านเหล้า (ใครๆ ที่มีสิทธิ์ดื่ม ก็เข้าไปดื่มได้)
4. สภา = ศาลาพักร้อน (ใครๆ ก็เข้าไปพักได้)
5. ปปา = ตุ่มน้ำดื่มที่ตั้งไว้เป็นทาน (ใครๆ ก็ดื่มได้)
6. อิตฺถี (อิด-ถี) = สตรี (อย่ายึดมั่นว่าจะต้องเป็นของเราคนเดียว)
คำเตือน : ในภาษาไทย “สาธารณ” ถ้ามีคำอื่นมาต่อเป็นศัพท์เดียวกัน ไม่ต้องใส่สระ อะ (= ไม่ประวิสรรชนีย์กลางคำ) เช่น
– สาธารณสุข ไม่ใช่ สาธารณะสุข
– สาธารณประโยชน์ ไม่ใช่ สาธารณะประโยชน์
: ภาษา ไม่ใช่ 1 ใน 6 ของสิ่งที่เป็นสาธารณะ
: เพราะฉะนั้น เขียนผิดในที่สาธารณะ – ไม่ดี
บาลีวันละคำ (225)
19-12-55