สหัสนัยน์ – สหัสนัย (บาลีวันละคำ 3,746)
สหัสนัยน์ – สหัสนัย
คำพ้องเสียง แต่ไม่พ้องรูป ไม่พ้องความ
อ่านว่า สะ-หัด-สะ-ไน ทั้ง 2 คำ
ประกอบด้วยคำว่า “สหัส” “นัยน์” และ “นัย”
(๑) “สหัส”
บาลีเป็น “สหสฺส” อ่านว่า สะ-หัด-สะ แปลว่า “พัน” (จำนวน 1,000 = หนึ่งพัน) (a thousand)
ภาษาไทยใช้เป็น “สหัส-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “สหัสสะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สหัส-, สหัสสะ : (คำวิเศษณ์) หนึ่งพัน คือ ๑๐ ร้อย (๑,๐๐๐). (ป.; ส. สหสฺร).”
(๒) “นัยน์”
บาลีเป็น “นยน” อ่านว่า นะ-ยะ-ยะ รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = นำไป) + ยุ ปัจจัย, แผลง อี ที่ นี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (นี > เน > นย), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: นี > เน > นย + ยุ > อน = นยน แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่นำบุคคลที่ตนอาศัยไป” หมายถึง ดวงตา, นัยน์ตา (the eye)
บาลี “นยน” ภาษาไทยใช้เป็น “นัยน์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นัยน์ : (คำนาม) ดวงตา. (ป., ส. นยน).”
(๓) “นัย”
บาลีเป็น “นย” อ่านว่า นะ-ยะ รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = นำไป, รู้) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อี ที่ นี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย
: นี > เน > นย + อ = นย แปลตามศัพท์ว่า (1) “การเป็นไป” (2) “อุบายเป็นเครื่องแนะนำ” (3) “วิธีที่พึงแนะนำ” (4) “วิธีเป็นเหตุให้รู้” หมายถึง หนทาง, วิธีการ, แผน, วิธี (way, method, plan, manner)
“นย” ในภาษาไทยใช้ว่า “นัย” (ไน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) เค้าความที่ส่อให้เข้าใจเอาเอง
(2) ข้อสําคัญ เช่น นัยแห่งเรื่องนี้
(3) ความ, ความหมาย, เช่น หลายนัย
(4) แนว, ทาง, เช่น ตีความได้หลายนัย
(5) แง่ เช่น อีกนัยหนึ่ง
การประสมคำ :
๑ สหสฺส + นยน = สหสฺสนยน (สะ-หัด-สะ-นะ-ยะ-นะ) แปลว่า “ผู้มีดวงตาหนึ่งพัน”
“สหสฺสนยน” ภาษาไทยใช้เป็น “สหัสนัยน์” (สะ-หัด-สะ-ไน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “สหัสนัยน์” และ “สหัสเนตร” บอกไว้ว่า –
“สหัสนัยน์, สหัสเนตร : (คำนาม) พันตา หมายถึง พระอินทร์. (ป. สหสฺสเนตฺต, สหสฺสนยน; ส. สหสฺรเนตฺร, สหสฺรนยน).”
๒ สหสฺส + นย = สหสฺสนย (สะ-หัด-สะ-นะ-ยะ) แปลว่า “ถ้อยคำที่มีนัยหนึ่งพัน”
“สหสฺสนย” ภาษาไทยใช้เป็น “สหัสนัย” (สะ-หัด-สะ-ไน)
ขยายความ :
“สหัสนัย” เป็นคำเรียกวิธีสวดแบบหนึ่งในงานศพเช่นเดียวกับที่สวดพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ ข้อความที่สวดก็นำมาจากพระอภิธรรมปิฎกเช่นเดียวกัน แต่เป็นข้อความคนละตอนกัน
เท่าที่ตรวจสอบดูพบว่า ข้อความที่สวดสหัสนัยนำมาจากคัมภีร์ธัมมสังคณีซึ่งเป็นคัมภีร์แรกในพระอภิธรรมปิฎก
สวดสหัสนัยไม่เหมือนสวดมนต์ธรรมดา มีการเอื้อนเสียงและมีท่วงทำนองอย่างที่เรียกว่า “สวดกระทุ้ง” คือลงเสียงหนักที่คำบางคำ ใกล้ไปทางกระโชกหรือคะนองเล็กน้อย ผู้ฟังไม่ถือว่าเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพหรือเสียหาย เพราะตั้งอารมณ์ว่าเป็นการสวดด้วยกุศลจิตอย่างที่พูดว่า “สวดเป็นเพื่อนศพ” พอบรรเทาความเศร้าโศกของญาติผู้ตาย
คำว่า “สหัสนัย” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
“สหัสนัยน์” กับ “สหัสนัย” อ่านเหมือนกันว่า สะ-หัด-สะ-ไน แต่เขียนต่างกันเล็กน้อย ความหมายคนละอย่างกัน
“สหัสนัยน์” หมายถึง พระอินทร์ เป็นคำที่คนส่วนมากคุ้นกันดี ส่วน “สหัสนัย” นั้น คนไทยสมัยก่อนก็พอจะรู้กันทั่วไปว่าหมายถึงการสวดแบบหนึ่ง แต่คนไทยสมัยใหม่ส่วนมากน่าจะไม่รู้จักแล้ว
ถ้าเรียกเป็นชุดว่า “สวด” การสวดในงานศพที่นิยมสวดตอนกลางคืนจะมีที่เป็นหลักอยู่ 4 แบบ คือ “สวดพระอภิธรรม” “สวดสังคหะ” “สวดพระมาลัย” และ “สวดสหัสนัย”
การสวดเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง น่าที่จะศึกษาให้เข้าใจความมุ่งหมาย และอนุรักษ์สืบทอดเป็นมรดกของชาติไทยสืบไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ตั้งจิตให้เป็นกุศล
: คือการตั้งต้นแห่งปัญญา
————————–
(ฉลองศรัทธาของ ศุภวัชร นาคพิทักษ์)
#บาลีวันละคำ (3,746)
14-9-65
…………………………….
…………………………….