บาลีวันละคำ

พิเรนทร์ (บาลีวันละคำ 243)

พิเรนทร์

1. รากศัพท์

“พิเรนทร์” (พิ-เรน) คำบาลีประกอบด้วย วีร (วี-ระ, กล้า) + อินฺท (อิน-ทะ, ผู้เป็นใหญ่)

ลดเสียง อี (ที่ วี) เป็น อิ = วิร

แปลง อิ (ที่ อินฺ) เป็น เอ = เอนฺท

จึง = วิร + เอนฺท = วิเรนฺท

แปลง ว เป็น พ = พิเรนฺท

“อินฺท” สันสกฤตเป็น “อินฺทฺร” เขียนแบบสันสกฤต = พิเรนฺทฺร (พิ-เรน-ทฺระ)

เขียนแบบไทยใส่การันต์ที่ ร (ทำให้ ทฺร ไม่ออกเสียง) = พิเรนทร์” (พิ-เรน) แปลว่า “จอมคนผู้กล้า” หรือ “หัวหน้าของนักรบ”

2. วัดพระพิเรนทร์

วัดพระพิเรนทร์ที่ถนนวรจักร กรุงเทพฯ สร้างสมัยอยุธยา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) โปรดเกล้าฯ ให้ “พระพิเรนทรเทพ” (-พิ-เรน-ทฺระ-เทบ) เจ้ากรมพระตำรวจหลวง มาบูรณปฏิสังขรณ์ในราวปี พ.ศ. 2379 จึงได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระพิเรนทร์” ตามชื่อบรรดาศักดิ์ของผู้บูรณปฏิสังขรณ์

3. ที่มาของสำนวน “พิเรนทร์” ในภาษาไทย

เมื่อไทยเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2436 (ร.5) “พระพิเรนทรเทพ” พระตำรวจหลวงผู้หนึ่ง ออกความคิดฝึกหัดคนให้ดำน้ำเพื่อไปเจาะเรือรบฝรั่งเศสให้จม แต่วิธีฝึกออกจะทารุณ คือใครโผล่ขึ้นมาเร็วเกินไป ก็ใช้ไม้ถ่อค้ำคอไว้ไม่ให้โผล่ จนมีคนตายเพราะการกระทำแบบนั้น ชาวบ้านจึงพากันเรียกการกระทำของพระพิเรนทร์ฯ ว่า “เล่นอย่างพิเรนทร์” จนเป็นคำพูดติดปากกันต่อมา เมื่อมีใครทำสิ่งใดแผลงๆ อุตรินอกลู่นอกทางในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือไม่ควรกระทำ จึงเรียกกันว่า “เล่นพิเรนทร์” หรือเป็น “คนพิเรนทร์”

อย่าสับสน –

1. วัดพระพิเรนทร์ สร้างก่อนที่จะเกิดสำนวน “เล่นพิเรนทร์”

2. ผู้สร้างวัดกับผู้เป็นต้นเหตุสำนวน ชื่อเดียวกัน แต่เป็นคนละคน คนละสมัยกัน

: การได้เป็นต้นเหตุของเรื่อง บางทีก็ดูดี

แต่จะเป็นเหตุที่ดีหรือไม่ดี ควรเลือกให้ดีๆ

บาลีวันละคำ (243)

7-1-56

พิเรนทร์

 [พิเรน] ว. อุตรินอกลู่นอกทาง เช่น เล่นพิเรนทร์ คนพิเรนทร์.

การบ้าน

Zamar Sib Oon กราบเรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ

 1. ใคร่อยากทราบคำว่า “พิเรนทร์” หมายถึง…..และที่มาของคำ( รากศัพท์ของคำ กับความหมายในภาษาไทย ทำไมไกลกันเหลือเกิน)

 2. “วัดพระพิเรนทร์” แถววรจักร เราจะใช้ความหมายไหน….

กราบขอบพระคุณขอรับ

6-1-55

พิเรนทร์

          คำว่า พิเรนทร์ เป็นคำหนึ่งที่มักมีผู้สับสนไม่แน่ใจว่าจะเขียนว่า พิเรน หรือ พิเรนทร์ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒  ให้ความหมายคำว่า พิเรนทร์ ไว้ว่า “ว. อุตรินอกลู่นอกทาง เช่น เล่นพิเรนทร์ คนพิเรนทร์.” จากการให้ความหมายคำว่า “พิเรนทร์” ในพจนานุกรมฯ คำว่า “พิเรนทร์” ทำหน้าที่เป็นคำวิเศษณ์ขยายคำกริยาและคำนาม  คำว่า เล่นพิเรนทร์ หมายถึง เล่นอุตรินอกลู่นอกทาง และ คนพิเรนทร์ หมายถึง คนอุตรินอกลู่นอกทาง และแม้ว่าจะเขียนคำว่า “พิเรนทร์” ได้ถูกต้องและทราบความหมาย แต่ก็มีผู้ใช้ภาษาจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบที่มาของคำว่า “พิเรนทร์” ว่ามีที่มาอย่างไร   คำว่า พิเรนทร์ มีที่มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในกฎหมายตราสามดวง พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง ด้วยปรากฏราชทินนามระบุไว้ว่า “หลวงพิเรนณเทพบดีศรีสมุหะ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา ตราคนถือหวายมือขวา นา ๒๐๐๐” ส่วนคำว่า เล่นพิเรนทร์ มีเรื่องเล่าที่มาของการใช้คำดังกล่าวปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง ปกิณณกะในรัชกาลที่ ๕ โดยนายแพทย์นวรัต  ไกรฤกษ์  ให้ความหมายและที่มาของคำว่า พิเรนทร์ จากคำบอกเล่าของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ  ไกรฤกษ์) ผู้เป็นบิดา ว่า เมื่อไทยเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสใน ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) นั้น มีพลเมืองที่นิยมทางไสยศาสตร์เกี่ยวกับการอยู่ยงคงกระพันล่องหนหายตัวได้ คิดอาสาสมัครออกรบกับฝรั่งเศส มีพระตำรวจหลวงผู้หนึ่งราชทินนามว่า พระพิเรนทรเทพ ออกความคิดจะจัดตั้งและฝึกหัดหน่วยจู่โจมพิเศษ โดยให้ดำน้ำไปเจาะเรือรบฝรั่งเศสให้จม พระพิเรนทร์ฯ ได้จัดการฝึกหัดบ่าวไพร่และผู้อื่นที่อาสาสมัครในคลองหน้าบ้านของท่านทุกวัน เพื่อให้เกิดความชำนาญและดำน้ำได้ทนเป็นพิเศษ แต่บางคนดำน้ำได้ไม่นานก็โผล่ขึ้นมา พระพิเรนทร์ฯ ต้องใช้ไม้ถ่อค้ำคอไว้ไม่ให้โผล่ขึ้นมาเร็วเกินไปจนเกิดมีการตายขึ้นจากการกระทำดังนั้น ความคิดที่จะจัดตั้งหน่วยจู่โจมพิเศษจึงต้องล้มเลิกไป พวกชาวบ้านจึงพากันเรียกการกระทำของพระพิเรนทร์ฯ ว่า “เล่นอย่างพิเรนทร์” ซึ่งเป็นคำพูดติดปากกันต่อมา เมื่อมีใครทำสิ่งใดแผลง ๆ อุตรินอกลู่นอกทางในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือไม่ควรกระทำ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ “เล่นพิเรนทร์” หรือเป็น “คนพิเรนทร์”.

  สุปัญญา  ชมจินดา

http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=2383

เคยมีผู้ตั้งกระทู้ใน PANTIP.COM เกี่ยวกับวัดพระพิเรนทร์ โดยผู้ตั้งกระทู้ถามอยู่ที่ความเห็นที่ 23 เพ็ญชมพู เป็นผู้ตอบอยู่ในความคิดเห็นที่ 24 กระทู้นี้เริ่มต้นด้วยชื่อคน คือคุณพระพิเรนทรเทพ ตำรวจหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งต่อมาคำนี้กลายเป็นศัพท์ภาษาไทยในความหมายที่ไม่ค่อยดี อยากจะถามคุณเพ็ญชมพูดูสักหน่อยว่า วัดพระพิเรนทร์นี่ คุณพระพิเรนทร์ท่านเป็นคนสร้างหรือเปล่า ตอนสมัยเด็กๆ พอได้ยินชื่อวัดพระพิเรนทร์ คอยจะคิดไปว่าพระวัดนี้ท่านมีอะไรพิเรนทร์หรือเปล่า ถึงได้ตั้งชื่อวัดว่าวัดพระพิเรนทร์

เพ็ญชมพู ตอบว่า วัดที่พระพิเรนทรเทพสร้างมีอยู่ 2 แห่ง คือ วัดพระพิเรนทร์ ถนนวรจักร และ วัดใหม่พิเรนทร์ โพธิ์สามต้น แต่เป็นคนละคนกับพระพิเรนทรเทพ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคำว่า “เล่นพิเรนทร์”

หประวัติวัดพระพิเรนทร์

วัดพระพิเรนทร์ ตั้งอยู่เลขที่ 326 ถนนวรจักร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีตอนปลาย ราวปี พ.ศ. 2300

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ราวปี พ.ศ. 2379 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระพิเรนทรเทพ (ขำ อินทรกำแหง ณ ราชสีมา) เจ้ากรมพระตำรวจหลวง บุตรชายเจ้าพระนครราชสีมา (ทองอินทร์ อินทรกำแหง ณ ราชสีมา) ให้มาบูรณปฏิสังขรณ์วัด เจ้าศรัทธาจึงตั้งนามวัดว่า “วัดขำเขมการาม”

ครั้นถึงปี พ.ศ. 2411 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงแปลงนามวัดให้ใหม่ว่า “วัดขำโคราช” ใช้มาถึงปี พ.ศ. 2430 จึงได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระพิเรนทร์” ตามชื่อบรรดาศักดิ์ของเจ้าศรัทธา ผู้บูรณปฏิสังขรณ์

ข้อมูลคลาดเคลื่อนใน web

พระพิเรนทรเทพ (ขำ อินทรกำแหง ณ ราชสีมา)

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 3 ราว พ.ศ. 2379 ทรงโปรดให้ พระพิเรนทรเทพ ( ชำ ณ ราชสีมา ) เจ้ากรมพระตำรวจหลวง บุตรชายเจ้าพระนครราชสีมา ( ทองอินทร์ ณ ราชสีมา ) ให้มาบูรณปฏิสังขรณ์วัด เจ้าศรัทธาจึงตั้งนามวัดว่า “วัดขำเขมการาม”

            ครั้นถึง พ.ศ. 2411 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงแปลงนามวัดให้ใหม่ว่า “วัดขำโคราข” ใช้มาถึง พ.ศ. 2430 จึงได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระพิเรนทร์” ตามชื่อบรรดาศักดิ์ของเจ้าศรัทธา ผู้บูรณปฏิสังขรณ์ http://www.paisarn.com/phrapirane.htm#a2

เทียบกับเรื่องคำพ้อง http://www.maceducation.com/e-knowledge/2421105100/11.htm

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย