บาลีวันละคำ

ทายก – ทายิกา (บาลีวันละคำ 268)

ทายก – ทายิกา

อ่านว่า ทา-ยะ-กะ / ทา-ยิ-กา

ภาษาไทยเขียนเหมือนกัน อ่านว่า ทา-ยก / ทา-ยิ-กา

ทายก-ทายิกา” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ให้” กระบวนการทางไวยากรณ์คือ –

(1) “ทา” ธาตุ ในความหมายว่า “ให้” แปลง “อา” เป็น “อาย” (อา-ยะ) = ทาย

(2) ทาย + ณฺวุ (นะ-วุ เป็นปัจจัย = “ผู้-”) แปลง ณฺวุ เป็น “อก” (อะ-กะ)

(3) จึง = ทาย + อก = ทายก แปลว่า “(ชาย) ผู้ให้

ถ้าเพศหญิง ลง “อา” (เครื่องหมายอิตถีลิงค์) และ “อิ” อาคมหน้า “อา” = “อิ-า” จึง = ทายก + อิ-า = ทายิกา แปลว่า “(หญิง) ผู้ให้

ผู้ให้” มี ๒ ระดับ คือ –

๑. ให้เพราะเงื่อนไขบังคับ เช่น หน้าตาฐานะทางสังคม, ให้ตามหน้าที่, “จะไม่ให้ก็ดูกระไรอยู่” อย่างนี้เรียกว่า “ทายก

๒. ให้อย่างอิสระ คือ ให้เพราะอยากให้, “ไม่มีเงื่อนไข แต่หัวใจบัญชา” อย่างนี้เรียกว่า “ทานบดี” (ทา-นะ-บอ-ดี) แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่ในการให้

: บางคนเป็นทั้งทายกและเป็นทานบดี

: แต่บางคนเป็นได้แค่ทายก

บาลีวันละคำ (268)

1-2-56

ทายก

  [-ยก] น. ผู้ถวายจตุปัจจัยแก่ภิกษุสามเณร, ถ้าเป็นเพศหญิงเรียกว่า ทายิกา. (ป., ส.).

“ทานบดี” ต่างกับ “ทายก” (ผู้ให้) ระหว่าง ทายก กับ ทานบดี, “ทายก” คือผู้ให้ เป็นคำกลางๆ แม้จะให้ของของผู้อื่นตามคำสั่งของเขา โดยไม่มีอำนาจหรือมีความเป็นใหญ่ในของนั้น ก็เป็นทายก (จึงไม่แน่ว่าจะปราศจากความหวงแหนหรือมีใจสละจริงแท้หรือไม่) ส่วน “ทานบดี” คือผู้ให้ที่เป็นเจ้าของหรือมีอำนาจในของที่จะให้ จึงเป็นใหญ่ในทานนั้น (ตามปกติต้องไม่หวงหรือมีใจสละจริง จึงให้ได้) ในแง่ที่ ๑ นี้ จึงพูดจำแนกว่า บางคนเป็นทั้งทายกและเป็นทานบดี บางคนเป็นทายกแต่ไม่เป็นทานบดี; (ประมวลศัพท์)

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย