บาลีวันละคำ

สมุทย (บาลีวันละคำ 244)

สมุทย

อ่านว่า สะ-มุ-ทะ-ยะ

ภาษาไทยใช้ว่า “สมุทัย” พจน.42 ให้อ่านว่า สะ-หฺมุ-ไท, สะ-หฺมุด-ไท

สมุทย” ประกอบด้วย สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน) + อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น) + อย (ธาตุ = ไป)

กระบวนการทางไวยากรณ์ คือ “สํ” แปลงนิคหิตเป็น “” = “สม” + อุ = สมุ + อย = สมุย ลง “” อาคมระหว่าง มุ = สมุทย

โปรดสังเกตว่า ในคำว่า “สมุทย” ไม่มีคำว่า “สม” คือไม่ใช่ สม + อุทย

สม” ที่เกิดจาก “สํ” แปลงนิคหิตเป็น “” เป็นคนละคำและคนละความหมายกับ “สม” ที่เป็นศัพท์ตรงๆ

และ “สม” ที่เป็นศัพท์ตรงๆ ก็ไม่ได้แปลว่า เสมอๆ บ่อยๆ เนืองๆ แต่แปลว่า เท่าๆ กัน, เหมือนๆ กัน, พอดีๆ, ราบเรียบ

สมุทย” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งผล” ความหมายทางธรรมคือ “ตัณหา” อันเป็นเหตุเกิดแห่ง “ปัญหา” หรือทุกข์ เรียกเต็มคำว่า “ทุกขสมุทัย” เป็นข้อหนึ่งในอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

สมุทยสมุทัย” ยังมีความหมายอื่นอีก (ขอยกคำที่ฝรั่งแปลมากำกับไว้ด้วย เนื่องจากหลายท่านอ่านคำฝรั่งแล้วเข้าใจความหมายได้ชัดเจนกว่าที่แปลเป็นไทย) ดังนี้

1. การเกิดขึ้น, สมุฏฐาน rise, origin

2. การพวยพุ่ง, การส่องแสง bursting forth, effulgence

3. ผลิตผล, รายได้ produce, revenue

: คำเดียวกัน มีความหมายทั้งดีและเสีย จึงต้องเลือกใช้ให้ถูก

: คนเดียวกัน มีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย จึงต้องเลือกมองให้เป็น

บาลีวันละคำ (244)

8-1-56

สมุทย ๑ = สมุทัย, สาเหตุ, เหตุเกิด (ศัพท์วิเคราะห์)

– ปจฺจยนฺตรสมวาเย สติ ผลมุทยติ เอเตนาติ สมุทโย สิ่งเป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งผล

สํ + อุ บทหน้า อย ธาตุ ในความหมายว่าไป, เป็นไป อ ปัจจัย ท อาคม

– สมุเทติ เอตสฺมาติ สมุทโย ธรรมเป็นแดนเกิด (เหมือน วิ.ต้น)

สมุทย, สมุทาย ๒ = หมู่ กอง คณะ การสะสม ฯลฯ

– สห อวยเวน อุทยตีติ สมุทโย หมู่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับส่วนย่อย (เหมือน วิ.ต้น)

สมุทย (บาลี-อังกฤษ)

(สํ + อุทย)

1. การเกิดขึ้น, สมุฏฐาน rise, origin (ยกคำ ทุกฺขสมุทย และอ้างวิสุทธิมรรคว่าอธิบายเป็น สํ + อุ + อย)

2. การพวยพุ่ง, การส่องแสง bursting forth, effulgence

3. ผลิตผล, รายได้ produce, revenue

สมุทย ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

การตั้งขึ้น, การเกิดขึ้น, เหตุให้เกิด.

สมุทัย (ประมวลศัพท์)

เหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา คือความทะยานอยาก เช่น อยากได้นั่นได้นี่ อยากเป็นโน่นเป็นนี่ อยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ (ข้อ ๒ ในอริยสัจจ์ ๔); ดู ตัณหา

อริยสัจ (ประมวลศัพท์)

ความจริงอย่างประเสริฐ, ความจริงของพระอริยะ, ความจริงที่ทำคนให้เป็นพระอริยะ มี ๔ อย่าง คือ

ทุกข์ (หรือ ทุกขสัจจะ) ทุกขอริยสัจ

สมุทัย (หรือ สมุทัยสัจจะ) ทุกขสมุทัยอริยสัจ

นิโรธ (หรือ นิโรธสัจจะ) ทุกขนิโรธอริยสัจ

มรรค (หรือ มัคคสัจจะ) ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

ตัณหา (ประมวลศัพท์)

ความทะยานอยาก, ความร่านรน, ความปรารถนา, ความอยากเสพ อยากได้ อยากเอาเพื่อตัว, ความแส่หา, มี ๓ คือ

๑. กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม อยากได้อารมณ์อันน่าใคร่

๒. ภวตัณหา ความทะยานอยากในภพ อยากเป็นนั่นเป็นนี่

๓. วิภวตัณหา ความทะยานอยากในวิภพ อยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ อยากพรากพ้นดับสูญไปเสีย;

ตัณหา ๑๐๘ ตามนัยอย่างง่าย = ตัณหา ๓ x อารมณ์ ๖ x ๒ (ภายใน+ภายนอก) x กาล ๓; ดู ปปัญจะ, มานะ; เทียบ ฉันทะ 2.

กิเลส ๑,๕๐๐ (กิเลสพันห้า) เป็นคำที่มีใช้ในคัมภีร์รุ่นหลังจากพระไตรปิฎก เริ่มปรากฏในชั้นอรรถกถา ซึ่งกล่าวไว้ทำนองเป็นตัวอย่าง โดยระบุชื่อไว้มากที่สุดเพียง ๓๓๖ อย่าง ต่อมาในคัมภีร์ชั้นหลังมาก อย่างธัมมสังคณีอนุฎีกา จึงแสดงวิธีนับแบบต่างๆ ให้ได้ครบจำนวน เช่น กิเลส ๑๐ x อารมณ์ ๑๕๐ = ๑,๕๐๐ (อารมณ์ ๑๕๐ ได้แก่ อรูปธรรม ๕๗ และรูปรูป ๑๘ รวมเป็น ธรรม ๗๕ เป็นฝ่ายภายใน และฝ่ายภายนอก ฝ่ายละเท่ากัน รวมเป็น ๑๕๐)

สมุทัย

 [สะหฺมุไท, สะหฺมุดไท] น. ต้นเหตุ, ที่เกิด, ในคำว่า ทุกขสมุทัย หมายถึง ต้นเหตุหรือที่เกิดแห่งทุกข์. (ป., ส.).

สม ๑

ว. เหมาะ, เหมาะกับ, ควรแก่, เช่น บ่าวสาวคู่นี้สมกัน เขาแต่งตัวสมฐานะ แสดงละครได้สมบทบาท เขาต่อสู้กันอย่างสมศักดิ์ศรี เด็กคนนี้แต่งตัวไม่สมวัย, รับกัน เช่น หัวแหวนสมกับเรือนแหวน; ตรงกับ เช่น สมคะเน สมปรารถนา สมความตั้งใจ. (ปาก) สมน้ำหน้า เช่น สมแล้วที่สอบตก เพราะขี้เกียจนัก.

สม ๒

ใช้ประกอบกับคำกริยาบางคำมีความหมายว่า ร่วมด้วยกัน รวมกัน เช่น สมคิด สมรู้.

สม- ๓

 [สะมะ-, สมมะ-, สม-] ว. เท่ากัน, เสมอกัน.

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย