บาลีวันละคำ

เม (บาลีวันละคำ 3,158)

เม

คำสั้น แต่น่ารู้ยาว

เม” เป็นคำบาลีที่แจกวิภัตติสำเร็จรูปแล้ว รูปศัพท์เดิมคือ “อมฺห” อ่านว่า อำ-หะ หรือจะออกเสียงเป็น อำ-หฺมะ ก็ได้ เป็นคำนามชนิดปุริสสรรพนาม (ปุ-ริ-สะ-สับ-พะ-นาม) แทนตัวผู้พูด ไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “อุตตมบุรุษ” (อุด-ตะ-มะ-) นักเรียนบาลีเรียกติดปากว่า “อมฺห ศัพท์” แปลเป็นไทยว่า ข้าพเจ้า ฉัน กู ข้า เป็นต้น เทียบคำอังกฤษคือ I (ไอ)

อมฺห” ศัพท์ เมื่อแจกด้วยวิภัตตินามก็จะเปลี่ยนรูปไปตามวิภัตตินั้นๆ ที่เปลี่ยนรูปเป็น “เม” มี 3 วิภัตติ เป็นเอกพจน์ทั้ง 3 วิภัตติ คือ – (ดูภาพประกอบ)

– วิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) แปลว่า ด้วยฉัน โดยฉัน อันฉัน ตามฉัน เพราะฉัน มีฉัน

– วิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) แปลว่า แก่ฉัน เพื่อฉัน ต่อฉัน

– วิภัตตินามที่หก (ฉัฏฐีวิภัตติ) แปลว่า แห่งฉัน ของฉัน เมื่อฉัน

พึงสังเกตว่า คำแปลของ “เม” นั้น ใกล้เคียงกับ my หรือบางความหมายก็ me ในภาษาอังกฤษ

เม my me เสียงใกล้กัน นี่เป็นลักษณะหนึ่งของภาษาในตระกูล Indo-European

อมฺห” ศัพท์ เป็นได้ 2 ลิงค์ คือ ปุงลิงค์ และอิตถีลิงค์ แจกรูปเหมือนกันทั้งสองลิงค์

หลักที่ต้องรู้เกี่ยวกับ “เม:

(1) หลักทั่วไป: ภาษาบาลีต้องเขียนแยกเป็นคำๆ แบบเดียวกับภาษาอังกฤษ เมื่อ “เม” ไปอยู่ในข้อความใดๆ จึงต้องเขียนแยกจากคำอื่น ไม่ใช่เขียนติดกัน เช่น

– ภวนฺตุ เม (จงมีแก่ข้าพเจ้า)

ไม่ใช่ – ภวนฺตุเม

– ขมถ เม ภนฺเต (จงอดโทษแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิดเจ้าข้า)

ไม่ใช่ – ขมถเม ภนฺเต

– นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ (ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี)

ไม่ใช่ – นตฺถิเม สรณํ อญฺญํ

– โสตฺถิ เม โหตุ สพฺพทา (ขอความสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ)

ไม่ใช่ – โสตฺถิเม โหตุ สพฺพทา

(2) หลักเฉพาะ: คำว่า “เม” เมื่อเอาไปเรียงเข้าประโยคเป็นข้อความ จะไม่อยู่เป็นลำดับที่ 1 ของคำในประโยค กล่าวอีกนัยหนึ่ง จะต้องมีคำอื่นอยู่ข้างหน้า “เม” เสมอ

นอกจาก “เม” แล้ว ยังมีคำที่เป็นปุริสสรรพนามอีก 3 คำ ที่ห้ามอยู่เป็นลำดับที่ 1 คือ เต, โว, โน นักเรียนบาลีท่องจำเป็นคำคะนองว่า “เต, เม, โว, โน เป็นนักเลงโตไม่ได้” คือนำหน้าคำอื่นไม่ได้

แถม :

ภาษาเป็นวัฒนธรรมชนิดหนึ่ง ลักษณะของวัฒนธรรมก็คือ มีระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา ที่เรียบร้อยดีงาม

“บาลี” เป็นภาษาที่มีกฎเกณฑ์กติกาที่ชัดเจนแน่นอน หน้าที่ของผู้นำคำบาลีไปใช้อ้างอิง ไม่ว่าจะด้วยวิธีพูดหรือเขียน ก็คือต้องเรียนรู้กติกา และปฏิบัติตามกติกา

ไม่ใช่อ้างว่า ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ แล้วสมมุติกติกาเอาเองตามใจชอบ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ปลาเป็นเท่านั้นที่ว่ายทวนน้ำได้

: คนที่เคารพกติกาเท่านั้นที่สมควรขึ้นสู่ที่สูง

#บาลีวันละคำ (3,158)

3-2-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย